14/12/2561

5 ทรัพย์สินทางปัญญา ความต่างที่ต้องรู้

​       ข่าวคราวการทำลายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว จึงไม่ได้สนใจที่จะศึกษาเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของตัวเองกันมากนัก แต่ลองคิดเล่นๆ ดูว่าหากวันหนึ่งสิ่งที่เราอุตส่าห์คิดค้นพัฒนาขึ้นมาถูกคนอื่นขโมยความคิดไปโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำ วันนั้นเราคงอยู่ไม่สุขแน่นอน ดังนั้นเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจศึกษาเพื่อหาทางปกป้องเอาไว้ตั้งแต่แรก อย่ารอให้เรื่องเลยเถิดจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล โดยทรัพย์ทางปัญญาที่ผู้ประกอบการควรรู้จักเอาไว้มีอยู่ 5 ประเภท ดังนี้

1. ลิขสิทธิ์ เป็นคำที่เราได้ยินบ่อยที่สุด ซึ่งลิขสิทธิ์หมายถึง การคุ้มครองสิทธิของผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานด้วยการใช้ความรู้ ความสามารถ สติปัญญา และความพยายาม โดยไม่ลอกเลียนแบบงานของผู้อื่น โดยผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นจะได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติได้ทั่วโลก ไม่ต้องจดทะเบียน โดยความคุ้มครองนี้จะมีตลอดอายุของผู้สร้างผลงาน และจะคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต เช่น งานวรรณกรรม ศิลปกรรม ภาพยนตร์ และซอฟต์แวร์ เป็นต้น

2. สิทธิบัตร คือ หนังสือสำคัญที่คุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น กรรมวิธีในการผลิต การรักษา ปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ต้องเป็นเทคนิคที่ไม่สามารถคิดค้นได้โดยง่ายหรือมีการใช้เทคโนโลยี โดยสิทธิบัตรจะให้สิทธิแก่ผู้ประดิษฐ์คิดค้น ให้สามารถผลิตสินค้าและจำหน่ายสินค้านั้นได้เพียงผู้เดียวในช่วงระยะเวลาที่กำหนด

3. เครื่องหมายการค้า ชื่อนี้หลายคนต้องเคยได้ยินแน่นอน โดยเครื่องหมายการค้าหมายถึง เครื่องหมาย สัญลักษณ์ ตรา สี หรือฟ้อนท์ ที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าอื่น ดังนั้นอะไรที่คนเห็นแล้วนึกถึงเราก็ควรนำมาจดเป็นเครื่องหมายการค้า

4. ความลับทางการค้า คือ ข้อมูลการค้าที่ปกปิดเป็นความลับ มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ หากมีการเปิดเผยออกไปจะทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบเสียหาย โดยความลับทางการค้าจะได้รับการคุ้มครองตราบเท่าที่ยังเป็นความลับ โดยไม่ต้องมีการจดทะเบียนแต่อย่างใด ความลับทางการค้า ได้แก่ สูตรอาหาร ส่วนผสมของสบู่ ส่วนประกอบของกระจกนิรภัย เป็นต้น

5. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้าเป็นผลผลิตมาจากพื้นที่นั้นๆ สินค้าที่ผลิตจากแหล่งอื่นไม่สามารถใช้ชื่อนี้ได้ เป็นเครื่องการันตีคุณภาพของสินค้าเหมือนกับแบรนด์ เช่น สับปะรดภูแล ไข่เค็มไชยา มะขามหวานเพชรบูรณ์ และส้มบางมด เป็นต้น

       ทรัพย์สินทางปัญญาถึงแม้จะมีหลายประเภท แต่ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เพราะแต่ละประเภทก็เหมาะกับการคุ้มครองที่ต่างกันชัดเจน หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใส่ใจศึกษาสักนิด ก็จะสามารถคุ้มครองความคิดที่เราอุตส่าห์พัฒนาขึ้นมา ก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน และเป็นเอกลักษณ์ความต่างที่ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ ดังนั้นการรู้จักทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ จึงเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง

สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ipthailand.go.th

​สินเชื่อที่เกี่ยวข้อง : สินเชื่อและบริการยอดฮิต