24 ก.ย. 56

เงินได้ก้อนสุดท้าย ใช้อย่างไรให้เพียงพอ

คะแนนเฉลี่ย

เกษียณ

​​​​เงินได้ก้อนสุดท้าย ใช้อย่างไรให้เพียงพอ


"วิธีการบริหารเงินในวัยเกษียณ ควรเน้นความปลอดภัยของเงินต้นเป็นหลัก ในขณะเดียวกันผลตอบแทนรวมของการลงทุนก็ควรมากกว่าหรือเท่ากับเงินเฟ้อ เพื่อให้ไม่สูญเสียอำนาจการซื้อของเงินก้อนหลังเกษียณ”


          เมื่อชีวิตได้ล่วงเลยจนย่างเข้าสู่วัยเกษียณ หลายๆ คนรู้สึกดีใจที่จะได้พักผ่อนจากการทำงานเสียที แต่ทว่ารายได้ที่ขาดหายไป ย่อมทำให้ฉุกคิดว่าแล้วเราจะมีเงินพอใช้ได้อีกเป็นเวลากี่เดือนกี่ปีกันล่ะ แต่ชีวิตยังคงมีความหวังอยู่บ้าง เพราะนอกจากเงินที่ได้เก็บหอมรอมริบมาด้วยตนเองแล้ว รัฐบาลหรือบริษัทเอกชนที่เราทำงานด้วยยังมีสวัสดิการให้ อย่างเช่น ผู้ที่รับราชการจะมีเงินบำเหน็จบำนาญจากกองทุน กบข. ส่วนพนักงานบริษัทเอกชนก็มีบำเหน็จบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม และเงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งเงินชดเชยเมื่อเกษียณจากการทำงานอีกด้วย เมื่อได้นำเงินเหล่านี้มารวมกับเงินเก็บของเราแล้ว ก็ต้องวางแผนใช้เงินก้อนนี้ให้ดี เนื่องจากถ้าเมื่อใดที่เราใช้เงินก้อนนี้หมดไป เราก็จะขาดปัจจัยต่างๆ ในการดำรงชีพได้


          วิธีการบริหารเงินในวัยเกษียณ จะต้องเน้นความปลอดภัยของเงินต้นเป็นหลัก ในขณะเดียวกันอย่างน้อยผลตอบแทนรวมของการลงทุนก็ควรมากกว่าหรือเท่ากับเงินเฟ้อ เพื่อให้ไม่สูญเสียอำนาจการซื้อของเงินก้อนหลังเกษียณ นอกจากนี้ ควรมีสภาพคล่องในการใช้จ่ายที่เพียงพอ แนะนำว่าให้มีเงินสำรองชั้นแรกเก็บเอาไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่มีบัตร ATM หรือบัตรเดบิต เพื่อให้สามารถนำมาใช้จ่ายได้ทันที โดยสำรองไว้จำนวน 1-2 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำเดือน


          สำรองชั้นที่สอง ควรมีเงินเก็บเอาไว้ในรูปกองทุนรวมตลาดเงิน ที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น (เผื่อเวลาการขายคืนไว้อย่างน้อย 1 วันถึงจะได้รับเงิน) หรือเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน รวมประมาณ 12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เผื่อเกิดเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน หรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินด่วน ก็ยังสามารถเดินเข้าไปเบิกเงินจากธนาคารได้ทันที 

          สำหรับเงินส่วนที่เหลือ แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น ทองคำ หุ้นกู้ พันธบัตร กองทุนรวม และอสังหาริมทรัพย์ ตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตนเอง และความเชี่ยวชาญของแต่ละบุคคล โดยสินทรัพย์ลงทุนในส่วนนี้จะมุ่งเน้นเป็นการลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสด ให้มีรายรับสม่ำเสมอ ทั้งนี้ อาจมีการลงทุนในรูปแบบกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือหุ้นพื้นฐานดีที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอเอาไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับเงินปันผล

          สำหรับจำนวนเงินที่ใช้จ่ายหลังเกษียณ และไม่ทำให้เงินต้นลดลงนั้น มีวิธีคำนวณง่ายๆ คือนำรายได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย เงินปันผล หรือค่าเช่ารับทั้งปี (ถ้ามี) รวมทั้งหมดได้เท่าไร นำมาหาร 12 ให้เป็นรายได้ต่อเดือน หากเราใช้จ่ายไม่เกินรายได้ที่ได้รับมาในแต่ละปี ก็จะไม่ทำให้เงินลงทุนของเราต้องลดลง เช่น ได้รับดอกเบี้ย เงินปันผล รวมทั้งรายได้จากค่าเช่าทั้งปีจำนวน 240,000 บาท เมื่อนำมาหาร 12 จะเท่ากับ 20,000 บาท ดังนั้น หากเราใช้จ่ายไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท ก็จะไม่กระทบกับเงินต้นที่ได้ลงทุนเอาไว้ แต่ถ้าใช้เงินเกินกว่ารายรับนี้ เงินต้นก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ควรคำนวณว่าเงินต้นที่มีเพียงพอใช้จ่ายในยามเกษียณมากน้อยแค่ไหน หากเงินที่มีสามารถใช้จ่ายได้เพียงแค่ 10-15 ปี แนะนำให้ปรับลดค่าใช้จ่ายลง


          สำหรับเงินก้อนสุดท้ายจะสามารถใช้ได้อย่างเพียงพอหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับวินัยการใช้เงิน ถ้าหากว่าใช้เงินไม่เกินกว่าที่สินทรัพย์ลงทุนสามารถสร้างรายรับให้กับเราในแต่ละปี ก็จะมีเงินใช้ได้เรื่อยๆ และมีมรดกให้กับลูกหลานได้ครับ


ให้คะแนนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า

ธนาคารกสิกรไทย