ตลาดหุ้นร่วง ควรถือหรือถอย

เมื่อหุ้นที่เราถือผันผวนไม่เป็นดั่งใจ แถมบางครั้งติดลบแรงอีก เราจะทำอย่างไรไม่ให้ขาดทุนหนักจนติดดอยในช่วงตลาดหุ้นไทยผันผวนเช่นนี้

● ภาวะตลาดหุ้นผันผวน จากมาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED และ ลดขนาดงบดุล (QT) ในปีนี้ทั้งปี ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนหุ้นโดยตรง


● วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ตลาดหุ้นไทย มี Maximum Drawdown อยู่ที่ -58% และใช้เวลา 2 ปี 9 เดือน เพื่อให้ดัชนีที่ปรับตัวลดลงกลับมายังจุดเดิม ซึ่งต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ต้นเหตุอยู่ที่บ้านเรา Maximum Drawdown อยู่ที่ -88.1% และใช้เวลา 23 ปี ในการพาดัชนีกลับมายืนที่ 1,800 จุดเหมือนกับในปี 2537


● ผู้ลงทุนหุ้นโดยตรง หากยังคงถือหุ้นอยู่ ควรเน้นหุ้นที่มีความปลอดภัย (Defensive) หรือลดสัดส่วนหุ้นมาพักเงินไว้ก่อน หากพักเงินไว้ตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป แนะนำกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ที่นอกจากจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว ยังสามารถนำออกมาชำระค่าซื้อหุ้นในอนาคตได้ด้วย



ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ดัชนีหุ้นไทย ตั้งแต่ต้นปี 65 เป็นต้นมา ปิดวันทำการแรกที่ดัชนี 1,670.28 จุด และผันผวนอยู่ในช่วงระหว่าง 1,584.38-1,713.2 จุด (ข้อมูลระหว่าง 4 ม.ค.- 26 พ.ค. 65) หากลงทุนที่ดัชนีปิดทำการวันแรกของปี จะมีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ในช่วง -5.14% ถึง 2.57% ซึ่งถือว่ามีความผันผวนไม่น้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาไม่ถึง 5 เดือน เท่านั้น สำหรับปัจจัยกดดันหุ้นไทยรายตัว คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED และการลดขนาดงบดุล (QT) ทำให้คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว แล้วทางเลือกการลงทุนในอย่างกองทุนรวมจะช่วยอะไรนักลงทุนหุ้นโดยตรงได้บ้าง บทความนี้มีคำตอบ




เกิดอะไรขึ้นกับนักลงทุนเมื่อ FED กำลังจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย

หากมองในภาพรวมของตลาดการเงิน มาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ซึ่งคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทุกนัดของ FED ที่เหลืออยู่อีก 5 ครั้งในปีนี้ รวมถึงการลดขนาดงบดุล (QT) ทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบจะทยอยลดลง ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงต่างๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นในกลุ่ม Emerging Market (รวมประเทศไทย) ตลาดตราสารหนี้ ทองคำ อาจได้รับผลกระทบจากปริมาณเงินที่ทยอยลดลงในครั้งนี้ จะเห็นได้จากการสำรวจผู้จัดการกองทุนรายเดือน (เดือน พ.ค. 65) ของ Bank of America Securities* พบว่า นักลงทุนที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆราวๆ 1 Trillion USD มีการลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) ในตราสารทุนมากที่สุด นับตั้งแต่ พ.ค. 64 และถือเงินสดสูงที่สุด นับตั้งแต่เหตุการณ์ 911 จนถูกขนานนามว่า เป็นตลาดหมีขั้นสุด (Extremely Bear) โดยมีความกังวลจาก การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED และ โอกาสในการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก


ดังนั้น จากมาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและทำ QT ของ FED ที่ส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีความผันผวน ประกอบกับความไม่แน่นอนในสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตลาดหุ้นในปีนี้อาจจะไม่สดใสนัก



สถานการณ์ความผันผวนนี้จะอยู่อีกนานไหม

กลับมาดูที่ตลาดหุ้นไทย ต้องบอกว่าความผันผวนของตลาดหุ้นไทย ไม่ได้ผันผวนมากเทียบกับตลาดหุ้นต่างประเทศ แต่มักจะมีคำถามที่ว่า หุ้นไทยตอนนี้เป็นยอดดอยหรือยัง เป็นเรื่องที่ตอบยาก หากใช้ข้อมูลในอดีตที่เกิดขึ้นแล้ว อย่างเช่น Maximum Drawdown และระยะเวลาจากราคาสูงสุดแล้วกลับไปราคาเดิมหลังภาวะวิกฤต เคยใช้ระยะเวลานานแค่ไหน อาจจะพอทำให้เห็นภาพความผันผวนสูงสุดและหากลงทุนในหุ้นวันนี้จะมีโอกาสถือนานเท่าไหร่ถึงจะไม่ขาดทุนได้


Maximum Drawdown คือ ผลตอบแทนติดลบสูงสุดในแต่ละช่วงเวลา โดยวัดจากราคาสูงที่สุดกับราคาที่ต่ำที่สุดในช่วงเวลาใดๆ จากดัชนีหุ้นไทย มี Maximum Drawdown อยู่ที่ -88.1% และ -58% ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 ตามลำดับ กล่าวง่ายๆ หากลงทุนในหุ้น ณ จุดสูงสุด(ยอดดอย) จะขาดทุนสูงสุดได้ที่ 88.1% และ 58% จากหุ้นไทยใน 2 ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อกลับมามองแล้ว ก็มีความแตกต่างใน 2 วิกฤต วิกฤตต้มยำ สาเหตุเกิดในไทย ทำให้มี Maximum Drawdown สูงกว่าช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จึงควรใช้ Maximum Drawdown ช่วงแฮมเบอร์เกอร์ในการประเมินความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นไทย


อีกข้อมูลที่จะใช้ประเมินสถานการณ์การลงทุนในหุ้น คือ ใช้ระยะเวลานานแค่ไหนจากจุดสูงสุดลงไปจุดต่ำสุด แล้วกลับมาที่จุดสูงสุดเดิม จากข้อมูลผลตอบแทนในอดีตจะพบว่า

- ช่วงแรก คือ วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ดัชนีหุ้นไทยทำจุดสูงสุดราวๆ 1,800 จุด ในช่วงปี 2537 ใช้เวลาราว 4 ปีครึ่ง ทำจุดต่ำสุด แถวๆ 200 จุด ในช่วงปี 2541 แต่ในขาขึ้น ใช้เวลาถึง 18 ปีครึ่ง เพื่อกลับไปที่ดัชนี 1,800 ในปี 2562 รวมแล้วหากลงทุนที่ดัชนีสูงสุดในปี 2537 หากถือลงทุนจนดัชนีกลับมาที่เดิม ต้องรอถึงปี 2562 หรือใช้เวลามากกว่า 23 ปี

- ช่วงที่สอง คือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 ดัชนีหุ้นไทยใช้เวลาจากจุดสูงสุดไปจุดต่ำสุด ประมาณ 1 ปี และจากจุดต่ำสุดไปจุดเดิม ราวๆ 1 ปี 9 เดือน รวมแล้ว ใช้เวลา 2 ปี 9 เดือน หากลงทุนที่จุดดัชนีสูงสุด แล้วถือยาวให้ดัชนีกลับมาที่จุดเดิมหลังช่วงวิกฤติ


หากปัจจุบันสถานการณ์การลงทุนอยู่ในขั้นแย่ที่สุด ก็คือ จะกลายเป็นวิกฤต แปลว่า การถือลงทุนในหุ้นให้มั่นใจว่าไม่ขาดทุน ก็ใช้ตัวเลขในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง คือ 23 ปี หรือ ใช้ตัวเลขแบบวิกฤตไม่หนักมากก็ใช้ตัวเลขช่วงแฮมเบอร์เกอร์ คือ 2 ปีเศษมาใช้ในการประเมินระยะเวลาในการถือหุ้นขั้นต่ำ


สินทรัพย์ประเภทอื่นๆมี Maximum Drawdown เป็นอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น อย่างกองทุน K-SF ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน และหรือเงินฝากในและต่างประเทศ โดยกองทุนคงอายุตราสารเฉลี่ยฯ ไม่เกิน 1 ปี (Portfolio Duration) จะมี Maximum Drawdown ย้อนหลัง 5 ปี (ณ วันที่ 29 เม.ย. 65) อยู่ที่ -0.09% แปลว่า การขาดทุนสูงสุดย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่ -0.09% นั่นเอง หากลองขยับมาเป็นกองทุนผสม (ตราสารหนี้+ตราสารทุน) อีกประเภทที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมาอีก อย่างกองทุนผสม K-GINCOME ที่มีนโยบายการลงทุนต่างประเทศ และมีสัดส่วนผสมระหว่างตราสารหนี้ ตราสารทุน กว่า 3,000 สินทรัพย์ทั่วโลก เพื่อเน้นให้ได้รายได้ประจำสม่ำเสมอ มี Maximum Drawdown ย้อนหลัง 5 ปี (ณ วันที่ 29 เม.ย. 65) อยู่ที่ -22.58% แสดงให้เห็นว่า Maximum Drawdown ของสินทรัพย์เสี่ยงสูงก็จะมีโอกาสขาดทุนได้สูง


ดังนั้น ในภาวะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง ทางเลือกหนึ่งคือการแบ่งเงินลงทุนส่วนหนึ่งมาพักเงินไว้ในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ถ้าพักเงินในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นตามระยะเวลาที่เหมาะสมหรือนานพอ จะช่วยได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากได้



คำแนะนำสำหรับการลงทุนในช่วงตลาดหุ้นไทยผันผวน

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นโดยตรง มีคำแนะนำในช่วงตลาดหุ้นผันผวน ดังนี้

1. เลือกลงทุนในหุ้นต่อ โดยเลือกหุ้นปันผล เก็บไว้ก่อน และหุ้นกลุ่มที่จะได้รับการฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ เช่น กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มอุปโภคบริโภค เป็นต้น

2. ลดน้ำหนักหุ้นเก็งกำไร นำเงินลงทุนมาพักเพื่อรอจังหวะ อย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป สามารถพักได้ใน

2.1 บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ได้อัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี (ข้อมุล ณ วันที่ 5 เม.ย. 65) และยังไม่คำนึงถึงกรณีต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายด้วย

2.2 อีกทางเลือกคือ กองทุนความเสี่ยงต่ำ ที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนเป็นบวกและสูงกว่าเงินฝาก หากมีระยะเวลาในการพักเงินมาก Tips ในการพักเงิน สำหรับลูกค้าของ บล.กสิกรไทย ที่มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แบบ Cash Balance สามารถนำเงินลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นมาเป็นหลักประกันได้ หรือ จะใช้เทคนิคนำเงินลงทุนมาพักไว้ในตราสารหนี้ระยะสั้น ก็ได้ โดยในวันที่ส่งคำสั่งซื้อหุ้น ก็ส่งคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนซึ่งจะได้รับเงินในวันที่ T+1 (1 วันทำการ ถัดจากวันที่ทำรายการขายคืน) เพื่อนำเงินค่าขายคืนกองทุนมาชำระค่าซื้อหุ้นได้ทันในวันที่ T+2


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”


ขอบคุณที่มา ที่มา *https://www.reuters.com/markets/wealth/global-markets-bofa-2022-05-17/

Fund Fact Sheet จาก บลจ.กสิกรไทย ข้อมูล ณ วันที่ 29 เม.ย.65