12/5/2560

3 เทคนิครักษาคนเก่งไม่ให้ลาออก

​     ปัจจุบันปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจและยอดขายแล้วก็คือเรื่องคนหรือพนักงานในองค์กรนี่แหละ จนเจ้าของธุรกิจต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ตอนนี้คนแพงมากกกกก” ซึ่งคำว่าแพงในที่นี้ หมายถึง สัดส่วนของค่าตอบแทนที่มีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับต้นทุนในการบริหารจัดการและส่วนแบ่งของผู้ถือหุ้น โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา และปัญหาดูจะเริ่มรุนแรงขึ้นทุกปีนั่นก็เพราะเราไม่ได้แย่งชิงคนมีความสามารถกับบริษัทคู่แข่งอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในยุคดิจิทัลเช่นนี้ เราต้องต่อสู้กับแนวคิดการออกไปเปิดธุรกิจส่วนตัว บางคนอาจรู้สึกเสียเวลากับองค์กรใหญ่และอยากออกไปทำตามความฝันของตัวเอง ถึงแม้จะได้เงินไม่มากก็ไม่เป็นไร มาดูกันว่าจะมีวิธีรั้งคนเก่ง และมีศักยภาพให้อยู่กับองค์กรเราได้อย่างไร

1. ให้อิสระในการทำงาน ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ จริงอยู่ว่าเรื่องเงินเดือนนั้นสำคัญ แต่ต่อให้จ้างแพงแค่ไหน ถ้าระบบงานยังไม่ทำให้คนเก่งๆ รู้สึกเป็นอิสระ ไม่สามารถควบคุมจัดการหาความสมดุลในชีวิตด้านอื่นๆ ได้ แค่เงินเดือนอย่างเดียวมันยังไม่พอที่จะรั้งไว้ คนยุคนี้โหยหาความยืดหยุ่นในเรื่องวัน เวลา สถานที่ ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็มีเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้การทำงานง่ายขึ้น อย่างเช่นการทำงานผ่านระบบคลาวด์ (Cloud) ที่ช่วยให้ทำงานได้ทุกที่ หรือการใช้แอพพลิเคชันช่วยในการทำงาน ตรวจงาน อนุมัติงานได้ทุกที่ทุกเวลา แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือ สไตล์การบริหารงานของผู้นำและวัฒนธรรมองค์กร หากการเลื่อนตำแหน่งยังขึ้นอยู่กับว่านายเห็นหน้าเยอะแค่ไหนมากกว่าผลงานเป็นอย่างไร ทุกอย่างก็เกิดขึ้นไม่ได้ แน่นอนว่าเป็นความท้าทายขององค์กร บางองค์กรเริ่มได้ง่าย ในขณะที่บางองค์กรก็ทำได้ยาก เรื่องนี้ไม่เพียงแค่รักษาคนเก่งๆ เอาไว้ ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในการสูญเสียพนักงานจากความไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติและเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอื่นๆ อีกด้วย 

2. มีเส้นทางก้าวหน้าในหน้าที่การงานชัดเจน คงไม่มีใครอยากย่ำอยู่กับที่ก้มหน้าก้มตาทำงานไปวันๆ คนทำงานทุกคนล้วนอยากมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ดังนั้นการจะรักษาคนเก่งให้อยู่องค์กรได้นั้น จะต้องมีเส้นทางของความก้าวหน้าที่ชัดเจนให้พวกเขา เพื่อเป็นเป้าหมายและเป็นกำลังใจในการทุ่มเททำงานให้องค์กร นอกจากนี้คุณรู้หรือไม่ว่าโครงสร้างบุคลากรในองค์กรกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะพนักงานกลุ่ม Baby Boomer ที่ทำงานอยู่กับเราจะเริ่มมีอายุเกิน 50 ปี และมีแนวโน้มที่จะเกษียณอายุก่อนกำหนด เพื่อท่องเที่ยวในขณะที่ข้อขายังมีแรง ดังนั้นองค์กรจึงต้องเร่งมองหาคนที่ฉายแววและเตรียมพร้อมให้สามารถขึ้นมาแทนที่พนักงานวัยเก๋าได้ภายใน 1-2 ปีนี้ ผู้ประกอบการควรเฟ้นหาคนที่มีทั้งศักยภาพ และความพร้อม โดยเตรียมการพัฒนาที่หลากหลาย เช่น Job Shadowing คือการติดตามเรียนรู้การทำงานแบบพี่ไปไหนน้องไปด้วยตามเป็นเงา แต่ไม่ใช่เป็นแค่เงาอย่างเดียว ต้องให้อำนาจมอบหมายงานของซีเนียร์ให้น้องเสมือนอยู่ในตำแหน่งนั้นจริงๆ โดยมีซีเนียร์คอยให้คำแนะนำและรับผิดชอบร่วมกัน  

3. เติมความรู้เพิ่มทักษะใหม่ให้พนักงานอยู่เสมอ การทำงานมานานๆ ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ไอเดียตัน และล้าสมัยไม่ทันต่อความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การพัฒนาทักษะใหม่ให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจึงสำคัญมาก การส่งพนักงานไปอบรมเรียนรู้นอกจากพวกเขาจะนำความรู้ที่ได้มาเพิ่มประสิทธิในการทำงานให้องค์กรแล้ว ยังเป็นการช่วยให้พวกเขาเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง และเพิ่มความสนุกในการทำงาน สามารถนำความรู้ใหม่มาพลิกแพลงให้การทำงานดียิ่งขึ้น เกิดเป็นความภาคภูมิใจในตัวเอง นอกจากนี้การทำงานในปัจจุบันยังต้องอาศัยทีมทำงานที่มาจากหลากหลายหน่วยงานจะมีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นทักษะในการทำงานร่วมกันกับคนจากหน่วยงานต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก นอกจากนี้การทำงานกับคนที่มีความแตกต่าง ทั้งลักษณะงาน อายุ เชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา ดังนั้นองค์กรจำเป็นต้องเสริมทักษะที่เกี่ยวข้องให้พนักงาน เพื่อจะได้เข้าใจวิธีคิด วิธีประสานงานของแต่ละชาติว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้การทำงานราบรื่น

     ผู้ประกอบการสามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากแต่ละองค์กรก็มีวัฒนธรรมการทำงาน และโครงสร้างองค์กรที่แตกต่างกัน ดังนั้นการนำไปใช้จึงไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับนโยบายและสไตล์ในการบริหารของแต่ละท่านด้วย สำหรับคนเป็นผู้บริหารแล้ว ต่อให้หน้าบ้านเก่งแค่ไหนก็ต้องไม่ละเลยพนักงาน เพราะการหาคนที่ใช่มาทำงานกับองค์กรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรักษาคนเอาไว้ให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ นั้นยากยิ่งกว่า