ท่ามกลางสัญญาณอ่อนแรงของเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างชัดเจนในปี 2563 ประกอบกับหลายปัจจัยท้าทายที่ รออยู่ทั้งการตอบโต้ทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศในตะวันออกกลาง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และนานาชาติ การเข้าสู่กระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการของอังกฤษ ตลอดจนค่าเงินบาทที่น่าจะยังเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าตลอดปี สิ่งเหล่านี้ ล้วนมีผลต่อกำลังซื้อ ต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าไทยไป ยังตลาดปลายทาง ซึ่งการมีตัวช่วยในการลดต้นทุนการนำสินค้าไปจำหน่ายโดยอาศัยสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร เป็นการทั่วไป (GSP) รวมถึงการใช้สิทธิความตกลงทางการค้าเสรี (FTAs) ก็อาจช่วยสร้างแต้มต่อให้สินค้า SME ไทย ท่ามกลางสภาวะที่ต้องแข่งขันสูงได้มากขึ้น
หากพิจารณาจากสิทธิประโยชน์ที่ไทยมีกับนานาประเทศสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ คือ GSP กับ FTA ที่ทั้งคู่มีบทบาทหลักในการช่วยลดภาษีศุลกากรให้แก่สินค้าไทย อีกทั้งยังแบ่งเป็นประเทศเป้าหมายได้ค่อนข้าง ชัดเจน ดังนี้
1. สินค้า SME ไทยที่ต้องการเจาะตลาดประเทศพัฒนาแล้ว สามารถขอรับสิทธิ GSP ที่ไทยได้รับจาก 4 ระบบ ประกอบด้วยสหรัฐฯ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซียและเครือรัฐเอกราช (CIS) ทำให้สินค้าไทยมีแต้มต่อ ในการลดภาษีศุลกากรเพื่อนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายยังปลายทางรวม 15 ประเทศคู่ค้า ซึ่งประเทศเหล่านี้ ไทยยังไม่มี FTA ด้วย จึงนับว่าการใช้สิทธิ GSP ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่สินค้าไทยได้ค่อนข้างดี
2. สินค้า SME ไทยที่ต้องการเจาะตลาดประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในฝั่งเอเชีย สามารถขอรับสิทธิ FTA ที่ไทยได้จัดทำความตกลงทางการค้าไว้ 13 ความตกลง รวม 19 คู่ค้า ที่ช่วยให้สินค้าไทยมีความสามารถในการแข่งขัน ด้านราคาโดยที่สินค้าส่วนใหญ่ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร ประกอบด้วย ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN FTA: AFTA) อาเซียน-ฮ่องกง (ASEAN-Hong Kong FTA: AHKFTA) อาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan FTA: AJFTA) อาเซียนเกาหลีใต้(ASEAN-Korea FTA: AKFTA) อาเซียน-จีน (ASEAN-China FTA: ACFTA) อาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India FTA: AIFTA) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand FTA: AANZFTA) ไทย-อินเดีย (Thailand-India FTA: TIFTA) ไทย-ญี่ปุ่น (Thailand-Japan EPA: JTEPA) ไทย-ชิลี (Thailand-Chile FTA: TCFTA) ไทย-เปรู (Thailand-Peru CPA: TPCPA) ไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia FTA: TAFTA) และไทย-นิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand CPA: TNZCPA) ทั้งยังมีความตกลงอื่นที่อยู่ระหว่างดำเนินการกับอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ปากีสถาน ตุรกี ศรีลังกา และสหภาพยุโรป
แม้ว่าไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้ากับนานาชาติ แต่หากพิจารณายอดการใช้สิทธิ GSP และ FTAs ของไทยในช่วง 10 เดือนแรกปี 2562 อาจเรียกได้ว่าสินค้าไทยยังใช้สิทธิได้ไม่ครอบคลุมจำนวนสินค้าที่ได้รับสิทธิ กล่าวคือ ในฝั่งของการใช้สิทธิ GSP มีมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ 7,089 ล้านดอลลาร์ฯ แต่การขอใช้สิทธิคิดเป็นสัดส่วน ราว 62.51% ของสินค้าที่ได้รับสิทธิเท่านั้น เช่นเดียวกับในฝั่งของการใช้สิทธิ FTA มีมูลค่าสินค้าที่ไทยได้รับสิทธิตาม ความตกลง 70,251 ล้านดอลลาร์ฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิที่ราว 80% ของสินค้าที่ได้สิทธิ FTA จะเห็นได้ว่าการส่งออกของไทยพึ่งพาตลาดในฝั่งเอเชียค่อนข้างมากแล้ว แต่ในฝั่งประเทศพัฒนายังใช้สิทธิได้ไม่เต็มที่
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ในปัจจุบันส่งออกไปยังตลาดที่ไทยมี GSP และ FTA และยังไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ เหล่านี้ สามารถตรวจสอบเงื่อนไขของสินค้าและขอรับสิทธิได้ที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขั้นตอนใน การขอรับสิทธิทั้ง GSP และ FTA แต่ละระบบ/ความตกลงการค้ามีความแตกต่างกัน ทั้งยังมีรายละเอียดปลีกย่อย ค่อนข้างละเอียดในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: C/O) อาทิ การคำนวณต้นทุนถิ่น กำเนิดสินค้า การกรอกข้อมูลกระบวนการผลิต รายละเอียดวัตถุดิบนำเข้า ซึ่งธุรกิจ SME ที่ส่งออกสินค้ามีมูลค่าไม่สูง อาจมีค่าเสียเวลาและค่าเสียโอกาสในการดำเนินการ
อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าถึงสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ ของไทยได้ โดยสะดวกและประหยัดต้นทุนมากขึ้น ด้วยการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานภาครัฐที่มีแผนเตรียมใช้ระบบดิจิทัล เข้ามาพัฒนาบริการการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีต่างๆ ให้มีการเชื่อมโยง กับหน่วยงานในประเทศ รวมไปถึงหน่วยงานศุลกากรของประเทศปลายทางผ่าน National Single Window (NSW) ซึ่ง จะเป็นการอำนวยความสะดวก เพิ่มความรวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ในปี 2563 ยังมีความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่เป็นการรวมตัวของตลาดขนาดใหญ่ และกำลังจะลงนามความตกลงในเดือน ก.พ. 2563 ซึ่งน่าจะกลายมาเป็นอีกตัวช่วยในการทำตลาดให้แก่ธุรกิจไทย แม้ว่าความตกลงนี้อินเดียจะยังไม่พร้อมเข้าร่วม เป็นสมาชิก ทำให้เหลือสมาชิกเพียง 15 ประเทศ นั่นก็คือ อาเซียนและคู่เจรจาทั้ง 5 (Plus 5) ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แต่ถ้ากล่าวกันตามจริงไทยมีการเปิดเสรีการค้ากับประเทศสมาชิกไปแล้วผ่าน FTA ฉบับต่างๆ ซึ่งภาคธุรกิจไทยก็รับรู้และใช้สิทธิไปแล้วจึงไม่น่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาพโครงสร้างการค้าของไทย แม้อินเดียจะไม่เข้าร่วมก็ตาม
ผลบวกทางตรงต่อการส่งออกของสินค้า SME ไทยที่เกิดจากการเปิดการค้าเสรี RCEP จึงอยู่ที่ความสะดวกใน การขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพียงฉบับเดียวก็สามารถเข้าถึงตลาดได้ทั้ง 15 ประเทศ ซึ่งจะทำให้สินค้าไทย เดิมที่ส่งออกไปประเทศเหล่านี้ มีความคล่องตัวในการทำตลาดมากขึ้น โดยสินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญ ได้แก่ ยาน ยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ อาหาร แปรรูป และผลไม้ เป็นต้น ขณะที่ผลบวกทางอ้อมในกลุ่มสินค้า SMEs ไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งไปยัง Plus 5 ก็ได้อานิสงส์เติบโตตามไปด้วย จากการลดกำแพงภาษีระหว่าง Plus 5 ให้กันเป็นครั้งแรก อาทิ ยานยนต์และ ชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ถ้าหากในอนาคตอินเดียตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกและเปิดตลาด จะยิ่งทำให้ความ ต้องการสินค้าขั้นกลางจากประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งได้อานิสงส์จากการลงทุนที่ไหลเวียนได้สะดวกรวดเร็วระหว่าง ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ทั้งนี้ การที่ SME ไทยใช้สิทธิตามความตกลง FTAs และสิทธิ GSP เป็นตัวช่วยในการส่งออก ส่วนหนึ่งทำให้ สินค้าไทยมีแต้มต่อด้านราคา แต่สำหรับปี นี้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากคงอยู่ที่ การบริหารจัดการต้นทุนให้ สามารถรองรับความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน การพัฒนาการผลิตให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการช่วยลดต้นทุน กิจการ อีกทั้ง การขยายตลาดใหม่ๆ ที่อยู่นอกเหนือความตกลงทางการค้าที่ไทยมีอยู่ เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง ซึ่งถ้า หากในอนาคตไทยมีความตกลงทางการค้ากับประเทศดังกล่าวก็จะทำให้ธุรกิจสามารถต่อยอดการค้าได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งขึ้น