วิธีทำประกันบำนาญ ให้มีเงินพอใช้หลังเกษียณ

ตัวช่วยลดหย่อนภาษีอย่างสบายใจ แถมยังมีเงินใช้ตามที่ต้องการหลังเกษียณ




"

• ประกันบำนาญเป็นตัวช่วยลดหย่อนภาษีอย่างสบายใจสำหรับคนที่ไม่ชอบลงทุน เพราะสามารถนำค่าเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาท

• สาเหตุที่ควรสร้างกระแสเงินสดในวัยเกษียณด้วยประกันบำนาญ เพราะมั่นใจได้ว่าหลังเกษียณเงินไม่หมดก่อนเสียชีวิต อัตราผลตอบแทน (IRR) สูงกว่าประกันสะสมทรัพย์ทั่วไป ยิ่งรับบำนาญเร็ว และยิ่งอายุยืน จะยิ่งคุ้ม รวมถึงค่าเบี้ยไม่สูง ถ้าเริ่มทำเร็ว


• ออกแบบสร้างเงินบำนาญหลังเกษียณตามที่ต้องการได้ด้วยการตั้งเป้าหมายรายได้หลังเกษียณต่อเดือน คิดเป็นต่อปี เช็กเงื่อนไขการจ่ายเงินบำนาญรายงวด คำนวณทุนประกันที่ต้องทำ และประเมินค่าเบี้ยที่ต้องจ่าย

"


คนที่ชอบเก็บเงินด้วยประกัน แต่ไม่ชอบลงทุน และต้องการลดหย่อนภาษีด้วยความสบายใจ ประกันบำนาญช่วยได้ เพราะสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนไว้ใช้หลังเกษียณได้ ซึ่งเราสามารถออกแบบสร้างเงินบำนาญที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังสามารถนำค่าเบี้ยที่จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ในกรณีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำเบี้ยประกันบำนาญมาลดหย่อนได้สูงสุดถึง 300,000 บาทด้วย ส่วนการสร้างกระแสเงินสดที่ว่าทำได้อย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้


ทำไมถึงควรสร้างกระแสเงินสดในวัยเกษียณด้วยประกันบำนาญ


สาเหตุที่ควรสร้างกระแสเงินสดในวัยเกษียณด้วยประกันบำนาญ

- มั่นใจได้ว่าหลังเกษียณเงินไม่หมดก่อนเสียชีวิตแน่ๆ เพราะประกันบำนาญจ่ายเงินให้เราเป็นรายงวด ต่างจากเงินที่ได้รับจากประกันสะสมทรัพย์ กองทุน RMF, SSF หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ให้เป็นเงินก้อน ซึ่งหากบริหารจัดการไม่ดี เงินอาจจะหมดก่อนเสียชีวิตได้

- อัตราผลตอบแทนสูงกว่าประกันสะสมทรัพย์ทั่วไป อัตราผลตอบแทนที่ได้รับ IRR (เสมือนผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ได้รับจากประกันชีวิต) จากประกันบำนาญอยู่ที่ประมาณ 2.5-3% ต่อปี ขึ้นอยู่กับแบบประกัน เพศ อายุ และทุนประกัน ซึ่งสูงกว่าประกันสะสมทรัพย์ทั่วไป

- ยิ่งรับบำนาญเร็ว และยิ่งอายุยืน จะยิ่งคุ้ม หากเลือกแบบที่รับเงินบำนาญเร็ว เช่น รับบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปี และมีอายุยืนก็จะยิ่งคุ้ม ทั้งนี้ ลองคำนวณดูว่าปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่ของเรามีอายุเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไหร่ แล้วบวกเพิ่มไปอีกประมาณ 5-7 ปี ก็จะเป็นอายุเฉลี่ยของเรา เพราะจากสถิติในช่วงกว่าศตวรรษที่ผ่านมาระบุว่า คนเราจะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกรุ่น โดยรุ่นลูกจะมีอายุยืนกว่ารุ่นพ่อแม่ประมาณ 5-7 ปี

- ค่าเบี้ยไม่สูง ถ้าเริ่มทำเร็วตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น เริ่มทำตั้งแต่อายุ 30 ปี ถ้าทำประกันที่ให้เงินบำนาญเท่ากัน คนที่อายุน้อยกว่าจะจ่ายเบี้ยในจำนวนที่น้อยกว่าคนที่อายุมากกว่า เป็นการทยอยออมเงินเพื่อเก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณ


ประกันบำนาญแบบไหนเหมาะกับใคร


แบบประกันบำนาญในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบคือ

1. แบบล็อกจำนวนงวดที่จ่าย


เป็นการล็อกจำนวนปีที่ต้องจ่ายเบี้ยประกัน เช่น จ่ายเบี้ย 1 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี แล้วรับเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปี หรือ 60 ปี ไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือ 90 ปี หรือ 99 ปี ขึ้นอยู่กับแบบประกัน ยกตัวอย่าง จ่ายเบี้ย 5 ปี แล้วเริ่มรับเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปี ไปจนถึงอายุ 85 ปี เป็นต้น

โดยประกันบำนาญแบบล็อกจำนวนงวดที่จ่าย เหมาะกับคนใกล้เกษียณที่มีเงินก้อนพร้อมนำมาบริหารจัดการ เพื่อให้มีเงินใช้ไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

2. แบบล็อกปีสุดท้ายที่จ่าย


เป็นการจ่ายเบี้ยประกันไปเรื่อยๆ แต่ล็อกปีสุดท้ายที่ต้องจ่ายไว้โดยดูจากอายุที่กำหนด เช่น จ่ายเบี้ยไปจนถึงอายุ 59 ปี หรือ 60 ปี แล้วรับเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 60 ปี ไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือ 90 ปี หรือ 99 ปี ขึ้นอยู่กับแบบประกัน ยกตัวอย่าง จ่ายเบี้ยตั้งแต่วันที่เริ่มทำประกันบำนาญไปจนถึงอายุ 60 ปี แล้วเริ่มรับเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 60 ปี ไปจนถึงอายุ 90 ปี เป็นต้น

โดยประกันบำนาญแบบล็อกปีสุดท้ายที่จ่าย เหมาะกับคนอายุน้อย ยังไม่มีเงินก้อน แต่ต้องการทยอยเก็บเงินไปเรื่อยๆ เพื่อเอาไว้ใช้ในวัยเกษียณ


ออกแบบสร้างเงินบำนาญหลังเกษียณตามที่ต้องการได้อย่างไร


วิธีออกแบบสร้างเงินบำนาญหลังเกษียณตามที่ต้องการทำได้ดังนี้

- ตั้งเป้าหมายว่าอยากได้รายได้หลังเกษียณที่เดือนละเท่าไหร่ รวมได้ปีละเท่าไหร่

- เช็กเงื่อนไขการจ่ายเงินบำนาญรายงวดของประกันบำนาญที่สนใจว่าจ่ายในอัตรากี่เปอร์เซ็นต์ของทุนประกัน

- คำนวณทุนประกันที่ต้องทำเพื่อให้ได้รับเงินบำนาญรายงวดตามที่ต้องการ

- เช็กค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายเพื่อประเมินความสามารถและความเป็นไปได้ในการสร้างเงินบำนาญตามที่ต้องการ

ยกตัวอย่าง


เพศชาย อายุ 40 ปี ตั้งเป้าหมายมีรายได้หลังเกษียณเดือนละ 50,000 บาท ปีละ 600,000 บาท หากทำประกันชีวิตเพื่อบำนาญแบบลดหย่อนได้ A85/5 ซึ่งมีเงื่อนไขจ่ายเงินบำนาญรายงวด 20% ของทุนประกัน ดังนั้น จะต้องทำประกันบำนาญที่ทุนประกัน 3,000,000 บาท และจ่ายเบี้ยปีละ 1,786,980 บาท* รวม 5 ปีเป็นเงิน 8,934,900 บาท เพื่อให้ได้รับเงินบำนาญปีละ 600,000 บาท ตั้งแต่อายุ 55 ปีไปจนถึงอายุ 85 ปีตามที่ต้องการ โดยหากมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 70 ปี จะได้รับบำนาญรวม 9,000,000 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มกับค่าเบี้ยที่จ่ายไป เงินบำนาญที่ได้รับหลังจากนั้นจนถึงอายุ 85 ปี ถือเป็นกำไร

หากมองว่าค่าเบี้ยประกันบำนาญที่จ่ายรายปีค่อนข้างสูง อาจใช้วิธีทยอยทำประกันบำนาญ 3 ฉบับ ทุกๆ 5 ปี ที่ทุนประกันฉบับละ 1,000,000 บาท รวมทุนประกัน 3 ฉบับ 3,000,000 บาท เพื่อให้มีรายได้หลังเกษียณรวมเดือนละ 50,000 บาท ปีละ 600,000 บาทตามที่ต้องการได้เช่นกัน จากตัวอย่างข้างต้น

เพศชาย อายุ 40 ปี ทำประกันบำนาญฉบับที่ 1 ที่ทุนประกัน 1,000,000 บาท จะจ่ายเบี้ยปีละ 595,660 บาท* รวม 5 ปีเป็นเงิน 2,978,300 บาท

เมื่ออายุ 45 ปี หลังจ่ายเบี้ยประกันฉบับแรกครบแล้ว ทำประกันบำนาญฉบับที่ 2 ที่ทุนประกัน 1,000,000 บาท จะจ่ายเบี้ยปีละ 685,360 บาท* รวม 5 ปีเป็นเงิน 3,426,800 บาท
และเมื่ออายุ 50 ปี ทำประกันบำนาญฉบับที่ 3 ที่ทุนประกัน 1,000,000 บาท จะจ่ายเบี้ยปีละ 786,140 บาท* รวม 5 ปีเป็นเงิน 3,930,700 บาท

รวมเบี้ยประกันบำนาญที่จ่ายทั้งหมด 3 ฉบับอยู่ที่ 10,335,800 บาท ซึ่งสูงกว่าการทำประกันบำนาญฉบับเดียวตอนอายุ 40 ปีที่ทุนประกัน 3,000,000 บาท อยู่ที่ 1,400,900 บาท (= 10,335,800 - 8,934,900 บาท)

ทั้งนี้ หากเทียบกับการนำเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปลงทุนทำหอพักหรือซื้อคอนโดฯ เพื่อให้ได้รับค่าเช่ากลับมาทุกเดือน เทียบเท่ากับการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนปีละไม่น้อยกว่า 6% ซึ่งจะต้องลงทุน ลงแรง แถมรายได้ที่ได้รับก็มีความไม่แน่นอนสูง เพราะไม่รู้ว่าจะมีคนมาเช่าอยู่ทุกห้องไหม เช่าอยู่ตลอดไหม และจะเก็บค่าเช่าได้หรือไม่ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงที่สูงกว่าและค่าเช่าที่ว่ายังถือเป็นเงินได้ที่เสียภาษีอีกด้วย แต่ประกันบำนาญการันตีได้แน่ๆ ว่าจะได้รับกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอในจำนวนที่แน่นอนและเงินที่ได้รับไม่ต้องเสียภาษี

ชีวิตวัยเกษียณจะเป็นอย่างไร เราสามารถออกแบบเองได้ นอกจากการออมเงินและลงทุนระยะยาวเพื่อเป็นเงินก้อนไว้ใช้ตอนเกษียณแล้ว การออกแบบสร้างเงินบำนาญที่แน่นอนไว้ใช้จ่ายตามที่ต้องการด้วยประกันบำนาญเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพื่อชีวิตวัยเกษียณที่มั่นคงและแน่นอน
*เบี้ยประกันสำหรับเพศชาย อายุ 40 ปี กลุ่มอาชีพ 1, 2

คำเตือน : โปรดศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
เมืองไทยประกันชีวิต, Brand Buffet



คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH TRAINER สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®
Back to top