15/7/2559

เครื่องหมายการค้า รู้น้อยไป เสียหายได้

​​      เครื่องหมายการค้า คือ สัญลักษณ์ของสินค้าและบริการไม่ว่าจะเป็น ชื่อ ตัวหนังสือ ตัวเลข ตรา สี ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนหรือชื่อเสียงของสินค้าให้ผู้อื่นจดจำได้ ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรหันมาใส่ใจ “เครื่องหมายการค้า” ไม่ว่าคุณจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ แบรนด์ดังหรือไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ก็ควรจดทะเบียนคุ้มครองเครื่องหมายการค้าของคุณเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ใครนำไปใช้หรือลอกเลียนแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิด AEC รวม 10 ประเทศอาเซียนเป็นตลาดเดียว ทำให้สินค้าและบริการเคลื่อนย้ายระหว่างกันได้อย่างเสรี จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีคนลอกเลียนแบบ นำเครื่องหมายการค้าของคุณไปใช้ หรือนำไปจดทะเบียนในประเทศอื่นก่อนเจ้าของตัวจริง

       สิ่งที่เอสเอ็มอีหลายคนยังไม่รู้ก็คือ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะคุ้มครองได้แค่ในประเทศที่เครื่องหมายการค้านั้นถูกจดทะเบียนไว้ นั่นก็แปลว่าการจดทะเบียนเอาไว้เพียงประเทศเดียว ไม่ได้คุ้มครองไปทั่วโลก เช่น จดทะเบียนในประเทศไทยก็จะได้รับความคุ้มครองแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ทีนี้มาดูกันว่าหากเครื่องหมายการค้าของเราถูกคนอื่นเอาไปใช้จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง

1. เสียรายได้ เพราะผู้บริโภคซื้อของปลอม หรือสินค้าลอกเลียนแบบ อาจจะด้วยความตั้งใจที่เห็นว่าราคาถูกกว่า หรือไม่ตั้งใจ เพราะไม่รู้จักแบรนด์นั้น แต่ก็ทำให้เจ้าของตัวจริงอย่างเราสูญเสียรายได้ที่สมควรจะได้รับอย่างช่วยไม่ได้

2. เสียชื่อเสียง สินค้าไทยนั้นขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพดีจนหลายประเทศให้การยอมรับ แต่หากถูกนำไปลอกเลียนแบบก็อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่ามักไม่ได้มาตรฐาน จึงอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจคุณภาพหรือบริการผิดไป คิดว่าสินค้าแบรนด์นั้นคุณภาพไม่ดีหรือด้อยลง ก็จะพูดถึงในแง่ลบ ทำให้สินค้าตัวจริงเสียภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค

3. เสียโอกาส เนื่องจากภาพลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเข้าไปขายในตลาดใหม่ทั้งในและนอกกลุ่มอาเซียน ซึ่งหากมีคนทำของปลอมลอกเลียนแบบและใช้เครื่องหมายการค้าของเรา โดยมีคุณภาพสินค้าที่แย่ จะทำให้ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นในคุณภาพ จนเสียโอกาสเข้าไปขายในตลาดต่างประเทศ

4. เสียเวลา หากเครื่องหมายการค้าของเราถูกคนอื่นตัดหน้านำไปจดทะเบียนก่อน ทำให้ต้องเสียเงินและเวลาไปขึ้นโรงขึ้นศาล ฟ้องร้องว่าใครกันแน่คือเจ้าของที่แท้จริง บ่อยครั้งที่เจ้าของตัวจริงตัดปัญหายอมเสียเงินซื้อเครื่องหมายการค้าที่ถูกคนอื่นขโมยเอาไปจดทะเบียนกลับคืนมา

5. เสียเครื่องหมายการค้า ถ้าหากเครื่องหมายการค้าของเราถูกคนอื่นจดทะเบียนไปแล้ว และไม่สามารถทำอะไรได้ ก็ต้องยอมตัดใจ หันมาปรับตัว และเรียนรู้เป็นบทเรียนราคาแพงให้ตัวเอง 

      อย่างเช่น เจ้าของธุรกิจออกแบบและผลิตอะไหล่รถจักรยานยนต์รายหนึ่ง ที่แรกเริ่มไม่ได้คิดจะส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศ จึงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยเท่านั้น แต่สินค้ากลับขายดิบขายดีจนมีชาวต่างชาติมาสั่งซื้อไปขายในเวียดนามและอินโดนีเซียอยู่หลายปี กระทั่งวันหนึ่งเจ้าของธุรกิจท่านนี้มองเห็นโอกาสจึงต้องการเข้าไปบุกตลาด 2 ประเทศนี้ด้วยตัวเอง ถึงได้รับรู้ความจริงว่า เครื่องหมายการค้าของตัวเองที่สร้างมากับมือนั้น ถูกคู่ค้าของธุรกิจนำไปจดทะเบียนใน 2 ประเทศนี้เรียบร้อยแล้ว จากเจ้าของสินค้าตัวจริงก็กลายเป็นสินค้าลอกเลียนแบบทันทีโดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย เขาจึงทำได้เพียงปรับตัวมาเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ส่งให้แบรนด์ที่กลายเป็นของคนอื่น แต่จากบทเรียนนี้ทำให้เขาต้องสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมา และเมื่อต้องเปิดตลาดในต่างประเทศอีกครั้ง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศนั้น

       แน่นอนว่ากว่าที่เครื่องหมายการค้าของธุรกิจ จะสร้างมาจนกลายเป็นที่รู้จักนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และในโลกความเป็นจริงก็มีคนที่ทำธุรกิจแบบฉวยโอกาสลักษณะนี้อยู่ทั่วโลก ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องทำก่อนจะส่งสินค้าไปขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะบุกตลาดส่งไปขายเองหรือผ่านตัวแทนจำหน่าย ก็คือนำเครื่องหมายการค้าของคุณไปจดทะเบียนที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และจดทะเบียนในประเทศคู่ค้านั้นเอาไว้ด้วย นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว มีอายุความคุ้มครองจำกัด เมื่อถึงเวลาครบกำหนดเจ้าของธุรกิจต้องไม่ลืมไปต่ออายุความคุ้มครองด้วย