​​​​4 เรื่องที่ต้องเช็กก่อนซื้อประกันรถยนต์

ซื้อประกันรถยนต์ง่ายๆ กับ 4 เรื่องต้องเช็ค เพื่อให้แน่ใจว่า เราได้วงเงินที่คุ้มค่า ครอบคลุมค่าเสียหายครบถ้วน ซ่อมอู่ ซ่อมห้างเป็นอย่างไร มาดูกัน

รู้ไหมว่า ทุกวันนี้อุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน จากสถิติในปี 2017 พบว่า มีการแจ้งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด 86,100 ครั้ง (ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) อุบัติเหตุใกล้ตัวกว่าที่เราคิด การทำพรบ.ภาคบังคับ เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้น การทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจจึงเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน โดยมีสิ่งที่ต้องเช็กก่อนซื้อประกันรถยนต์ดังนี้



1. เช็กประกันที่แถมมากับรถใหม่ป้ายแดง

หากวันนี้เราอยากจะซื้อรถยนต์คันใหม่สักคัน ส่วนใหญ่จะมีโปรโมชันให้เราเลือก เช่น ส่วนลด ของแถม และประกันรถยนต์ ดังนั้น หากเราอยากจะเลือกโปรโมชันเป็นประกันรถยนต์ ก่อนอื่นแนะนำให้ดูตารางกรมธรรม์ความคุ้มครอง โดยพิจารณารายละเอียดดังนี้
• วงเงินความคุ้มครองในกรณีรถยนต์เสียหาย สูญหาย หรือไฟไหม้
• วงเงินความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในกรณีเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
• ค่าประกันตัวผู้ขับขี่ ในกรณีที่เป็นคดีอาญา
หากประกันที่แถมมามีวงเงินความคุ้มครองไม่เพียงพอ แนะนำให้เลือกรับโปรโมชันเป็นของแถมหรือส่วนลดจะดีกว่า แล้วเราค่อยไปเลือกทำประกันรถยนต์ในวงเงินความคุ้มครองตามที่เราต้องการ


2. เช็กจำนวนผู้ขับขี่รถ

หากเราเป็นคนรักรถ เข้าทำนองที่ว่า “รถข้า ใครอย่าแตะ” ถ้ามั่นใจว่าขับรถมือเดียวแน่ๆ แนะนำให้ทำประกันรถยนต์แบบระบุชื่อผู้ขับขี่เพราะจะประหยัดค่าเบี้ยประกันได้มากกว่า โดยส่วนใหญ่แล้วการระบุชื่อผู้ขับขี่จะระบุได้จำนวน 1-2 คน และส่วนลดที่ได้จะคิดตามอายุของผู้ขับขี่ เช่น
อายุ 18-24 ปี จะได้ส่วนลด 5%
อายุ 25-35 ปี จะได้ส่วนลด 10%
อายุ 36 – 50 ปี จะได้ส่วนลด 15%
และหากผู้ขับขี่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จะได้ส่วนลดสูงถึง 20%
โดยหากมีการระบุชื่อผู้ขับขี่ 2 คน ส่วนลดเบี้ยประกันที่ได้รับจะคิดตามผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยที่สุด

แต่ถ้าเราเลือกระบุผู้ขับขี่ไปแล้ว มีเพื่อนหรือญาติมาขอยืมรถเราไปขับ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ บริษัทประกันยังคุ้มครองค่าเสียหายตามหน้าตารางกรมธรรม์อยู่ แต่ทางผู้เอาประกันจะต้องร่วมจ่ายค่าความเสียหายส่วนแรก 2,000 บาท สำหรับทรัพย์สินของบุคคลภายนอก และ 6,000 บาท สำหรับความเสียหายรถยนต์ของเราเองที่เกิดจากการชน ดังนั้น ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เราจะต้องจ่ายเงินอย่างน้อย 8,000 บาท ในการร่วมรับผิดชอบความเสียหายระหว่างเรากับบริษัท แต่ถ้าใช้รถร่วมกันหลายคน แนะนำให้ทำประกันรถยนต์แบบไม่ต้องระบุชื่อผู้ขับขี่จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

3. เช็กเงินสำรองเมื่อต้องเคลม

• ค่าความเสียหายส่วนแรกภาคสมัครใจ (Deduct) มี 2 ลักษณะ คือ ตามความสมัครใจของผู้เอาประกันที่ต้องการจ่ายค่าเบี้ยถูกลง และกรณีที่เรามีประวัติการเคลมหลายครั้งแล้ว บริษัทประกันอาจจะขอให้เราร่วมจ่ายด้วย ยกตัวอย่างกรณีที่มีค่าความเสียหายส่วนแรก (Deduct) 3,000 บาท หมายความว่า ค่าเบี้ยประกันของเราถูกลงไป 3,000 บาท แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุหากเราเป็นฝ่ายผิด แสดงว่าเราสมัครใจรับความเสียหายส่วนแรก 3,000 บาท ร่วมกับบริษัทประกัน

• ค่าความเสียหายแบบไม่มีคู่กรณีภาคบังคับ (Excess) จะเกิดขึ้นเมื่อมีอุบัติเหตุแต่ไม่มีคู่กรณี เช่น ถูกชนแล้วหนี หรือถูกกรีดรถ เป็นต้น เราจะต้องร่วมรับผิดชอบในค่าความเสียหายส่วนแรกที่ 1,000 บาทต่อ 1 เหตุการณ์ แต่กรณีที่เราขับรถชนรั้วหรือเสาไฟฟ้า หากเราสามารถระบุที่เกิดเหตุได้ชัดเจน ในกรณีนี้เราไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าความเสียหายส่วนแรก (Excess) เพราะถือว่าเรามีคู่กรณี ถึงแม้ว่าคู่กรณีจะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตก็ตาม

อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันจะไม่คุ้มครองค่าความเสียหายตามข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัย ในกรณีที่ผู้ขับขี่ไม่มีใบขับขี่หรือเมาสุรา (มีแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 50 ml%)



4. เช็กซ่อมห้างหรือซ่อมอู่ดี

การซ่อมห้าง เหมาะสำหรับรถใหม่และรถที่มีอายุการใช้งานน้อยกว่า 7 ปี แต่จะมีค่าเบี้ยประกันที่สูง สำหรับรถซ่อมห้างจะมีศูนย์บริการที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยและครบวงจร รวมถึงอะไหล่เป็นของแท้ และมีการประกันงานซ่อม สำหรับการซ่อมห้างจะมีการระบุสาขาของศูนย์บริการที่รับซ่อม ดังนั้น เราควรตรวจสอบสาขาของศูนย์บริการจากบริษัทประกันภัยก่อนตัดสินใจ เน้นศูนย์ซ่อมที่สะดวกใกล้บ้านหรือที่ทำงาน และมีหลายสาขาให้เลือกเข้ารับบริการ

การซ่อมอู่ เหมาะสำหรับรถที่มีอายุการใช้งานมานาน และค่าเบี้ยมักจะถูกกว่าซ่อมห้างประมาณ 30% แนะนำให้เลือกอู่ประกันภัยในเครือของบริษัทประกันที่เราสะดวกในการนำรถเข้าซ่อม ซึ่งเป็นอู่ที่มีสัญญาเรียกเก็บเงินค่าซ่อมกับบริษัทประกัน เพราะถ้าเรานำรถไปซ่อมอู่นอกหรืออู่ทั่วไป ข้อควรระวังคือ หากอู่ตีราคาสูงกว่าที่บริษัทประกันกำหนดไว้ เราจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนต่างนั้นเอง

สำหรับการซ่อมห้างหรือซ่อมอู่นั้น หากเราเป็นฝ่ายถูก เราสามารถเรียกร้อง “ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ” ได้จากบริษัทประกันคู่กรณีในขณะที่เรานำรถเข้าซ่อม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการเดินทางระหว่างที่ไม่มีรถใช้ โดยสามารถ เรียกร้องขั้นต่ำได้วันละ 500 – 1,000 บาท ตามแต่ประเภทรถยนต์

ดังนั้น หากเราต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าซ่อมรถ ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ แนะนำให้ทำประกันรถยนต์กับตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยหรือบริษัทที่มีประสบการณ์และน่าเชื่อถือ หรือติดต่อได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีมิจฉาชีพจำนวนมากที่แอบอ้างโทรติดต่อลูกค้าและส่งมอบกรมธรรม์ปลอม โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงเราไม่สามารถเคลมสิทธิ์ต่างๆ ได้