การเปลี่ยนแปลงราคากองทุนหลักของ K-USA ณ 1 ก.ย. 65 ดังกล่าว ส่งผลให้ราคากองทุน K-USA ณ 1 ก.ย. 65 ที่ประกาศเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา -6.45% เทียบกับวันก่อนหน้า
ในขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป อย่างดัชนี Euro Stoxx 50 ณ 1 ก.ย. 65 ก็ปรับตัวลดลง -1.72% เทียบกับวันก่อนหน้า โดยกองทุน Allianz Europe Equity Growth ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ K-EUROPE ราคาปรับตัวลง -3.16% เทียบกับวันก่อนหน้า และปรับตัวลง -11.79% เทียบกับเดือนก่อนหน้า
ซึ่งส่งผลให้ราคากองทุน K-EUROPE ณ 1 ก.ย. 65 -2.94% เทียบกับวันก่อนหน้า แต่ดัชนี Euro Stoxx 50 ณ 2 ก.ย. 65 กลับมา +2.54% เทียบกับวันก่อนหน้า เป็นวันแรกในรอบ 6 วันทำการ จากความกังวลที่เปลี่ยนไปในการขึ้นดอกเบี้ยของ FED หลังสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขการว่างงานที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดหุ้นยุโรปจะเริ่มปรับตัวขึ้น แต่ก็ยังคงมีความผันผวนสูงอยู่ ปัจจัยหลักเกิดจากมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ ของนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงยังไม่แนะนำให้ลงทุนเพิ่ม
ส่วนกองทุน K-OIL ณ 31 ส.ค. 65 และ 1 ก.ย. 65 ปรับตัวลง -3.31% และ -3.13% เทียบกับวันก่อนหน้า ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 2.94 ดอลลาร์ หรือ 3.3% ปิดที่ 86.61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ ณ 1 ก.ย. 65 กองทุน LO Funds IV - All Roads Enhanced ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ K-ALLENHANCE-UI ราคาปรับตัวลง -5.19% เทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยราคากองทุน K-ALLENHANCE-UI ณ 31 ส.ค. 65 -0.54% เทียบกับวันก่อนหน้า
ทำไมกองทุน K-USA ถึงปรับตัวลดลง
สาเหตุที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลง เนื่องจาก
● การขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อของ FED
นักลงทุนกังวลว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงในการประชุม FED วันที่ 20-21 ก.ย. นี้ ซึ่งจะเป็นการกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากการแถลงของคุณ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ณ การประชุมที่ Jackson Hole ว่าเป้าหมายหลักของ FED ในตอนนี้คือ การควบคุมเงินเฟ้อจนกว่า FED จะมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%
โดย FED มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในระยะยาว และไม่จำเป็นต้องเร่งรีบลดอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงก็ตาม ส่งผลให้นักลงทุนเปลี่ยนมุมมองการใช้นโยบายการเงินของเฟดในระยะ 1 ปีข้างหน้าไปโดยสิ้นเชิง
● การว่างงาน
นักลงทุนยังกังวลอีกว่า ตัวเลขภาคแรงงานที่ออกมาแข็งแกร่งจากรายงานตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 232,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 245,000 ราย จะผลักดันให้ FED เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
ปัจจัยดังกล่าวทำให้นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยและยังเพิ่มแรงกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนอีกด้วย ซึ่งจะกดดัน ตลาดหุ้นทั่วโลก โดยความกังวลดังกล่าวทำให้นักลงทุนลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลง และส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ย่อตัวลงมา
ส่วนสาเหตุที่กองทุน US Advantage Fund ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ K-USAปรับตัวลดลง หากพิจารณาหุ้น 10 อันดับแรก ที่กองทุนหลักของ K-USA ลงทุนมากที่สุด ณ 31 ก.ค. 65 คิดเป็นสัดส่วนรวม 57.04% ของมูลค่ากองทุน พบว่า ส่วนใหญ่ราคาปรับตัวลง โดยมีรายละเอียดตามตารางด้านล่าง

จากตารางพบว่า ณ 1 ก.ย. มีอยู่ 7 หุ้น จาก 10 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนรวม 38.76% ของมูลค่ากองทุน ที่ราคาปรับตัวลงเทียบกับวันก่อนหน้า โดยมีอยู่ 5 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนรวม 28.78% ของมูลค่ากองทุน ที่ราคาปรับตัวลงมากกว่า 4% เทียบกับวันก่อนหน้า ได้แก่
● Snowflake Inc ผู้ให้บริการระบบ Cloud และเน้นจัดการฐานข้อมูล
● ASML Holding NV ผู้วิจัยและพัฒนาเครื่องจักรที่ใช้สำหรับการพิมพ์ลายลงบนชิป
● Datadog Inc ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมอนิเตอร์และเก็บข้อมูลความมั่นคงปลอดภัย
● Veeva Systems Inc ผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์เทคโนโลยีคลาวด์สำหรับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ทั่วโลก ซึ่งราคาปรับตัวลงแรงกว่าหุ้นอื่น หลังการรายงานผลประกอบการ แม้ว่าไตรมาส 2 จะทำได้ดีกว่าที่ตลาดคาด แต่มุมมองในช่วงเวลาที่เหลือของปีต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ จึงเกิดแรงเทขายออกมา
● Cloudflare Inc ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ สร้างแพลตฟอร์มคลาวด์ที่ให้บริการเครือข่ายหลากหลายแก่ธุรกิจ
จะเห็นว่ากองทุน K-USA เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบเชิงรุก (active management) จึงมีความผันผวนสูง และราคาสามารถปรับขี้นลงได้แรงกว่าดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดังนั้น นักลงทุนควรหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสาร อัปเดตสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างมีสติ
ทำไมกองทุนยุโรปและน้ำมันถึงปรับตัวลง
สาเหตุที่ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 5 แตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ เนื่องจากตลาดหุ้นยุโรปถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรป ความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตพลังงาน อัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุก โดยตลาดปรับตัวรับโอกาส 80% ที่คาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 8 ก.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับ 50% ที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ส่วนสาเหตุที่สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงเนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า การที่รัฐบาลจีนสั่งล็อกดาวน์เมืองใหญ่หลายแห่งอย่างเมืองกวางโจว เซินเจิ้น เฉิงตู เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลงไปด้วย
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ว่า การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านอาจมีความคืบหน้า ซึ่งจะเป็นการปูทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาดโลก และกดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง
มุมมองการลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ
● KAsset ยังคงมุมมองให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยผลจากการดำเนินนโยบายที่ตึงตัวต่อเนื่องของ FED เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูง จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงแนวโน้มการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังถูกกดดันเพิ่มเติม ซึ่งเป็นปัจจัยที่จำกัดการปรับตัวขึ้น (Upside) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะนี้
คำแนะนำการลงทุน
● ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ เช่น K-USA, K-USXNDQ, K-US500X, K-USA-SSF, KUSARMF อยู่ แนะนำให้ถือต่อและรอประเมินสถานการณ์ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม ยังไม่แนะนำให้ลงทุนตอนนี้
● ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นยุโรปอยู่ เช่น K-EUROPE, K-EUSMALL แนะนำให้หาจังหวะขายคืนหรือลดสัดส่วนลงหากมีกำไร ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม ไม่แนะนำให้ลงทุน
● ผู้ที่ถือกองทุน K-OIL อยู่ ให้พิจารณาขายคืนทั้งหมดหากมีกำไร ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม ไม่แนะนำให้ลงทุน
● สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ แนะนำพิจารณาทางเลือกในการทยอยลงทุนในกองทุนหุ้นจีน (เช่น K-CHX, K-CHINA) หรือหากถืออยู่แนะนำถือลงทุนต่อ แต่ควรเป็นเงินที่สามารถลงทุนระยะยาวได้ เนื่องจากตลาดหุ้นจีนยังคงมีความผันผวน
● สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แนะนำพักเงินในกองทุน K-CASH เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุน อีกครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, RYT9.com, Infoquest
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”