15/12/2560

TAAN ร้านอาหารมีสไตล์ ไร้ราคาขาย

​​       จะเป็นยังไงหากคุณเดินเข้าไปในร้านอาหารสักแห่ง ในขณะที่กำลังนั่งลงโต๊ะเพื่อสั่งอาหาร แต่กลับพบว่าไม่มีเมนูให้เลือก แต่บอกเพียงแค่ประเภทอาหาร โดยให้คุณเป็นคนเลือกรังสรรค์วัตถุดิบและวิธีการปรุงขึ้นมาเอง ซ้ำหลังจากเอร็ดอร่อยจากอาหารที่เลือกแล้ว เมื่อถึงเวลาคิดเงินกลับไม่ปรากฏราคาขายแต่บอกเป็นราคาต้นทุนวัตถุดิบแทน และให้เลือกจ่ายได้ตามต้องการ ใช่! คุณกำลังฟังไม่ผิดหรอก ร้านอาหารแบบนี้มีอยู่จริง แถมเป็นร้านอาหารชั้นดีที่เลือกใช้แต่วัตถุดิบออร์แกนิกและธรรมชาติ ร้านที่ว่าตั้งอยู่ที่เมืองทองธานีโครงการ 1 ซอย 1 โดยมีชื่อร้านว่า “TAAN” ที่มีความหมายมาจากคำว่า รับประทานแล​ะการให้ทานนั่นเอง

ร้านอาหารที่ไม่มีราคาขาย
       TAAN เปิดตัวมาไม่นาน วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งร้านคือ การอยากทำเป็นพื้นที่ทดลองในการสรรหาอาหารดีๆ วัตถุดิบคุณภาพจากธรรมชาติ ปลอดสารเคมีในการปรุงเป็นอาหารให้ผู้บริโภคในราคาที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้ ด้วยคอนเซปต์ไม่มีการกำหนดราคาขาย บอกเพียงราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ซื้อมาจากแหล่งผลิต และให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสินใจในการกำหนดราคาจ่ายด้วยตัวเอง ด้วยความตั้งใจคัดสรรคุณภาพวัตถุดิบอย่างดีจากธรรมชาติมาปรุงเป็นอาหาร และเป็นคอนเซปต์ที่แปลกใหม่ แม้เปิดตัวมาได้ไม่นาน ก็ทำให้ TAAN เป็นที่รู้จักในโลกโซเชียลมีเดีย ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว


สายพานออร์แกนิก

       จากความตั้งใจที่จะผลิตอาหารที่ดีจากธรรมชาติมาสู่ผู้บริโภค กระบวนการทำงานของ TAAN จึงเริ่มต้นขึ้นจากการเฟ้นหาวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกใช้จากกลุ่มเกษตรกรรายเล็กๆ ที่มีความตั้งใจในการทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้ได้วัตถุดิบที่ดีและยังช่วยส่งเสริมเกษตรกรไปในตัว รวมถึงผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมบางส่วนเอง เช่น ธุรกิจอาหารทะเล ก็กล้าที่จะทดลองผลิตวัตถุดิบดีๆ ออกมาโดยไม่ใช้สารเคมี หลังจากที่เคยใช้เพื่อยืดระยะเวลาในการเก็บรักษ
       TAAN เปรียบเสมือนห้องทดลองที่ช่วยบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งก็คือผู้บริโภค เพื่อให้ได้รับประโยชน์ที่ดีด้วยกันทุกฝ่าย เพราะหากมีการบริโภควัตถุดิบแบบนี้กันมากขึ้น ก็จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เติบโตเข้มแข็ง ยั่งยืนต่อไป ผู้ผลิตก็สบายใจที่ได้ผลิตอาหารดีๆ ออกมาขาย ผู้บริโภคเองก็มีความสุขที่ได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัย
       TAAN เป็นโมเดลที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเสมือนห้องทดลอง ถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับผู้บริโภค จึงไม่ได้มีการคาดหวังใดๆ มีเพียงการกำหนดระยะเวลาของการทดลองและรอดูผลลัพธ์ที่ได้เท่านั้นเอง

ถอดบทเรียนจากห้องทดลอง สู่ร้านอาหารในอุดมคติ
       จากเรื่องราวของ TAAN หลายคนมองว่าเป็นไอเดียเกิดใหม่ที่น่าทดลองทำธุรกิจดูบ้าง แต่อย่าลืมว่าวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง TAAN คือ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทดลองบางอย่าง ดังนั้น จึงมีความแตกต่างจากการทำธุรกิจ โดยมีคำเปรียบเทียบให้เห็น 2 ประโยคด้วยกันคือ Pay what you can และ Pay what you want
       Pay what you can คือ การมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่คุณกำลังจะจ่าย แต่ขณะเดียวกันคุณสามารถเลือกจ่ายได้ตามกำลังที่มี ซึ่ง TAAN เป็นแบบนั้น โดยลูกค้าสามารถจ่ายมากกว่าราคาวัตถุดิบที่วางไว้ จ่ายน้อยกว่าหรือไม่จ่ายเลยก็ได้ เหมือนการเดินเข้าไปกินข้าวในโรงทาน กินเสร็จคุณจะทำทานต่อหรือไม่ทำก็ได้ เพราะมีคนอื่นทำไว้แล้ว ต่างจากคำว่า Pay what you want ซึ่งหมายถึง แม้มีศักยภาพที่จะจ่าย แต่ไม่อยากจ่ายก็ได้ เพราะมองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้รับ โดยอาจนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ด้านราคาอย่างหนึ่งที่ให้ผู้บริโภคเป็นคนกำหนดราคาขึ้นเองจากการเห็นคุณค่าที่ได้รับ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย และความเสี่ยงที่ต่างกันไป

       ทั้งข้อดีและข้อเสียดังกล่าว เป็นบทเรียนให้กับผู้ที่คิดกำลังจะทำธุรกิจแบบ TAAN ต้องรู้ให้ได้ว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นออกมานั้น ในสายตาผู้บริโภคแล้วคิดกันว่าอย่างไร คุณค่าที่เรากำลังจะมอบให้กับลูกค้า ใช่คุณค่าที่เขาต้องการจริงๆ หรือไม่ ฉะนั้นในทางที่ดีแล้ว​ควรวิเคราะห์ตัวเองให้ครบทุกบริบทก่อนตัดสินใจนำมาใช้เพื่อทำธุรกิจ


สินเชื่อที่เกี่ยวข้อง : สินเชื่อและบริการยอดฮิต​