"
• Maximum Drawdown หรือ MDD คือ เปอร์เซ็นต์การขาดทุนสูงสุดของกองทุนรวมในช่วง 5 ปีย้อนหลัง โดยวัดจากระดับราคาสูงสุด จนถึงต่ำสุดว่าปรับตัวลงมากี่เปอร์เซ็นต์
• การเลือกกองทุนประหยัดภาษี ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน นอกจากการดูผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนในช่วงที่ผ่านมา ยังสามารถใช้ MDD ประเมินความเสี่ยงขาลงของกองทุนได้อีกด้วย
• ข้อจำกัดของกองทุนที่เปิดมาไม่นาน อาจยังไม่เคยผ่านช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์หนักๆ นักลงทุนจึงอาจเห็น MDD ที่น้อย และเข้าใจผิดได้ว่า กองทุนนั้นทำผลงานได้ดี
"
ในสถานการณ์ที่หลายสินทรัพย์การลงทุนปรับตัวลง จากปัจจัยกดดันมากมายในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเศรษฐกิจถดถอย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน การคงนโยบายล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ทั้งสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ อย่างกองทุนตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างกองทุนหุ้นล้วนปรับตัวลง ไม่มากก็น้อย ทำให้หลายคนที่อยากลงทุน SSF RMF เพื่อลดหย่อนภาษี ไม่รู้จะเลือกกองทุน SSF RMF เหล่านี้อย่างไร แล้วยังต้องซื้อภายในสิ้นปีนี้ด้วย นั่นทำให้ Maximum Drawdown กลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญในสถานการณ์แบบนี้
Maximum Drawdown คืออะไร
Maximum Drawdown หรือ MDD คือ เปอร์เซ็นต์การขาดทุนสูงสุดของกองทุนรวมในช่วง 5 ปีย้อนหลัง โดยวัดจากระดับราคาสูงสุด จนถึงต่ำสุดว่าปรับตัวลงมากี่เปอร์เซ็นต์ นอกจากจะสามารถดูได้แล้วว่ากองทุนนี้เคยทำผลงานขาดทุนสูงสุดที่เท่าใด ยังสามารถใช้คัดกรอง และประเมินความเสี่ยงของกองทุนกับตัวเราได้ด้วย เช่น ถ้ากองทุนนี้มี Maximum Drawdown -30% เราสามารถรับความเสี่ยงการขาดทุนระดับนี้ได้หรือไม่ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคต กรณีนักลงทุนรับการขาดทุนระดับนี้ไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาไปลงทุนกองทุนตัวอื่นแทน เป็นต้น
Maximum Drawdown ช่วยประเมินสถานการณ์กองทุนช่วงที่แย่
MDD ยังสามารถใช้ประเมินสถานการณ์ของกองทุน ในช่วงตลาดการลงทุนแย่ได้ ว่ากองทุนน่าจะปรับตัวลงไปลึกได้ขนาดไหน เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่แย่คราวก่อน เช่น ช่วง COVID-19 ระบาดหนัก กองทุนนี้เคยปรับตัวลงรุนแรง มี MDD -30% รอบนี้ หากเกิดสถานการณ์ที่กระทบต่อตลาดหุ้นรุนแรง เช่น สมมติว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นค่อยๆปรับตัวลงมา ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่ากองทุนนี้น่าจะติดลบสูงสุดอยู่ที่ประมาณ -30% ถ้ากลยุทธ์การลงทุนของเราเป็นแบบจับจังหวะลงทุน ก็สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าว เพื่อทยอยสะสม SSF RMF ได้ หรือใช้กลยุทธ์การ switching จากกองหนึ่งไปอีกกองหนึ่งได้โดยปราศจากค่าธรรมเนียม
ลงทุนกองทุนSSF RMF อย่างไรดี
ถ้าเน้นใช้สิทธิอย่างเดียว ไม่ได้เน้นผลตอบแทนจากการลงทุนเพราะไม่อยากเสี่ยง แค่ต้องการกองทุนไปลดหย่อนภาษี แนะนำลงทุนกองทุน SSF RMF เสี่ยงต่ำ ซึ่ง MDD น้อย แต่ถ้าอยากได้ผลตอบแทนพอเป็นน้ำเป็นเนื้อด้วยในระยะยาว แนะนำลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ อาจเป็นกองทุนผสมความเสี่ยงปานกลาง หรือกองทุนหุ้น หรือสินทรัพย์ทางเลือกความเสี่ยงสูง ซึ่งนอกจากต้องดูผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนรวม ที่แม้ช่วงนี้อาจทำผลการดำเนินงานได้ไม่ดีมากนัก แต่สิ่งสำคัญที่ช่วยคัดกรองกองทุนในสภาวะแบบนี้ได้คือ MDD จึงควรนำกองทุนประเภทเดียวกันมาเปรียบเทียบ MDD ว่ากองทุนรวมใดขาดทุนน้อยที่สุด ก่อนการลงทุน
ถ้ารับความเสี่ยงได้แต่ต้องการจำกัดความเสี่ยงขาลง การเลือกกองทุนเช่นกองทุนผสม กองทุนหุ้น หรือกองทุนประเภทอื่นที่มีความเสี่ยงสูง ก็ควรเลือกกองทุนที่มี MDD น้อย เมื่อเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกัน เพราะในช่วงตลาดการลงทุนที่มีความผันผวน การเลือกกองทุนที่มี MDD น้อย สามารถช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลง หรือ Downside risk ได้ เมื่อเทียบกับกองทุนที่มี MDD มาก ที่มีโอกาสปรับตัวลงสูง โดยสามารถใช้เทคนิคเหล่านี้ในการเลือกกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง SSF RMF ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ด้วยเช่นกัน
จากการสำรวจข้อมูล Maximum Drawdown ของกองทุน RMF ที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป พบว่ามีกองทุนของบลจ.กสิกรไทยติดอันดับ 1 ใน 5 กองทุนที่ MDD น้อยที่สุดในแต่ละกลุ่ม เมื่อเทียบกับกองทุนบลจ.อื่นๆดังนี้
ข้อมูล ณ วันที่ 13 กันยายน 2565 : Finnomena
จากการสำรวจข้อมูล MDD ของกองทุน SSF ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป พบว่ามีกองทุนของบลจ.กสิกรไทยติดอันดับ 1 ใน 15 กองทุนที่ MDD น้อยที่สุดในแต่ละกลุ่ม เมื่อเทียบกับกองทุนบลจ.อื่นๆดังนี้
ข้อมูล ณ วันที่ 28 กันยายน 2565 : Finnomena
ข้อควรระวังการใช้ Maximum Drawdown
1. MDD เป็นข้อมูลที่บอกผลการดำเนินงานติดลบสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากเกิดสถานการณ์ใหม่ที่เข้ามากระทบการลงทุน ผลการดำเนินงานของกองทุนอาจติดลบมากกว่าหรือน้อยกว่าเดิมก็ได้
2. MDD เป็นข้อมูลการขาดทุนสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านของกองทุนรวมนั้นๆ ดังนั้น กองทุนรวมที่เพิ่งเปิดมาไม่นาน และยังไม่เคยผ่านช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์หนักๆ นักลงทุนจึงอาจเห็น MDD ที่น้อย และเข้าใจผิดได้ว่า กองทุนนั้นทำผลงานได้ดี การนำข้อมูลนี้ไปใช้จึงควรต้องดูระยะเวลาจัดตั้งกองทุนมาพิจารณาด้วย
3. MDD น้อย เพราะไม่เคยผ่านสถานการณ์ที่แย่ เช่น กองทุน SSF ที่มีอายุกองทุนน้อย MDD อาจไม่ได้สะท้อนเหตุการณ์สำคัญในอดีตที่ตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงแรงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูข้อมูล MDD กองทุนคู่แฝด ที่เปิดมานานกว่า เช่น อยากดู MDD ของ K-CHANGE-SSF ,K-GINCOME-SSF ,K-FIXEDPLUS-SSF ,K-STAR-SSF ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สามารถดูข้อมูลได้จากกองทุน K-CHANGEA(A) ,K-GINCOME-A(R) , K-FIXEDPLUS-A ,K-STAR-A(R)