30/11/2564

เคแบงก์ผนึก 5 โรงพยาบาลรัฐพัฒนา Digital Healthcare Platform

          ธนาคารกสิกรไทย ตอกย้ำศักยภาพด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การเป็น “Smart Hospital” กับโรงพยาบาลรัฐ 5 แห่ง พัฒนา Digital Healthcare Platform เต็มรูปแบบเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านสุขภาพให้กับ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, รพ.ชลบุรี, รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, รพ.ราชวิถี และสถาบันประสาทวิทยา มีแอปพลิเคชันเป็นตัวกลางเชื่อมต่อบริการระหว่างคนไข้และโรงพยาบาล ซึ่งพร้อมเปิดใช้แล้ว เบื้องต้นตั้งเป้ายอดดาวน์โหลดจากผู้ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐกว่า 1 ล้านราย จากจำนวนผู้ป่วยนอกรวม 4 ล้านรายในปัจจุบัน ให้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพในวิถีนิวนอร์มอลที่สะดวก รวดเร็ว ลดความเสี่ยงโควิด-19 พร้อมเตรียมร่วมกับกรุงเทพมหานคร พัฒนาแอปพลิเคชันให้กับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 11 แห่ง 

          นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เผยว่า ธนาคารกสิกรไทย มุ่งมั่นมีบทบาทต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของสังคมไทย ด้วยการนำดิจิทัลเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถอำนวยประโยชน์สูงสุดให้กับสังคมไทย โดยโรงพยาบาลเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทต่อการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยทุกคน ความร่วมมือกับโรงพยาบาลในการพัฒนา Digital Healthcare Platform จึงมุ่งเน้นการช่วยลดภาระของโรงพยาบาล และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการกับคนไข้และผู้ที่มาใช้บริการของโรงพยาบาล ที่มีผู้ใช้บริการในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก  โดยธนาคารได้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับคนไข้ด้วยระบบบริการสุขภาพดิจิทัลที่เชื่อมโยงระบบนิเวศน์การใช้บริการและการบริหารจัดการของโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับวิถีนิวนอร์มอลที่เป็นผลจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19   
          “ธนาคารได้นำความเชี่ยวชาญการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับแต่ละโรงพยาบาล โดยประกอบด้วย 3 แกนหลักที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ได้แก่ 1) การวางโครงสร้างการเชื่อมต่อข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางของโรงพยาบาล (Hospital Information System: HIS) มาแสดงที่แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์ม เพื่อให้แสดงผลได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ช่วยลดขั้นตอนและเวลาทำงาน 2) การสร้างประสบการณ์การเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล ผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้งานที่ง่าย รวดเร็ว สามารถทำได้ด้วยตนเอง ทั้งในและนอกสถานที่ของโรงพยาบาล และ 3) การเชื่อมโยงระบบชำระเงินและบริการทางเงินต่าง ๆ โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาฟีเจอร์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น  เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเป็น Smart Hospital  และตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ 4 ล้านราย ให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว และลดเสี่ยงจากโควิด-19” นางสาวขัตติยา กล่าว 
          แอปพลิเคชันที่ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมพัฒนากับโรงพยาบาลรัฐ 5 แห่ง ได้แก่ 1) แอป Chula Care โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 2) แอป CBH PLUS โรงพยาบาลชลบุรี 3) แอป TUH for All โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  4) แอป RJ Connect โรงพยาบาลราชวิถี และ 5) แอป NIT PLUS สถาบันประสาทวิทยา สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้ที่ App Store หรือ Play Store โดยมีบริการสำคัญ 7 ฟีเจอร์หลักที่ธนาคารร่วมพัฒนา* ได้แก่
  1. ​​บริการตรวจสอบสิทธิ์ - เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ผู้ป่วยเช็คสิทธิ์รักษาพยาบาล  3 กองทุน ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ   
  2. บริการนัดหมาย - ทำนัดหมาย และแสดงข้อมูลรายการนัดหมายพร้อมส่งข้อความแจ้งเตือน 
  3. บริการใบนำทาง – รู้ลำดับการเข้ารับบริการ ทั้งขั้นตอนการเข้าพบแพทย์ พยาบาล ชำระเงิน รับยา ตรวจ X-ray เจาะเลือด ตรวจแลป เป็นต้น 
  4. บริการชำระเงิน - รองรับการชำระเงินทั้งผ่านแอป K PLUS,  สแกน Thai QR Code, บัตรเครดิต, บัตรเดบิต  
  5. บริการบริจาคเงิน  - อำนวยความสะดวกให้ผู้ประสงค์ที่จะบริจาคเงินสมทบแก่โรงพยาบาล 
  6. ข้อมูลข่าวสาร – นำเสนอข้อมูลข่าวสารของโรงพยาบาล ข้อมูลด้านสุขภาพ 
  7. ข้อมูลแผนที่ – แสดงแผนที่ตั้งอาคาร คลีนิก ศูนย์อาหาร ร้านค้า ในโรงพยาบาล 

          เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันในรูปแบบ Single Appสำหรับใช้กับผู้ป่วยของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 11 แห่ง โดยแอปพลิเคชันจะพร้อมให้บริการภายในต้นปี2565 



ประเภท