ทำความรู้จัก Private Asset ทางเลือกลงทุน สู้เงินเฟ้อ

แกะกล่อง ”Private Asset” ทางเลือกลงทุนรูปแบบใหม่ที่มีโอกาสชนะเงินเฟ้อได้

● Private Asset เป็นการลงทุนผ่านสินทรัพย์นอกตลาด แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ Private Equity เป็นการลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาด Private Credit เป็นการให้กู้ยืมเงินนอกตลาด และ Private Real Estate เป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด


● ตัวอย่าง Private Asset ที่มีผลตอบแทนในปีงบประมาณ 2021 (Jul. 2020-Jun.2021) สูงกว่าผลตอบแทนในดัชนี S&P500 คือ เงินบริจาคในมหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐฯ (University Endowment) ที่มีลักษณะเงินก้อนโต และเป็นเงินลงทุนระยะยาว


● ทางเลือก Private Asset ในประเทศไทย คือ การลงทุนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นหุ้นของบริษัทนอกตลาด อสังหาริมทรัพย์นอกตลาด หรือ ลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งจะมีเงินลงทุนขั้นต่ำ และสภาพคล่องในการขาย(ระหว่างทาง) ถึงแม้จะผลตอบแทนดีในช่วงตลาดผันผวน แต่ควรทำความเข้าใจก่อนการลงทุน



นับตั้งแต่สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อสูงในหลายๆประเทศ จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ดำเนินนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุล (QT) ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนอย่างมาก นักลงทุนที่ยังแสวงหาโอกาสในการลงทุนท่ามกลางความผันผวนของราคาตลาด ทางเลือกหนึ่ง คือ Private Asset หรือ การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด แล้ว Private Asset จะช่วยให้เป็นทางเลือกการลงทุนในยุคนี้ได้อย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้



Private Asset คืออะไร

Private Asset คือ การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด ที่ไม่มีการซื้อขายกับบุคคลภายนอก จึงไม่มีราคาซื้อขายในตลาดรอง จึงช่วยลดความผันผวนจากการ mark to market ตามราคาตลาด


โดย Private Asset แบ่งได้ 3 ประเภท คือ Private Equity / Private Credit / Private Real Estate


1.Private Equity

ที่ผู้ลงทุนไทยคุ้นชิน เป็นการลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดฯ โดยกลุ่มเงินลงทุนหรือเจ้าของเพียงไม่กี่คน


2.Private Credit

เป็นการกู้ยืมเงินโดยตรง ซึ่งคำจำกัดความมีความแตกต่างจากการกู้ยืมเงินโดยตรงในประเทศไทยอยู่บ้าง เช่น ในต่างประเทศ จะมี Fund Manager ที่สามารถจับคู่หรือเป็นที่ปรึกษาในการออกหุ้นกู้ให้บริษัทได้ เป็นต้น ในขณะที่ตัวอย่างในประเทศไทย จะเป็นการออกหุ้นกู้เองของบริษัทที่ต้องการเงินลงทุน หรือ การให้ Syndicate Loan ของหลายสถาบันการเงิน เนื่องจากวงเงินสูงมาก ติดข้อกำหนดบางประการของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น


3.Private Real Estate

เป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้อยู่ในตลาดเช่นกัน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ เช่น การลงทุนในอพาร์ทเมนต์ในต่างประเทศ ที่มีค่าเช่าสม่ำเสมอ โดยมีเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์ และกำหนดระยะเวลาลงทุนตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป หรือ เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่จดทะเบียนในตลาดฯ ซึ่งจะมีรายละเอียดในการเลือกลงทุนในอสังหาริมทรัพย์



ทำไม Private Asset ถึงเหมาะจะลงทุนในยุคตลาดผันผวน

ตัวอย่าง Private Equity ในต่างประเทศ เช่น การนำเงินบริจาคของมหาวิทยาลัยไปลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดฯ จากข้อมูลของในปีงบประมาณของ ก.ค. 2563-มิ.ย.2564 (Fiscal Year 2021) หากเปรียบเทียบผลตอบแทนของ Private Equity ของ 6 มหาวิทยาลัยชื่อดัง กับดัชนี S&P 500 ซึ่งมีผลตอบแทนที่ 38% แล้ว พบว่า S&P 500 มีผลตอบแทนต่ำกว่า Private Equity ของ 5 จาก 6 มหาวิทยาลัย อีกทั้ง S&P 500 ยังมีความผันผวนสูงจากราคาตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงเป็นที่มาว่าการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (Private Asset) เป็นทางเลือกการลงทุนในยามตลาดผันผวน และยังได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ

ตารางแสดงผลตอบแทนของเงินบริจาคในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ (University Endowment)

เทียบกับผลตอบแทนดัชนี S&P 500 ที่ 38% (Jul.2020-Jun.2021)



อย่างไรก็ตาม Private Asset ไม่ว่าจะเป็น Private Equity, Private Credit หรือ Private Real Estate ต่างมีสภาพคล่องน้อยกว่าสินทรัพย์ในตลาด หรือใช้เวลาเปลี่ยนเป็นเงินสดนานกว่านั่นเอง รวมถึง เงินลงทุนขั้นต่ำที่สูงกว่า จึงเหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่มีเงินเย็น และรับความเสี่ยงได้สูง ดังนั้น Private Asset จะเป็นหนึ่งในทางเลือกของการลงทุนในยุคนี้



ทางเลือกการลงทุนใน Private Asset ในประเทศไทย

สำหรับตัวอย่างทางเลือก Private Asset ที่ประเทศไทยสามารถลงทุนได้ มีดังนี้

1. ลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดโดยตรง เช่น การลงทุนหุ้นกู้ (ให้กู้ยืมกับกิจการโดยตรง) การลงทุนในบริษัทนอกตลาดฯ รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์นอกตลาดในประเทศไทย อาจจะมีไม่มากเพียงพอที่จะกระจายความเสี่ยง ควรหาช่องทางการลงทุนในต่างประเทศไว้เป็นทางเลือกด้วย


2. ลงทุนในกองทุนรวม ที่เน้นลงทุนใน Private Asset ซึ่งต้องทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เพื่อให้เข้าใจโอกาสในการได้รับผลตอบแทนและความเสี่ยงจาก Private Asset นั้นๆ ด้วย เช่น กองทุนรวมที่มีลักษณะเป็นกองทุนจัดตั้งในประเทศไทย เพื่อไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ (Fund of Fund) โดยกองทุนต่างประเทศนั้น มีนโยบายลงทุนใน Private Asset อย่างไรก็ตาม มีเรื่องต้องรู้ก่อนลงทุนในกองทุนรวมในลักษณะนี้ เช่น เงินลงทุนขั้นต่ำตั้งแต่ 1.0 ล้านบาทขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละกองทุน) หรือมีข้อกำหนดในการขายได้เดือนละ 1 ครั้ง กล่าวคือ ส่งคำสั่งขายภายในวันทำการสุดท้ายของเดือน จะได้รับเงินค่าขายในเดือนถัดไป รวมไปถึงมีการป้องกันจากอัตราแลกเปลี่ยนแบบได้ ป้องกันเต็มจำนวน (Fully Hedge) ป้องกันบางส่วน (Partial Hedge) หรือ ไม่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเลย (Unhedge) ซึ่งจะผู้ลงทุนต้องทราบข้อมูลเหล่านี้ก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อให้การลงทุนได้ผลตอบแทนที่คาดหวังและไม่ติดขัดเรื่องสภาพคล่อง


ไม่ว่าจะเลือกลงทุนในรูปแบบใด การลงทุนนั้น มีความเสี่ยง Private Asset ถึงแม้จะมีผลตอบแทนย้อนหลังที่ดีในปีที่ผ่านมา และช่วยลดความผันผวนของการลงทุนได้ ก็ต้องมีเงินลงทุนในระดับสูง และระยะเวลาในการลงทุนอย่างน้อย 3-5 ปีขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการลงทุน) เพื่อให้เงินลงทุนออกดอกออกผลอย่างที่ต้องการได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก:

https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-10-14/harvard-endowment-trails-peers-with-34-return-on-lower-risk

https://www.nytimes.com/2021/10/15/business/dealbook/college-endowment-funds-harvard.html

https://www.marketwatch.com/story/harvards-endowment-return-is-worse-than-the-s-p-500-and-that-should-be-a-lesson-for-your-own-portfolio-11635138315

http://www.newamgroup.com/what-are-private-assets-.html