ผลการดำเนินงานย้อนหลัง กองทุนตราสารหนี้
จากตัวอย่างผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1-6 เดือน ณ 22 ส.ค. 65 โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Morningstar Thailand พบว่า
กองทุนตราสารหนี้ของ KAsset ส่วนใหญ่ มีผลการดำนเนินย้อนหลัง 1 เดือน และ 3 เดือน เป็นบวก โดยกองทุนที่มีอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ที่ลงทุนนานกว่ามักให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า อย่างไรก็ตามแม้กองทุนตราสารหนี้ส่วนใหญ่จะมีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ หรือมีระดับความเสี่ยงกองทุนอยู่ที่ไม่เกินระดับ 4 (จากความเสี่ยงกองทุนทั้งหมด 8 ระดับ) แต่ก็มีความเสี่ยงที่ขาดทุนได้ในระยะสั้น เห็นได้จากผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือน ของบางกองทุนที่ติดลบอยู่

ดูผลการดำเนินงานย้อนหลังเพิ่มเติมได้ที่
www.kasikornasset.com
ทำไมกองทุนตราสารหนี้ ถึงปรับตัวขึ้นในช่วง 1-3 เดือนที่ผ่านมา
โดยธรรมชาติของตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ ฯลฯ แม้ราคามีการขึ้นลงในทุกวันทำการ แต่หากผู้ออกตราสารหนี้ยังคงจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นตามสัญญา ผู้ที่ถือตราสารหนี้นั้นจนครบอายุสัญญาก็จะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนตามสัญญาเช่นกัน
สำหรับกองทุนตราสารหนี้ทั่วไปที่ซื้อขายได้ทุกวันทำการ แม้มีการแจ้ง
“อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้” ที่กองทุนลงทุนอยู่ ซึ่งหากผู้ถือกองทุนสามารถถือลงทุนได้นานกว่าอายุเฉลี่ยดังกล่าว ก็มีโอกาสสูงที่ราคากองทุนตราสารหนี้ที่เคยติดลบจะกลับมาปรับตัวสูงขึ้นจนเป็นบวก จากดอกเบี้ยและเงินต้นที่กองทุนทยอยได้รับคืนจากตราสารหนี้ที่ลงทุน
ยิ่งในช่วงที่ราคาตราสารหนี้มีความผันผวน เช่น ในช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาขึ้น แม้ราคาตราสารหนี้จะปรับตัวลง แต่ผู้ออกตราสารหนี้ไม่มีการผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้น หากถือลงทุนได้นานพอนักลงทุนหรือกองทุนที่ถือตราสารหนี้ก็จะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้น ตามจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในตราสารหนี้นั้น
ทำไมก่อนหน้านี้ กองทุนตราสารหนี้ถึงปรับตัวลง
หากย้อนกลับไปดูราคากองทุนตราสารหนี้ส่วนใหญ่ พบว่าราคากองทุนตราสารหนี้เริ่มมีการปรับตัวลงค่อนข้างมากนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 65
เช่น กองทุน K-FIXED-A ที่จากภาพแสดงราคากองทุน (NAV) ย้อนหลัง 3 ปี ณ 22 ส.ค. 65 พบว่าราคากองทุนเริ่มมีการปรับตัวลงอย่างชัดเจนประมาณ สิ้นเดือน มี.ค. 65 (A) และปรับตัวลงต่ำที่สุดตอนกลางเดือน พ.ค. 65 (B) แล้วทยอยปรับตัวขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่แม้ราคากองทุนตราสารหนี้จะปรับตัวขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังคงต่ำกว่าระดับราคาสูงที่สุดในช่วงปลาย ส.ค. 64 (C)
หนึ่งในสาเหตุที่ราคากองทุนตราสารหนี้เริ่มมีการปรับตัวลงค่อนข้างมากในช่วงสิ้น มี.ค. 65
เนื่องจากธนาคารกลางหลักของโลกอย่าง FED (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) เริ่มมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายพร้อมส่งสัญญาณว่าจะมีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง โดย FED มีการขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 65 (นับตั้งแต่ ธ.ค. 61)
ซึ่งการที่ดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวขึ้น จะทำให้ตราสารหนี้ที่กำลังจะออกใหม่มีโอกาสให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าตราสารหนี้เดิมที่มีอยู่ในตลาด ทำให้ราคาตราสารหนี้และกองทุนตราสารหนี้มีการปรับตัวลงนั่นเอง
อย่างไรก็ตามแม้ราคากองทุนตราสารหนี้จะปรับตัวขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ ณ 22 ส.ค. 65 ตลาดและนักลงทุนยังมีความกังวลว่า FED อาจยังต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบ 20-21 ก.ย. 65 อยู่ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแตะ 3%
ซึ่งการที่ Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้น แสดงว่าราคาตราสารหนี้ในตลาดมีการปรับตัวลง (เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาลงทุนใหม่ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น เมื่อถือจนครบอายุตราสารหนี้) ซึ่งอาจส่งผลให้ราคากองทุนตราสารหนี้ปรับตัวลงได้
อีกทั้งการที่
Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นโดยรวมเช่นกัน เนื่องจากผู้ลงทุนอาจเลือกเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น โดยย้ายเงินลงทุนมาจากสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างหุ้นสามัญ ทำให้ตลาดหุ้นโดยรวมอาจปรับตัวลง หรือปรับตัวขึ้นไม่มากนักแม้มีปัจจัยบวกอื่นเข้ามาก็ตาม
ความเคลื่อนไหวการลงทุนอื่น ที่น่าสนใจ
22 ส.ค. 65 ตลาดหุ้นหลักของสหรัฐฯ มีการปรับตัวลดลง เช่น ดัชนี Nasdaq -2.55% S&P500 -2.14% Dow Jones - 1.91%เทียบกับวันก่อนหน้า จากการที่นักลงทุนกลังวลว่า FED อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ประกอบกับเป็นช่วงใกล้การประชุม Jackson Hole วันที่ 25-27 ส.ค. ซึ่งเป็นการประชุมสัมมนาวิชาการประจำปี ที่ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีคลัง รวมทั้งบรรดานักวิชาการและนักลงทุนชั้นนำในตลาดการเงินทั่วโลก โดยจะมุ่งอภิปรายในประเด็นเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ทำให้นักลงทุนจับตาทิศทางนโยบายทางการเงินที่อาจส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นในการประชุมครั้งนี้ ทำให้ช่วงก่อนการประชุมตลาดหุ้นมีความผันผวน
ในวันเดียวกัน ตลาดหุ้นยุโรป มีการปรับตัวลดลง เช่น ดัชนี Euro Stoxx 50 -1.93%เทียบกับวันก่อนหน้า ที่นอกจากเกิดจากความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของ FED (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) และ ECB (ธนาคารกลางยุโรป) แล้ว ยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับปริมาณก๊าซที่ตึงตัวจากรัสเซีย และแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอด้วย
23 ส.ค. 65 ในช่วงเช้า ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจากความกังวลว่า FED อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน โดยเมื่อปิดตลาด มีหุ้นเอเชียบางตลาดที่ปรับตัวลง อย่างตลาดหุ้นญี่ปุ่น เช่น TOPIX -1.06% ตลาดหุ้นจีน เช่น China A50 -0.74% Hang Seng -0.78%เทียบกับวันก่อนหน้า ส่วนตลาดที่ปิดบวก เช่น ตลาดหุ้นไทย SET +1.10% ตลาดหุ้นเวียดนาม VN Index +0.82% ตลาดหุ้นอินเดีย Nifty 50 +0.50%เทียบกับวันก่อนหน้า
กองทุนหุ้น ที่ได้รับผลกระทบ
กองทุนหุ้นและกองทุนผสมที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลง จะเป็นกองทุนที่มีการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อย หลักๆ ขึ้นกับสัดส่วนที่ลงทุนและนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุน เช่น ณ 22 ส.ค. 65
• กองทุนหลักของ K-US500X (iShares Core S&P 500 ETF) ปรับตัวลง -2.10%เทียบกับวันก่อนหน้า
• กองทุนหลักของ K-USXNDQ (Invesco QQQ Trust) ปรับตัวลง -2.63%เทียบกับวันก่อนหน้า
• กองทุนหลักของ K-USA (US Advantage) ปรับตัวลง -2.97%เทียบกับวันก่อนหน้า
• กองทุนหลักของ K-CHANGE (Baillie Gifford Positive Change) ปรับตัวลง -3.08%เทียบกับวันก่อนหน้า
สำหรับกองทุนผสมต่างประเทศ แม้มีการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่ด้วยนโยบายการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลากหลาย ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยข้อมูล ณ 22 ส.ค. 65 กองทุนหลักของ K-GINCOME (JPM Global Income) ปรับตัวลง -0.65% และกองทุนหลักของ K-GA (BGF Global Allocation) ปรับตัวลง -1.06% เทียบกับวันก่อนหน้า เป็นต้น
คำแนะนำการลงทุน สำหรับกองทุนตราสารหนี้
● สำหรับผู้ที่ถือกองทุนตราสารหนี้อยู่ หรือต้องการลงทุนเพิ่ม
แนะนำถือลงทุนต่อหรือเลือกลงทุน ตามระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะสมหรือไม่น้อยกว่าอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในแต่ละกองทุน เพื่อรอให้ราคากองทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นจนกลับมากำไร และนำกำไรที่ได้รับไปลงทุนต่อในทางเลือกที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น
o กองทุน K-SF ที่ควรมีระยะเวลาการลงทุนไม่น้อยกว่า 3 เดือน
o กองทุน K-CBOND ที่ควรมีระยะเวลาการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ปี
o กองทุน K-FIXED ที่ควรมีระยะเวลาการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ปี 6 เดือน
● สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของกองทุนตราสารหนี้ทั่วไปและตลาดหุ้น
แนะนำพักเงินในกองทุน K-CASH เพื่อรอหาโอกาสการลงทุนอีกครั้ง
คำแนะนำการลงทุน สำหรับกองทุนหุ้น
● ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ อยู่ (เช่น K-USA, K-USXNDQ)
แนะนำให้ถือต่อและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่มยังไม่แนะนำให้ลงทุนตอนนี้ ควรรอประเมินสถานการณ์ โดยเฉพาะการประชุม Jackson Hole วันที่ 25-27 ส.ค. และการประชุม FED วันที่ 20-21 ก.ย. นี้
● สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้หรือเป็นเงินลงทุนส่วนที่รับความเสี่ยงได้
แนะนำพิจารณาทางเลือกในการทยอยลงทุนกองทุนหุ้นจีน (เช่น K-CHX, K-CHINA, K-CCTV) กองทุนหุ้นเวียดนาม (เช่น K-VIETNAM) กองทุนหุ้นญี่ปุ่น (เช่น K-JP, K-JPX) หรือกองทุนหุ้นไทย (เช่น K-STAR) เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, Morningstar Thailand, Infoquest
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”