เงินทุนหนึ่งในทรัพยากรหลักที่ต้องบริหารให้เกิดประโยชน์อยู่เสมอ เพราะการปล่อยเงินทุนให้อยู่นิ่งๆ ในบัญชี ไม่ต่างอะไรกับการซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือมาเก็บไว้เฉยๆ โดยไม่เอาออกมาใช้งาน หรือเสมือนกับการจ้างพนักงานมาทั้งที่กิจการยังไม่เริ่มออกตัว
ทำไม ต้องจัดการเงินของกิจการ
กิจการส่วนใหญ่ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา เช่น ร้านอาหารที่แม้มีรายได้จากการขายอาหารทุกวัน แต่ต้องสำรองเงินไว้เป็นค่าวัตถุดิบทุกเช้า ค่าสาธารณูปโภคและเงินเดือนพนักงานที่ต้องจ่ายทุกเดือน เงินที่ต้องตกแต่ง ซ่อมบำรุง หรือซื้ออุปกรณ์ทดแทนของเดิมที่เสื่อมสภาพลง ฯลฯ รวมถึงรองรับสถานการณ์นอกเหนือความคาดหมาย เช่น ซ่อมแซมร้านจากน้ำท่วม จ่ายเงินเดือนพนักงานในช่วงร้านต้องปิดชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 ฯลฯ ซึ่งหากจัดการเงินทุนให้ดี สอดคล้องกับระยะเวลาที่ต้องใช้จ่าย จะช่วยลดต้นทุนการเสียโอกาสจากการปล่อยเงินทุนนอนนิ่งๆ อยู่ในบัญชี เสมือนกับปล่อยพนักงานนั่งเล่นเฉยๆ ที่ร้าน โดยไม่ทำงาน
กิจการใหญ่ๆ จัดการเงินทุนอย่างไร
กิจการขนาดใหญ่ที่มีทีมงานดูแลด้านการเงินมักไม่ปล่อยให้เงินทุนของกิจการอยู่เฉยๆ แต่จะจัดสรรไว้ในทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนและมีเงื่อนไขการถือครองสอดคล้องกับแผนการใช้เงินของกิจการ ซี่งหากลองสังเกตการจัดสรรเงินทุนระยะสั้นและเงินทุนระยะยาวของกิจการที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่หลายคนรู้จักกัน จากงบการเงินสิ้นปี 2564 จะเห็นได้เลยว่าเงินส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่แต่เงินฝากออมทรัพย์ ที่ตอนนี้ดอกเบี้ยสำหรับเจ้าของบัญชีที่เป็นนิติบุคคลอยู่ที่เพียง 0.05%ต่อปี เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ของบุคคลทั่วไปถึง 5 เท่าเลย ตัวอย่างเช่น
●บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีธุรกิจหลักเป็นร้านอาหารสุกี้ MK ที่หลายคนเคยรับประทาน มีการสำรองเงินไว้ในกิจการเทียบเท่ากับการใช้จ่ายของกิจการประมาณ 9 เดือน แบ่งเป็น เงินสดและเงินฝากออมทรัพย์ เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 0.53 เดือน เท่านั้น โดยดูได้จากงบแสดงฐานะการเงินรวม สำหรับปีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 64 ในส่วนของ “เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด” เพื่อไว้ใช้หมุนเวียนในกิจการนอกเหนือไปจากรายรับที่มีเข้ามาทุกวัน ส่วนเงินทุนที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ในช่วงสั้นๆ ก็นำไปพักไว้ในเงินฝากประจำในจำนวนเทียบเท่าค่าใช้จ่าย 0.75 เดือน และในตราสารหนี้ที่แม้มีเงื่อนไขการถือครองแต่ก็ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในจำนวนที่เทียบเท่าค่าใช้จ่ายเกือบ 8 เดือน โดยดูได้จากงบแสดงฐานะการเงินรวมเช่นเดียวกัน แต่อยู่ในส่วนของ “สินทรัพย์ทางการเงินไม่หมุนเวียนอื่น” และหมายเหตุประกอบงบการเงินที่ระบุยอด “เงินฝากประจำ” และ “เงินลงทุนในตราสารหนี้”
● บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจร้านขนมหวานฮิตชื่อว่า After You ที่หลายคนน่าจะเคยได้เป็นลูกค้ากันมาแล้ว มีการสำรองเงินไว้ในกิจการเทียบเท่ากับการใช้จ่ายของกิจการประมาณ 5 เดือน แบ่งเป็น เงินสดและเงินฝากออมทรัพย์ เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 3.16 เดือน โดยดูได้จากงบแสดงฐานะการเงินรวม สำหรับปีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 64 ในส่วนของ “เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด” และเงินทุนที่เหลือที่เตรียมไว้ใช้หมุนเวียนในกิจการมีการพักไว้ในกองทุนตราสารหนี้ที่มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากธนาคาร ในจำนวนเทียบเท่าค่าใช้จ่าย 2.06 เดือน โดยดูได้จากงบแสดงฐานะการเงินรวมเช่นเดียวกัน แต่อยู่ในส่วนของ “สินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่น” และหมายเหตุประกอบงบการเงินที่ระบุยอด “เงินฝากประจำ 12 เดือน” และ “หน่วยลงทุน-กองทุนเปิดตราสารหนี้”
พักเงินแต่ละทางเลือก ต่างกันอย่างไร
จากตัวอย่างทางเลือกพักเงินของกิจการต่างๆ มีทั้ง เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ ที่หลายคนคุ้นชินกันอยู่แล้ว รวมถึงกองทุนตราสารหนี้ และพันธบัตร/หุ้นกู้ ซึ่งอาจมีลักษณะและเงื่อนไขการถือครองต่างจากเงินฝาก แต่ก็มักให้ผลตอบแทนที่มากกว่า เช่น
*อ้างอิงผลตอบแทนจาก: (1) ประกาศดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารกสิกรไทย สำหรับลูกค้านิติบุคคล เริ่มใช้ 6 ส.ค. 65 (2) ประมาณการผลตอบแทนของกองทุน Term Fund 6 เดือน KGB6MI เสนอขาย 9-19 ก.ย. 65 (3) ตัวอย่างผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี ของกองทุนตราสารหนี้ของ KAsset ณ 9 ก.ย. 65 (4) ดอกเบี้ยของหุ้นกู้อายุ 3 ปี ของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) เสนอขาย 8,9,12 ก.ย. 65
** สมมติฐาน: (1) อัตราภาษีนิติบุคคล 20% (2) กำไรส่วนเกินทุนของกองทุนตราสารหนี้ ไม่เสียภาษีนิติบุคคล
เลือกพักเงินทางไหน คุ้มค่าที่สุด
ผลตอบแทนกับเงื่อนไขการพักเงิน เป็นสิ่งที่มาคู่กัน อีกทั้งรายได้หรือกำไรของกิจการมาจากการดำเนินธุรกิจเป็นหลัก ทางเลือกพักเงินที่เหมาะสมเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่จะลดต้นทุนการเสียโอกาสจากเงินของกิจการที่ยังไม่ต้องรีบดึงออกมาใช้จ่ายเวลานี้ ซึ่งวิธีการเลือกตัวช่วยพักเงินที่ดีที่สุด คือ เลือกจากระยะเวลาการพักเงิน ซึ่งเงินทุนแต่ละก้อนไม่จำเป็นต้องมีเวลาพักเงินหรือทางเลือกพักเงินที่เหมือนกัน อย่างเช่นบริษัทที่ยกตัวอย่างมาก็มีการพักเงินในหลากหลายทางเลือก เนื่องจากมีความต้องการใช้เงินในแต่ละช่วงเวลาที่ต่างกัน โดยแต่ละทางเลือกที่เหมาะสมกับกับระยะเวลาพักเงิน มีดังนี้
I: มีกำหนดเวลาใช้เงินที่แน่นอน มั่นใจว่าไม่ต้องใช้ก่อนเวลา
● พักเงินระยะสั้น 6 เดือน – 1 ปี อาจเลือก “กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดอายุโครงการ” หรือรู้จักกันในชื่อ “Term Fund” ที่มีอายุโครงการสอดคล้องกับระยะเวลาใช้เงิน เช่น Term Fund 6 เดือน ฯลฯ ข้อดีคือมีประมาณการผลตอบแทนให้รู้ล่วงหน้า แต่ข้อเสียคือไม่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ หากยังไม่ครบอายุกองทุน
● พักเงินระยะยาว 2-3 ปีขึ้นไป อาจเลือกพักเงินใน “หุ้นกู้” ของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ อันดับความน่าเชื่อถือสูง และมีอายุหุ้นกู้ที่สอดคล้องกับระยะเวลาใช้เงิน เช่น หุ้นกู้อายุ 3 ปี เหมาะกับการพักเงินที่มั่นใจว่าไม่ใช้เงินในช่วง 3 ปี ข้อดีคือผลตอบแทนสูงและมีกำหนดไว้ชัดเจน แต่ข้อเสียคือไม่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ หากยังไม่ครบอายุหุ้นกู้
II: กังวลว่าอาจต้องใช้เงินก่อนเวลาที่ตั้งใจ
ทางเลือกการพักเงินที่เหมาะสม ขึ้นกับความกังวล ความรีบร้อน หรือความเป็นไปได้ ที่อาจจำเป็นต้องใช้เงินทุนแต่ละก้อน ดังนี้
● จำเป็นต้องใช้เงินทันทีหรือภายใน 24 ชั่วโมงอยู่เสมอ ควรเลือกพักเงินใน “เงินฝากออมทรัพย์” ข้อดีคือถอนโอนจ่ายได้ทันที แต่ข้อเสียคือผลตอบแทนต่ำที่สุดในทุกทางเลือกที่กล่าวมา
● ตั้งใจพักเงิน 3 เดือน – 3 ปี แต่อยากให้พร้อมถอนได้ทุกวันที่สาขาธนาคาร อาจเลือก “เงินฝากประจำ” ที่มีระยะเวลาการฝากสอดคล้องกับระยะเวลาใช้เงิน เช่น เงินฝากประจำ 6 เดือน ข้อดีคือรู้ดอกเบี้ยที่จะได้รับแน่นอนหากฝากครบกำหนด และหากจำเป็นสามารถถอนเงินออกได้ทุกวันโดยอาจไม่ได้ดอกเบี้ยหรือได้น้อยลง แต่ข้อเสียคือผลตอบแทนต่ำ เมื่อเทียบกับ Term Fund และหุ้นกู้ ที่มีระยะเวลาพักเงินเท่ากัน
● มีกำหนดเวลาใช้เงิน แต่ไม่อยากเสียโอกาสรับผลตอบแทน หากต้องใช้เงินก่อนเวลาที่ตั้งใจ สามารถเลือกพักเงินใน “กองทุนตราสารหนี้ทั่วไป” ข้อดีคือสามารถพักเงินเพิ่มและขายคืนได้ทุกวันทำการ รอรับเงิน 1-2 วันทำการ มีทางเลือกหลากหลายสำหรับระยะเวลาพักเงินที่ต่างกัน ข้อเสียคือผลตอบแทนไม่แน่นอน และมูลค่ากองทุนมีการขึ้นลงได้ทุกวัน เช่น
o กองทุน K-CASH เหมาะกับระยะเวลาการพักเงิน 1 สัปดาห์ขึ้นไป
o กองทุน K-SF เหมาะกับระยะเวลาการพักเงิน 3 เดือนขึ้นไป
o กองทุน K-CBOND เหมาะกับระยะเวลาการพักเงิน 1 ปีขึ้นไป
o กองทุน K-FIXED เหมาะกับระยะเวลาการพักเงิน 1ปีครึ่งขึ้นไป
ทางเลือกพักเงิน สิ่งเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะแม้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจะไม่ใช่รายได้หลักของกิจการ แต่ก็ทำให้ต้นทุนการเสียโอกาสลดลงไปไม่น้อย เสมือนการไม่ปล่อยให้พนักงานที่จ้างมาว่างงานจนเกินไป สำหรับใครที่ยังไม่มั่นใจว่าจะพักเงินในทางเลือกไหนดี แนะนำเงินฝากประจำ 3 เดือน หรือกองทุน K-SF ก่อน เพราะนอกจากเป็นทางเลือกพักเงินระยะสั้นๆ ที่มีความคล่องตัวสูงแล้ว ยังช่วยให้พร้อมเปลี่ยนทางเลือกพักเงินได้หากอนาคตดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนกองทุนตราสารหนี้มีการเพิ่มขึ้น จากทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนแปลง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”