ประเด็นร้อน : กนง. เคาะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ผลพวงจากเงินเฟ้อที่ยังสูง

ผลประชุมกนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เพื่อสกัดเงินเฟ้อไทย ทำให้ตลาดหุ้นไทยอยู่ในแดนบวก ด้านกองทุนตราสารหนี้ได้รับผลกระทบจากแรงกดดันนี้ปิดลบตามลำดับ

ประเด็นร้อน : กนง. เคาะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ผลพวงจากเงินเฟ้อที่ยังสูง

Highlight


0:00 สรุปประชุมการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของกนง.

2:45 ผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย

4:45 มุมมองการลงทุน

5:55 คำแนะนำการลงทุน




● คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1% เป็น 1.25%


● คณะกรรมการฯ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลง จากที่ได้เคยประมาณการไว้ในการประชุมเดือนกันยายน โดยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2% ขณะที่ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 3.7%


● อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 คาดไว้ที่ 6.3% ส่วนปี 2566 คาดไว้ที่ 3.0% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร) ปี 2565 คาดไว้ที่ 2.6% ส่วนปี 2566 คาดไว้ที่ 2.5%




อัปเดตข่าว/สถานการณ์


เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1% เป็น 1.25% โดยมองว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ดีและกระจายทั่วถึงมากขึ้น จึงเป็นแรงส่งสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวที่ 3.2% ลดลงจากประมาณการในการประชุมเมื่อเดือนกันยายนซึ่งเคยคาดไว้ที่ 3.3% ขณะที่ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 3.7% จากก่อนหน้านี้เคยคาดไว้ที่ 3.8% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 คาดไว้ที่ 6.3% ส่วนปี 2566 คาดไว้ที่ 3.0% เพิ่มขึ้นจากที่เคยประมาณการไว้ตอนเดือนกันยายนที่ 2.6% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร) ปี 2565 คาดไว้ที่ 2.6% ส่วนปี 2566 คาดไว้ที่ 2.5% เพิ่มขึ้นจากที่เคยประมาณการไว้ตอนเดือนกันยายนที่ 2.4%

คณะกรรมการมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงกว่าประมาณการครั้งก่อนจากราคาพลังงานในประเทศ แต่มีแนวโน้มลดลงและกลับสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับประมาณการครั้งก่อน แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนและการปรับราคาพลังงานในประเทศ


ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว


ตลาดหุ้นไทยตอบรับในเชิงบวก โดยดัชนี SET เปิดตลาดช่วงบ่ายยังคงซื้อขายในแดนบวกต่อเนื่องจากช่วงเช้า และปิดตลาดที่ระดับ 1,635.36 จุด เพิ่มขึ้น +0.68% จากวันก่อนหน้า

ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าสู่ระดับ 35.23 บาทต่อดอลลาร์ (ณ วันที่ 30 พ.ย. 2565 เวลา 17.30 น.) สะท้อนการตอบรับมุมมองการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าการขึ้นก่อนหน้านี้ และรับข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะที่ตลาดตราสารหนี้รับข่าวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ในเชิงลบ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นมาที่ 2.76%จากวันก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.72% (29 พ.ย. 2565) ซึ่งส่งผลให้ราคากองทุนที่ลงทุนตราสารหนี้ไทย มีการปรับตัวลง เช่น กองทุน K-CBOND-A ปรับตัวลง -0.0346%เทียบกับวันก่อนหน้า และกองทุน K-FIXED-A ปรับตัวลง -0.1086%เทียบกับวันก่อนหน้า


มุมมองการลงทุน


จำนวนนักท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่าช่วยลดแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าก่อนหน้านี้ลงไป เช่น ต้นทุนการนำเข้าสินค้า ราคาพลังงาน

ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความน่าสนใจเนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ค่อยเป็นค่อยไปสร้างแรงกดดันเพียงเล็กน้อย พร้อมมุมมองการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ลดลง ขณะที่การท่องเที่ยวและการบริโภคกลับมาเป็นแรงส่งที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากกว่าปัจจัยกดดันอื่น เช่น เศรษฐกิจโลกชะลอตัว การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ฯลฯ

ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยยังมีแรงกดดันจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้ออยู่ แต่แรงกดดันลดลงไปมากสะท้อนผ่านระดับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยที่ปรับตัวขึ้นมาก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สะท้อนว่าได้รับรู้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งสหรัฐฯ และไทยไปมากแล้ว


คำแนะนำการลงทุน


ผู้ที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุนหุ้นไทย เช่น K-STAR, K-BANKING เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ผู้ที่ต้องการรับผลตอบแทนระยะยาวแต่ยังกังวลกับความผันผวน แนะนำลงทุนกองทุนผสม เช่น กองทุน K-PLAN2 ที่มีการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 30% และลงทุนต่างประเทศไม่เกิน 30% หรือกองทุน K-GINCOME-A(A) ที่กระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก ช่วยลดความผันผวนและความเสี่ยงจากการลงทุนสินทรัพย์ที่กระจุกตัว

ผู้ถือกองทุนตราสารหนี้ แนะนำถือลงทุนตามระยะเวลาที่แนะนำเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนและลดความเสี่ยงที่จะขาดทุน เช่น กองทุน K-CBOND-A แนะนำถือลงทุน 1 ปีขึ้นไป กองทุน K-FIXED-A แนะนำถือลงทุน 1 ปี 6 เดือนขึ้นไป

สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แนะนำพักเงินในกองทุน K-SF-A ซึ่งเหมาะกับการพักเงิน 3 เดือนขึ้นไป เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนอีกครั้ง


เรียบเรียงเนื้อหาโดย วีรพล บางแวก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”



คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH TRAINER วีรพล บางแวก
Back to top