​​​​นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน


ธนาคารมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยตระหนักว่าการเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นความรับผิดชอบสำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ อาทิ ตัวแทน กิจการร่วมค้า (บริษัทจำกัด) ภาครัฐ และชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ดังนั้น ธนาคารจึงได้กำหนดนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น เพื่อให้สอดคล้องตามหลักกฎหมายและมาตรฐานสากลที่สำคัญ อาทิ หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ หลักการด้านมนุษยธรรมและสิทธิขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ตราสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (ซึ่งประกอบด้วยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร ​


ขอบเขต
นโยบายฉบับนี้ครอบคลุมการดำเนินงานทั้งหมดของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร รวมถึงการดำเนินงานของพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งมีหน้าที่ในการเคารพสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่ให้การปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งของประเทศไทยและระหว่างประเทศ โดยธนาคารมุ่งหวังว่าผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนี้จะยึดมั่นในหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับหลักการของตนเอง นอกจากนี้ ธนาคารยังมุ่งมั่นที่จะป้องกันและเคารพในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ เสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม ค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน และการเลือกปฏิบัติ ​


การประเมินและจัดทำระเบียนความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence)
ธนาคารกำหนดแนวทางการจัดการและกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน โดยจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน มาตรการป้องกันและมาตรการเยียวยากรณีเกิดผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน การติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน และจัดให้มีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนและกลไกจัดการข้อร้องเรียนที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการทบทวนนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเป็นประจำทุกปี โดยกระบวนการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนนี้จัดทำขึ้นเพื่อระบุและประเมินความเสี่ยงตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นที่เกี่ยวกับการเคารพสิทธิมนุษยชนในการดำเนินงานของธนาคาร ห่วงโซ่คุณค่า และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของธนาคาร รวมทั้งความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ อาทิ การควบรวมกิจการ การเข้าซื้อกิจการ และกิจการร่วมค้า โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน ได้แก่ สตรี เด็ก ชนพื้นเมือง ผู้อพยพ และผู้พิการ ซึ่งมีความเปราะบางต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ ธนาคารยังจัดให้มีการอบรมและการสื่อความเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในหลักการสิทธิมนุษยชนให้แก่พนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีแนวทางการจัดการครอบคลุมกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ดังนี้ ​


ลูกค้า
เงินกู้
ธนาคารกำหนดประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเครดิตและระบุไว้ในนโยบายเครดิตด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance – ESG) โดยธุรกรรมกู้ยืมจะต้องไม่เชื่อมโยงกับธุรกิจหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การค้ามนุษย์ หรือการหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย หรือที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคมและหลักปฏิบัติที่เกี่ยวข้องของแต่ละอุตสาหกรรม​

การลงทุน
ธนาคารนำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมาใช้ในการวิเคราะห์การลงทุน ขั้นตอนการตัดสินใจและการสร้างพอร์ตในสินทรัพย์ทุกประเภท และกำหนดไว้ในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance – ESG)​

การให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม
ธนาคารกำหนดนโยบาย ระเบียบปฏิบัติ และกรอบการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม ครอบคลุมกระบวนการก่อนการขาย ระหว่างการขาย จนถึงการบริการหลังการขายเพื่อให้ลูกค้าได้รับข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินครบถ้วน ถูกต้อง และได้รับการเสนอขายหรือให้บริการอย่างถูกต้องเป็นธรรม​

การคุ้มครองข้อมูลลูกค้า
ธนาคารจัดให้มีนโยบายการคุ้มครองข้อมูลลูกค้า ระเบียบปฏิบัติงานการบริหารจัดการข้อมูลลูกค้า ระเบียบปฏิบัติ การเข้าถึงข้อมูลลูกค้า แนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลลูกค้าต่อบุคคลและองค์กรภายนอก เพื่อให้มีการบริหารจัดการข้อมูลลูกค้าอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า​


พนักงาน
ธนาคารกำหนดเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ในจรรยาบรรณของพนักงาน โดยสนับสนุนและเคารพในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยการไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสร้างความเข้าใจแก่พนักงาน เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง รวมถึงจัดให้มีช่องทางในการแจ้งข้อมูลและข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขต่อไป นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการจัดการความหลากหลายในองค์กร โดยปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ อันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศ อายุ สัญชาติ สิทธิความเป็นพลเมือง วิถีทางเพศ หรือความพิการ ห้ามการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมาย และยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน ​


คู่ค้า
ธนาคารสนับสนุนให้คู่ค้าดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส และกระบวนการจัดซื้อจัดหาเป็นไปอย่างยั่งยืน ธนาคารได้กำหนดปัจจัยทางสังคมต่างๆ อาทิ การค้าที่เป็นธรรม สิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองแรงงาน เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกคู่ค้า และระบุไว้ในสัญญา โดยคู่ค้าจะต้องปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและด้านอื่นๆ ที่ระบุไว้ในจรรยาบรรณคู่ค้าของธนาคาร ธนาคารจัดให้มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ในกลุ่มธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้กระบวนการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร และจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ได้กำหนดให้คู่ค้าทั้งหมดต้องผ่านขั้นตอนการประเมินดังกล่าวอย่างครบถ้วน ​


พันธมิตรทางธุรกิจ ​ (ประกอบด้วยตัวแทน กิจการร่วมค้า (บริษํทจำกัด) ภาครัฐ และชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจของธนาคาร)​
ธนาคารสนับสนุนพันธมิตรทางธุรกิจให้มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับกฎหมาย หลักการ วิธีปฏิบัติ และมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน​​


ชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจของธนาคาร ​
ธนาคารยึดมั่นต่อหลักการและแนวทางด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของธนาคารจะไม่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งทางตรงและทางอ้อม


การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน

Human Rights Due Diligence Guideline

แถลงการณ์เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในเมียน​มา




ประเภท