9/11/2564

เจาะอินไซต์ลูกค้า ปั๊มยอดขายรับมหกรรม 11.11

จับให้ได้ ไล่ความต้องการลูกค้าให้ทัน

หลายพฤติกรรมของลูกค้า ถูกเปลี่ยนแปลงไปในยุค COVID-19 ทำให้คนทำธุรกิจต้องรู้ให้ทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จากการสำรวจของสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับบริษัท สไปซี่ เอช จำกัด เผยถึงพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย เดือนตุลาคม 2564 ระบุว่า อาหารและเครื่องดื่ม ยังเป็นสินค้ากลุ่มหลักๆ ที่ผู้บริโภคต้องการซื้อ

แต่ที่น่าจับตามองคือ การใช้จ่ายเพื่อคืนความสุขให้ตัวเอง มีแนวโน้มมาแรง โดยเฉพาะความต้องการซื้อสินค้าประเภทสกินแคร์และเครื่องสำอางที่เพิ่มสูงขึ้นติดอันดับ 1 ใน 5 สินค้าที่ต้องการมากที่สุด นอกจากนี้ สินค้าเพื่อการปรับตัวและดำเนินชีวิตให้มีความสุขในยุค COVID-19 ถือเป็นอีกกลุ่มที่อยู่ในความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือสินค้าอย่าง เครื่องนอน ก็ขึ้นมาติด 10 อันดับสินค้าที่ต้องการซื้อเป็นครั้งแรกอีกด้วย

เปิด 10 กลุ่มสินค้าขายดีระดับโลก

นอกจากรู้ความต้องการของผู้บริโภคคนไทยแล้ว การรู้ถึงแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคระดับโลก ยังช่วยให้คาดการณ์และประเมินความต้องการในอนาคตได้อีกด้วย โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ HOSTINGER TUTORIALS ได้มีการบอกถึงกลุ่มสินค้าขายดีที่กำลังมาแรงในเวลานี้

1. สินค้ากลุ่มสุขภาพ

สินค้าสุดฮิต : หน้ากากอนามัย, เข็ดขัดพยุงหลัง/สายรัดปรับสรีระท่าทางให้ถูกต้อง, เสื่อโยคะ

คาดว่าภายในปี 2568 อุตสาหกรรมด้านสุขภาพและ Wellness ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 4.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลจากการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้กำลังเป็นที่นิยม

2. สินค้ากลุ่มแฟชั่น

สินค้าสุดฮิต : ไอเทมสำหรับฟิตเนส เช่น ชุดออกกำลังกาย สปอร์ตบรา เสื้อยืด กางเกงออกกำลังกาย กางเกงโยคะ, อุปกรณ์ Wearable เช่น นาฬิกาตรวจจับการเคลื่อนไหว, ชุดอยู่บ้าน/ชุดนอนใส่ออกนอกบ้านได้หรือประชุมออนไลน์แบบมีสไตล์ (Loungewear)

มูลค่าของตลาดเครื่องแต่งกายคาดว่าจะสูงถึง 2.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2568 โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของปีนี้ คือ ชุดลำลอง เนื่องจากคนมองหาเสื้อผ้าที่ใส่สบาย สำหรับทำงานและออกกำลังกายจากที่บ้าน

3. Gadget และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

สินค้าสุดฮิต : เคสโทรศัพท์, ขาตั้งกล้องโทรศัพท์, ที่วางโทรศัพท์ในรถยนต์, แท่นชาร์จแบบไร้สาย, หูฟังบลูทูธ

ภายในปี 2566 คาดว่าจะมีผู้ใช้สมาร์ตโฟนมากถึง 4.3 พันล้านคน เป็นผลทำให้อุปกรณ์เสริมกลายเป็นสินค้าที่กำลังได้รับความนิยม โดยคาดว่ามูลค่าตลาดอุปกรณ์เสริมสมาร์ตโฟนจะสูงถึง 284.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2569

4. สินค้าสำหรับทารกและเด็ก

สินค้าสุดฮิต : เป้อุ้มเด็ก, เปลไกวอัตโนมัติ, แผ่นรองคลาน

คาดว่ามูลค่าตลาดสินค้าดูแลทารกจะอยู่ที่ 88.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2569 ผลจากการ Work from Home ทำให้พ่อแม่ใช้เวลาอยู่กับลูกเล็กมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าที่ช่วยสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตครอบครัวกลายเป็นสินค้าที่กำลังมาแรง

5. สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง

สินค้าสุดฮิต : อาหารสัตว์เลี้ยง, ชามอาหารสุนัข, เตียงแมว, กระเป๋าใส่สัตว์เลี้ยงเวลาเดินทาง

ขนาดตลาดการดูแลสัตว์เลี้ยงมีมูลค่ามากกว่า 232.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6.1% ภายในปี 2570 ซึ่งเกิดจาก COVID-19 ทำให้คนหันมาเลี้ยงสัตว์เพื่ออยู่เป็นเพื่อนมากขึ้น

6. ไอเทมเพื่อความผ่อนคลาย

สินค้าสุดฮิต : โซฟาเบด (Sofa Bed), เบาะรองนั่ง

การใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนต้องการสร้างพื้นที่ที่สะดวกสบายสำหรับตัวเอง ส่งผลให้เฟอร์นิเจอร์กลายเป็นหนึ่งในสินค้ายอดฮิตติดเทรนด์ โดยคนเริ่มสนใจซื้อสินค้าดังกล่าวจากเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซกันมากขึ้น

7. เครื่องใช้ในบ้านและนอกบ้าน

สินค้าสุดฮิต : เครื่องดูดฝุ่นแบบพกพา, เครื่องซักผ้าแบบพกพา, แผงโซลาร์เซลล์, หลอดไฟอัจฉริยะ, ไฟ LED

คาดตลาดเครื่องใช้ภายในบ้านจะเติบโตเป็น 436.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2568 เนื่องจากโรคระบาดทำให้คนต้องอยู่บ้านและหลีกเลี่ยงฝูงชน นอกจากนี้ สินค้าที่สนับสนุนกิจกรรมนันทนาการกลางแจ้งก็กำลังเป็นที่นิยมเช่นกัน

8. เครื่องใช้ในครัว

สินค้าสุดฮิต : หม้อทอดไร้น้ำมัน, Salad Spinner ตัวช่วยสลัดน้ำออกจากผัก

มูลค่าตลาดเครื่องใช้ในครัวจะเติบโตเป็น 377.70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2570 ทั้งนี้ เพราะผู้บริโภคประมาณ 7 ใน 10 ตั้งใจจะทำอาหารที่บ้านต่อไปหลัง COVID-19

9. สินค้าสำหรับงานอดิเรกและไลฟ์สไตล์

สินค้าสุดฮิต : ขวดน้ำแบบใช้ซ้ำได้, อุปกรณ์ตกปลา, บอร์ดเกม

หลายคนต้องการสร้างความบันเทิงให้ตัวเองไม่ว่าจะอยู่กลางแจ้งหรือในบ้าน ดังนั้น การมองหาสินค้าในหมวดงานอดิเรกและไลฟ์สไตล์ จึงกำลังเป็นที่นิยม

10. สินค้าความงาม และ Accessories

สินค้าสุดฮิต : ยางรัดผม, ขนตาปลอม, ผ้าคลุมศีรษะ

มูลค่าอุตสาหกรรมความงามคาดว่าจะมีสูงถึง 463.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2570 แม้จะมีการหดตัวลง 8% ในปี 2563 เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 แต่ก็ยังมีสินค้าที่ได้รับความนิยมหลายรายการ

วางแผนคว้าโอกาสทำเงินช่วง Mega Sale

การรู้ถึง Insight ความต้องการสินค้าของผู้บริโภค ยังช่วยให้สามารถวางแผนการขายได้ดีขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะช่วงมหกรรมชอปออนไลน์ครั้งใหญ่ (Mega Sale) ในเดือนพฤศจิกายน หรือที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี นั่นคือ เทศกาล 11.11 ซึ่งข้อมูลจาก Think with Google ได้มีการเปิดเผยเทรนด์การ Search ที่เกี่ยวกับเทศกาลชอปออนไลน์ของคนไทย โดยระบุว่า

  • คนไทยคุ้นเคยและรอคอยการชอปปิงในช่วง Mega Sale แทนการชอปปิงวันเงินเดือนออก
  • 11.11 ยังเป็นเทศกาลใหญ่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดสำหรับคนไทย
  • คนไทยค้นหา 11.11 มากกว่าการค้นหา 6.6 7.7 8.8 โดยเฉลี่ยถึง 4 เท่า แต่ก็มีแนวโน้มที่คนจะเริ่มสนใจเทศกาลชอปเดือนอื่นๆ ไม่ใช่แค่ 11.11 มากขึ้น

เรียกได้ว่า นี่คือโอกาสทองสำหรับเจ้าของธุรกิจที่จะใช้ช่วงเวลานี้ในการปั๊มยอดขายให้เพิ่มขึ้นได้ โดยมีกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยทำให้คุณไม่พลาดโอกาสทำเงิน

1. “คาดการณ์” ความต้องการลูกค้า

สินค้าอะไรที่ลูกค้าต้องการ และมีความต้องการมากน้อยแค่ไหน เรื่องเหล่านี้เจ้าของธุรกิจต้องรู้ เพราะจะนำไปสู่การจัดเตรียมสต็อกสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการซื้อในช่วง Mega Sale ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยในการเก็บข้อมูลลูกค้า เพื่อนำมาวิเคราะห์หาความต้องการ รวมถึงการอัปเดตเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อดูแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค

2. วางแผนการขายล่วงหน้า

การเตรียมตัวล่วงหน้าคือ หัวใจความสำเร็จของการขายช่วง Mega Sale เพราะต้องมีเวลาขายแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น ฉะนั้นทุกอย่างต้องเตรียมการเป็นอย่างดีก่อนวันขายจริง

  • โปรโมตให้ลูกค้ารู้ล่วงหน้า 1 สัปดาห์ ว่าจะมีสินค้าราคาพิเศษ มีโปรโมชันเด็ด หรือช่วงเวลานาทีทอง เพื่อให้ลูกค้ากดของใส่ตะกร้ารอไว้ พอถึงวันขายจริง สามารถเพิ่มเซอร์ไพรส์ให้ลูกค้าได้อีกรอบ เช่น ลดเพิ่มเฉพาะช่วงเวลา หรือมีของแถมหากซื้อถึงยอด ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้น
  • เตรียมระบบการชำระเงินที่สะดวกและต้องไม่สะดุด รองรับการชำระเงินได้ทั้งรูปแบบของบัตรเครดิต, บัตรเดบิต รวมถึงการสแกนผ่าน QR Code หรือจ่ายผ่าน e-Wallet และถ้ายิ่งรับชำระด้วยสกุลเงินที่หลากหลายได้ โอกาสที่จะได้ลูกค้าต่างชาติก็มีเพิ่มขึ้นด้วย

แม้วันนี้ออนไลน์จะเป็นช่องทางสำคัญในการจับจ่ายของผู้บริโภค แต่อย่าลืมว่า ช่องทางออฟไลน์ ก็เป็นสิ่งที่ห้ามละเลยเช่นกัน เพราะยุคนี้ถ้าอยากจะดักจับลูกค้าให้อยู่หมัด ต้องมอบประสบการณ์ชอปปิงในแบบที่เรียกว่า Seamless Shopping Experience ที่เชื่อมให้การชอปออนไลน์และออฟไลน์ไปด้วยกันได้อย่างไม่สะดุดนั่นเอง