จากมติที่ประชุม ครม. ในวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และผ่านมติเสียงข้างมากจากสภาฯ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไปพร้อมๆ กับ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมอย่างมากในประเทศไทย หากมองในมุมมองเรื่องการจัดการเงิน ทรัพย์สินต่างๆ ในฐานะคู่ชีวิต หรือคู่สมรส LGBTQ+ จะทำให้ต้องมีการปรับตัวและวางแผนเรื่องเงินอย่างไรกันบ้าง บทความนี้จะช่วยอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น
ที่มาของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต / สมรสเท่าเทียม
เริ่มมาจาก LGBTQ+ คู่หนึ่งต้องการจดทะเบียนสมรส แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับการจดทะเบียนสมรสสำหรับ LGBTQ+ ตั้งแต่ปี 2555 จึงริเริ่มการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และปรับปรุงมาเรื่อยๆ เนื่องจากการใช้ ร่าง พ.ร.บ. นำมาใช้กับ LGBTQ+ ได้ง่ายกว่า การแก้ไขในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในบางมาตรา จนล่าสุดในการประชุมรัฐสภา รับร่างหลักการ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เรียบร้อย
ร่าง พ.ร.บ.ฯ ช่วยให้คู่รัก LGBTQ+มีสิทธิจัดการเงินอะไรเพิ่มเติม
หลังจากนี้ พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับผ่านสภา จะมีการพิจารณาโดยอ้างอิงฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นฉบับหลักและแปรญัตติ(ปรับปรุงข้อความในร่างฯ) และผ่านสภาฯเพื่อประกาศให้มีผลบังคับใช้จริง จะช่วยให้ LGBTQ+ สามารถ จัดการทรัพย์สิน/มรดก การรับบุตรบุญธรรม สิทธิในการจัดการศพ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ ทั้งสิ้น เสมือนคู่สมรส เช่น หากจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตกัน จะมีสิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่ชีวิต ในขณะมีชีวิตอยู่ หรือกรณีเสียชีวิต จะมีสิทธิในมรดกเช่นเดียวกับคู่สมรส การรับบุตรบุญธรรม ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับการจัดการเงิน แต่บุตรบุญธรรม ถือเป็นทายาทโดยธรรมลำดับหนึ่ง ดังนั้น สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม จะส่งผลต่อการส่งต่อทรัพย์สินของคู่ชีวิตด้วยเช่นกัน ส่วนอีกประเด็น คือ สิทธิในการยินยอมในการรักษาและการจัดการศพ จะช่วยให้ชัดเจนในการยินยอมในการรักษาพยาบาลของอีกฝ่าย รวมถึงสิทธิสวัสดิการใดๆ ในการเบิกค่าใช้จ่ายการทำศพได้ ก็จะทำให้คู่ชีวิตที่จดทะเบียน สามารถทำได้ทันที
ประเด็นที่จะต้องติดตาม
ข้อความที่แตกต่างในร่าง พ.ร.บ. 3 ฉบับ คือ สิทธิสวัสดิการข้าราชการในการรักษาพยาบาลกรณีคู่ชีวิต หรือคู่สมรส LGBTQ+ ในร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม สามารถทำได้ ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่สามารถเบิกได้ สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ มุมของความเท่าเทียมกันในการเป็นคู่สมรส LGBTQ+ ก็ควรให้มีสิทธิได้รับสวัสดิการของรัฐเช่นเดียวกับคู่สมรส ในขณะที่อีกประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ งบประมาณที่จะเพิ่มขึ้น หากคู่สมรส LGBTQ+ มีสิทธิรับสวัสดิการนี้ได้ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาทั้งความเท่าเทียม และงบประมาณที่ต้องรองรับการให้สิทธิส่วนนี้ ซึ่งคงต้องรอให้การพิจารณาของสภาเสร็จสิ้นก่อน
คำแนะนำการจัดการทรัพย์สินของคู่รัก LGBTQ+ หากร่าง พ.ร.บ.ฯ ผ่าน
1.ทำความเข้าใจเรื่อง สัญญาก่อนสมรส สัญญาหลังสมรส
เพื่อกำหนดทรัพย์สินที่มีก่อนสมรส และหลังสมรส เพื่อใช้จัดการทรัพย์สินทั้งก่อน-หลังสมรส รวมถึงความหมายของสินส่วนตัว และสินสมรส เพื่อให้ทราบสิทธิในการจัดการทรัพย์สินสำหรับคู่ชีวิตหรือคู่สมรส LGBTQ+ ตามคำจำกัดความของร่าง พ.ร.บ.ฯ แต่ละฉบับ
2.การจัดการเงินระหว่างสมรส
เช่น การขอสินเชื่อ ในฐานะกู้ร่วมได้ ทำให้เพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อได้ การทำประกันชีวิต จะให้คู่ชีวิต/คู่สมรส LGBTQ+ เป็นผู้รับประโยชน์ ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะคู่ชีวิต รวมถึงการเปิดบัญชีเงินฝากและการลงทุนร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีสิทธิในการลดหย่อนภาษีในฐานะคู่สมรส และค่าลดหย่อนบุตร(บุญธรรม) และสิทธิการยื่นภาษีในฐานะคู่สมรส ที่จะทำให้วางแผนภาษีบุคคลธรรมดาได้มากขึ้น
3.การจัดการเงินกรณีคู่ชีวิต/คู่สมรส LGBTQ+ เสียชีวิต
เช่น การจัดการศพ การจัดการมรดก ในฐานะคู่ชีวิต/คู่สมรส LGBTQ+ ควรวางแผนในรูปแบบการคุยทำความเข้าใจคนในครอบครัว หรือ ทำเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างพินัยกรรม เพื่อลดความขัดแย้งในการจัดการศพและมรดก เช่น ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินส่วนใดบ้าง ให้กับคู่ชีวิต/คู่สมรส LGBTQ+ซึ่งอาจมีความเห็นไม่ตรงกับคุณพ่อคุณแม่ในการจัดการทรัพย์สินของเจ้ามรดก เป็นต้น
ถึงแม้จะมีสิทธิประโยชน์สำหรับคู่ชีวิต หรือ คู่สมรส LGBTQ+ ตามคำจำกัดความของร่าง พ.ร.บ. แต่ละฉบับ แต่ต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องเงินๆทองๆ มากขึ้นในฐานะคู่ชีวิต เช่น กรณีกู้ร่วมในการขอสินเชื่อ จะต้องรับภาระหนี้ของอีกฝ่าย หากคู่ชีวิตไม่สามารถผ่อนชำระได้ ในฐานะผู้กู้ร่วม หรือ กรณีจดทะเบียนหย่า จะต้องมีการจัดการทรัพย์สินว่าอะไรเป็นสินส่วนตัว อะไรเป็นสินสมรส ดังนั้น หาก ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต หรือ สมรสเท่าเทียม มีผลบังคับใช้ ก็ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ก็อยากให้พิจารณาด้วยความรอบคอบในการจดทะเบียนสมรส เนื่องจากยังมีความรับผิดชอบในด้านอื่นๆในฐานะคู่ชีวิต/คู่สมรส LGBTQ+ด้วยเช่นกัน