21 มิ.ย. 61

เก็บเงินผ่าน PVD และ RMF พอหรือไม่สำหรับใช้ในยามเกษียณ

คะแนนเฉลี่ย

เกษียณ

​​เก็บเงินผ่าน PVD และ RMF พอหรือไม่สำหรับใช้ในยามเกษียณ


“การเก็บเงินผ่าน PVD และ RMF อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มทำงาน
จะช่วยให้มีเงินพอใช้ในช่วงเกษียณอายุได้”
- K-Expert -

          ถ้าพูดถึงการเก็บออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ ช่องทางที่เรามักนึกถึงคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยการลงทุนผ่านทั้ง 2 ช่องทางนี้ นอกจากจะช่วยให้มูลค่าเงินลงทุนของเราเพิ่มขึ้นแล้ว ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย แล้วถ้าเราลงทุนผ่าน PVD และ RMF เพียงสองช่องทาง จะมีเงินพอใช้ในวัยเกษียณหรือไม่ จำเป็นมั้ยที่จะต้องลงทุนเพิ่มอีก K-Expert ไปหาคำตอบมาให้แล้วค่ะ

          ก่อนที่จะมาคำนวณกันว่า การลงทุนผ่าน PVD และ RMF พอหรือไม่สำหรับใช้ในยามเกษียณ เรามาทำความรู้จักกับการลงทุนทั้ง 2 ประเภทกันก่อน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินใช้ในวัยเกษียณ โดยลูกจ้างสามารถส่งเงินสะสมเข้า PVD ได้ 2-15% ของเงินเดือน ส่วนนายจ้างเองก็มีการจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้าง 2-15% ของเงินเดือนเช่นกัน เงินที่ลูกจ้างสะสมเข้า PVD สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

          กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นกองทุนที่มีจุดประสงค์เพื่อเก็บออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ โดยสามารถลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ในแต่ละปีที่เสียภาษี และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันบำนาญ เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แล้ว ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท เงื่อนไขสำคัญของ RMF คือ เมื่อลงทุนไปแล้ว จะต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี (เว้นได้อย่างมาก 1 ปี) ไปจนถึงอายุ 55 ปี และ RMF ก้อนแรกลงทุนครบ 5 ปี จึงจะขายหน่วยลงทุน RMF ทั้งหมดที่ลงทุนมาได้

          เมื่อเข้าใจกันแล้วว่า PVD และ RMF คืออะไร อีกอย่างหนึ่งที่หลายคนคงสงสัยคือ จะต้องเตรียมเงินเพื่อใช้ในช่วงเกษียณเป็นเงินเท่าไร จากการสำรวจของ K-Expert ถ้าคิดเฉพาะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่าง ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งกรณีนี้จะเรียกว่า “เกษียณพอเพียง” จะใช้เงินเดือนละ 15,500 บาท แต่ถ้าอยากใช้ชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น มีไปสังสรรค์กับเพื่อน หรือไปท่องเที่ยว กรณีนี้คือ “เกษียณสบาย” จะใช้เงินเดือนละ 26,000 บาท แต่ในการคำนวณว่า ต้องเตรียมเงินเท่าไรเพื่อใช้ในช่วงเกษียณ ก็ต้องคิดอัตราเงินเฟ้อรวมเข้าไปด้วยซึ่งปกติแล้วจะใช้อัตราเงินเฟ้อที่ 3% ต่อปี อย่างคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน อายุ 23 ปี หากตั้งใจจะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี และใช้ชีวิตไปจนถึงอายุ 85 ปี กรณีเกษียณพอเพียง จะต้องมีเงินเตรียมไว้ 13.89 ล้านบาท ส่วนกรณีเกษียณสบายจะต้องมีเงินเพิ่มขึ้นเป็น 23.28 ล้านบาท

          เงินที่ต้องเตรียมสำหรับเกษียณที่สูงถึงหลัก 10 ล้านแบบนี้ การลงทุนผ่าน PVD และ RMF จะพอหรือไม่ เรามาดูกันเลยค่ะ หากปัจจุบันอายุ 23 ปี เพิ่งเริ่มทำงาน โดยได้เงินเดือน 18,000 บาท ซึ่งเงินเดือนมีการปรับขึ้นเฉลี่ย 6% ต่อปี มีการสะสมเงินเข้า PVD ในอัตราที่เพิ่มขึ้นตามอายุและรายได้ที่สูงขึ้น โดยมีการสะสมเงินเข้า PVD ในช่วงแรก 5% จากนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 10% เมื่ออายุ 31 ปี และเพิ่มขึ้นเป็นอัตราสูงสุด 15% เมื่ออายุ 41 ปี ซึ่งบริษัทมีการสมทบเงินเข้า PVD 5% ต่อปี ในส่วนของ RMF นั้น จะเริ่มลงทุนเมื่ออายุ 31 ปี เพราะเริ่มเสียภาษี โดยลงทุน 15% ของรายได้ทั้งปีที่เสียภาษี ซึ่งจะทำงานไปจนถึงอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีอายุยืนยาวไปจนถึงอายุ 85 ปี



          การเก็บออมเงินอย่างต่อเนื่องใน PVD และ RMF ของกรณีนี้ เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับปานกลาง (ลงทุนในหุ้น 30% และตราสารหนี้ 70%) และได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี จะช่วยให้ได้รับเงินเมื่อเกษียณอายุ 17.74 ล้านบาท ซึ่งพอสำหรับการเกษียณแบบพอเพียง เรียกได้ว่า สำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำงาน เพียงแค่เก็บออมเงินอย่างมีวินัยผ่าน PVD และ RMF ก็มีเงินเพียงพอเพื่อใช้ในช่วงเกษียณอายุ แต่ถ้าอยากจะท่องเที่ยวในช่วงบั้นปลายชีวิต หรือเกษียณแบบสบาย ก็ต้องเก็บออมเงินเพิ่ม เพื่อให้มีเงินเก็บเตรียมไว้สำหรับใช้ในยามเกษียณ 23.28 ล้านบาท โดยสามารถเก็บออมเงินเพิ่มผ่านการลงทุนในกองทุนผสมตั้งแต่อายุ 36 ปี ไปจนถึงอายุ 60 ปี ด้วยยอดเงินลงทุน 15% ของรายได้ ซึ่งจะช่วยให้แผนการเกษียณแบบสบายเป็นจริงได้ค่ะ

          การลงทุนผ่าน PVD และ RMF ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่หลายคนคิด สำหรับการลงทุนใน PVD หากเราต้องการเพิ่มสัดส่วนของเงินสะสมให้มากกว่าที่บริษัทกำหนดไว้ ก็สามารถติดต่อฝ่ายบุคคล โดยสามารถสะสมเงินได้สูงสุด 15% ของรายได้ นอกจากนี้ ในส่วนของนโยบายการลงทุน PVD ของแต่ละบริษัทจะมีนโยบายในการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป โดยอาจมีนโยบายการลงทุนให้เลือกที่หลากหลาย (Employee’s Choice) ถ้าตัวเราเองอายุยังน้อย และรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้สูง ก็สามารถลงทุนใน PVD ที่เน้นลงทุนในหุ้น แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้ไม่มากนัก ก็อาจลงทุนใน PVD ที่มีนโยบายลงทุนแบบผสมซึ่งลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้แทน

          ในส่วนของการลงทุน RMF นั้น แนะนำให้เริ่มลงทุนเมื่อรายได้อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษี หรือประมาณ 26,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เราสามารถเลือกนโยบายการลงทุน RMF ได้หลากหลาย เพราะมีตั้งแต่กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ทองคำ หรือตราสารหนี้ เป็นต้น ทำให้สามารถลงทุนได้ตามระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ และเมื่อต้องการปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุน ก็สามารถใช้กลยุทธ์สับเปลี่ยน (Switching) RMF ได้ เช่น เดิมอายุน้อย รับความเสี่ยงได้สูง จึงเลือกลงทุน RMF ที่เน้นลงทุนในหุ้น แต่เมื่ออยู่ในวัยใกล้เกษียณอายุ ก็สามารถปรับลดระดับความเสี่ยงมาลงทุนใน RMF ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ได้ นอกจากนี้ เพื่อให้การลงทุนผ่าน RMF ทำได้อย่างสม่ำเสมอ ขอแนะนำให้ลงทุนแบบเป็นประจำทุกเดือน (Dollar Cost Averaging) ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เราสามารถลงทุนได้อย่างมีวินัยแล้ว ยังช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้อีกด้วยค่ะ

         จะเห็นว่า การเก็บออมเงินเพื่อให้มีเงินพอใช้ในช่วงเกษียณไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ลงทุนอย่างต่อเนื่องผ่าน PVD และ RMF ก็จะช่วยให้เรามีเงินพอใช้สำหรับเกษียณอายุได้ แต่ถ้าใครที่มีรายได้มากพอที่จะลงทุนเพิ่มเติมผ่านช่องทางอื่นอย่างกองทุนรวม หรือหุ้น ก็จะยิ่งช่วยให้ยอดเงินที่จะมีใช้ในช่วงเกษียณเพิ่มสูงขึ้น และทำให้เราใช้ชีวิตสุขสบายได้อย่างที่ต้องการในช่วงบั้นปลายได้ค่ะ 


ให้คะแนนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า

ธนาคารกสิกรไทย