08 เม.ย. 59

จัดพอร์ตลงทุนแบบกึ่งสำเร็จรูปด้วยกองทุนผสม

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​​​จัดพอร์ตลงทุนแบบกึ่งสำเร็จรูปด้วยกองทุนผสม


“การลงทุนในกองทุนผสมเป็นวิธีที่ช่วยให้เราจัดพอร์ตการลงทุนได้ง่ายและสะดวกสบาย”
– K-Expert -

          ถ้าพูดถึงการจัดพอร์ต หรือการแบ่งสัดส่วนเงินลงทุน นับว่าเป็นขั้นตอนสำคัญในการลงทุนเลยนะคะ เพราะการจัดพอร์ตที่ดีจะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายในการลงทุนได้ไม่ยาก แต่ปัญหาที่มักพบคือ หลายต่อหลายคนเมื่อจัดพอร์ตไปแล้วสักพัก สัดส่วนการลงทุนจะผิดเพี้ยนไปจากเดิมที่ตั้งใจไว้ เพราะราคาของสินทรัพย์ที่ลงทุนอย่างหุ้น หรือทองคำ เปลี่ยนแปลงไป แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดีล่ะ K-Expert มีคำตอบมาฝากค่ะ

          ในการจัดพอร์ตการลงทุน ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญคือ การปรับสัดส่วนการลงทุนให้เป็นไปตามที่วางแผนไว้ (Rebalancing) ยกตัวอย่างเช่น หากเริ่มแรก เราแบ่งเงินลงทุนหุ้น 30% และตราสารหนี้ 70% จากนั้นอีก 6 เดือนต่อมา ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 40% และตราสารหนี้ลดลงเหลือ 60% ดังนั้นจะต้องมีการขายทำกำไรหุ้นออกมา แล้วนำไปลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหุ้นลดลงเหลือ 30% และตราสารหนี้กลับมาอยู่ที่ 70% ตามเดิม การปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนแบบนี้ แนะนำให้ทำทุก 6 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่า พอร์ตการลงทุนของเราจะสร้างผลตอบแทนและเติบโตไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ค่ะ

          แต่ถ้าใครรู้สึกว่า ตัวเองไม่มีเวลาที่จะดูแลพอร์ตการลงทุนมากนัก แต่ใจก็ยังอยากจัดพอร์ต ขอแนะนำอีกหนึ่งตัวเลือกในการจัดพอร์ตแบบกึ่งสำเร็จรูปคือ การลงทุนในกองทุนผสม เพราะกองทุนผสมมีการกระจายเงินลงทุนไปในหลายสินทรัพย์ และนโยบายการลงทุนก็มักกำหนดสัดส่วนการลงทุนของกองทุนไว้ว่า ลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ประเภทอื่นมากน้อยแค่ไหน โดยจุดเด่นของกองทุนผสมคือ ผู้จัดการกองทุนจะคอยปรับสัดส่วนการลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ อย่างถ้าดูจากตัวอย่างข้างต้นที่เมื่อตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นสูงขึ้น ผู้จัดการกองทุนจะขายทำกำไรหุ้นแทนตัวเรา เพื่อให้สัดส่วนเป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ 

          สำหรับวิธีในการเลือกลงทุนกองทุนผสมก็ไม่ยากเลยค่ะ เพียงแค่เลือกกองทุนที่มีการแบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างที่เรากำหนดไว้ โดยถ้ามีหลายกองทุน ก็ลองเปรียบเทียบจากผลการดำเนินงานย้อนหลัง แล้วเลือกกองทุนที่มีผลการดำเนินงานที่ดี อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานย้อนหลังไม่ได้การันตีว่า กองทุนจะทำผลงานได้ดีเหมือนกับในอดีต ดังนั้นเมื่อเราลงทุนกองทุนผสมไปแล้ว ก็อย่าลืมคอยติดตามผลงานของกองทุนที่เราลงทุนว่า ทำได้ดีหรือแย่กว่ากองทุนประเภทเดียวกัน เพราะหากกองทุนทำผลงานได้ไม่ดีนัก จะได้ปรับเปลี่ยนเลือกกองทุนที่สามารถทำผลงานได้ดี เพื่อให้พอร์ตการลงทุนของเราไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ค่ะ

          หวังว่า กองทุนผสมที่ได้แนะนำไปจะเป็นตัวช่วยในการจัดพอร์ตสำหรับเพื่อนๆ ได้นะคะ สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับการลงทุนกองทุนรวม ขอแนะนำ Workshop “เลือกกองทุนอย่างเซียน” ที่จะมาแนะนำวิธีศึกษาและเปรียบเทียบกองทุน หากสนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่  คลิกที่นี่

​​

ให้คะแนนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า

ธนาคารกสิกรไทย