6/7/2560

"สบายอารมณ์" ธุรกิจสังคมสุข

       การเป็นองค์กรทำเพื่อสังคม หรือแม้กระทั่งจัดกิจกรรมทำซีเอสอาร์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดว่าจะเล็กหรือใหญ่ สิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ทุกวันในกิจกรรมง่ายๆ ตลอดกระบวนการผลิต หรือการดำเนินธุรกิจตามปกติขององค์กร” หลักคิดเรียบง่ายของ ศศธรณ์ ณ สงขลา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “สบายอารมณ์” ธุรกิจความงามจากธรรมชาติ กับแนวคิดนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

ไม่รวยก็คืนกำไรสู่สังคมได้
        ความที่สบายอารมณ์เป็นองค์กรเล็กๆ จึงไม่สามารถทำกิจกรรมซีเอสอาร์ออกมาเป็นรูปธรรมแบบชนิดที่เรียกเต็มปากว่าคืนกำไรสู่สังคมได้อย่างองค์กรใหญ่ๆ แต่ก็สามารถทำในสิ่งที่ให้คุณค่ากับสังคมได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จากความเชื่อในเรื่องการเกื้อกูลกันในสังคมจะสร้างรากฐานที่ยั่งยืน เพราะศศธรณ์ มองว่าไม่ใช่ต้องรอให้รวยมีกำไรแล้วค่อยคืนกำไรสู่สังคม แต่องค์กรสามารถทำเพื่อสังคมได้ในทุกกิจกรรมการผลิต และการดำเนินธุรกิจ

โมเดลง่ายที่ใครก็ทำซีเอสอาร์ได้​​​​
        โมเดลในการทำซีเอสอาร์ของสบายอารมณ์ เริ่มตั้งแต่มองว่าองค์กรเป็นส่วนหนึ่งของสังคมตั้งแต่ต้น ฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำ สามารถทำเพื่อสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลพนักงาน เพราะเขาคือคนในสังคม การซื้อของจากเกษตรกร ที่คิดว่าเกื้อกูลกันได้ คู่ค้าทุกคนอยู่ในสังคมเหมือนกันหมด ฉะนั้นการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการเกื้อกูลสังคม ไม่เอาเปรียบใคร นั่นก็คือการทำซีเอสอาร์อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ต้องรอให้เติบใหญ่แล้ววันหนึ่งถึงจัดกิจกรรมใหญ่ๆ ขึ้นมา

ส่งความสุขตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
​        ชื่อแบรนด์สบายอารมณ์ เป็นการขายความสุข โดยมีคอนเซ็ปต์คือ ส่งความสุขตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบต้นทางต้องเป็นวัตถุดิบที่มาจากคนที่มีความสุข คัดเลือกเกษตรกรที่มีความสุข เกษตรกรที่จะมีความสุขได้ต้องไม่มีหนี้ เกษตรกรที่มีความสุขในความหมายของสบายอารมณ์คือเกษตรกรที่เชื่อในวิถีอินทรีย์ ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ผลผลิตพืชที่ใช้ในการผลิตคอลเลกชั่นต่างๆ เน้นปลูกตามธรรมชาติ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกเหนือจากการขายความสุขแล้ว ยังขายปรัชญาวิถีชีวิต ของภูมิปัญญาชาวบ้านอีกด้วย สมกับที่วางบทบาทแบรนด์ให้เป็นแรงบันดาลใจในการมีความสุขแบบเรียบง่ายตามแบบวิถีไทย

วัฒนธรรมองค์กร สะท้อนตัวตนแบรนด์
​        ศศธรณ์เล่าว่าแรกเริ่มของการสร้างแบรนด์สบายอารมณ์ เธอคิดถึงความสุขของผู้ใช้ก่อนเป็นอันดับแรก แต่เมื่อแบรนด์โตขึ้นเรื่อยๆ ก็อยากให้แบรนด์มีความหมายที่ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม โดยทำให้คอนเซ็ปต์การส่งมอบความสุขที่เรียบง่ายมีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น ด้วยการจัดกิจกรรม 120 วันปฏิบัติการปฏิวัติความสุขขึ้น โดยเริ่มต้นจากพนักงานก่อน เพราะเชื่อว่าถ้าพนักงานมีความสุข เขาถึงจะเผื่อแผ่ให้กับสังคมได้

        ศศธรณ์บอกว่า เธอไม่ต้องการให้สบายอารมณ์เป็นแบรนด์ที่ดูดีแต่เพียงเปลือกนอก แต่อยากให้เป็นคนคนหนึ่งที่อยู่ร่วมในสังคม และมีหน้าที่ในการเป็นสมาชิกที่ดีที่ต้องเกื้อกูลคนในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรอบข้างที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการดำเนินธุรกิจของเธอ และเมื่อเธอมีความพร้อมมากกว่านี้ก็จะขยายความเกื้อกูลนี้ไปสู่สังคมรอบนอก เพราะองค์กรจะแสวงหาแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ทว่าต้อง “ใส่ใจ” พนักงาน คู่ค้า สังคม ผู้คน และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกันเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง​