“
● ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่า FED จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค.ส่งผลให้กองทุนหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันที่ 30 พ.ย.
● ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ เช่น K-USA, K-USXNDQ, K-US500X แนะนำหาจังหวะขายหรือลดสัดส่วนลง
“
30 พ.ย. กองทุน K-USXNDQ ปรับตัวเพิ่มขึ้น +4.41% เทียบกับวันก่อนหน้า และกองทุน K-US500X ปรับตัวเพิ่มขึ้น +2.95% เทียบกับวันก่อนหน้า โดยกองทุนทั้ง 2 กองนี้ เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งในวันดังกล่าวดัชนีตลาดหุ้นหลักของสหรัฐฯ ทั้ง 3 ตลาด ก็ปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน โดยดัชนี Nasdaq +4.41% S&P500 +3.09% และ Dow Jones +2.18% เทียบกับวันก่อนหน้า
ต่อมา 1 ธ.ค. กองทุนหลักของ K-USA (US Advantage Fund) ปรับตัวเพิ่มขึ้น +6.30% เทียบกับวันก่อนหน้า รวมถึงกองทุนหลักของ K-GHEALTH (Global Healthcare Fund) ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น +3.13% เทียบกับวันก่อนหน้า คาดว่าจะส่งผลให้ราคากองทุน K-USA และ K-GHEALTH ณ 1 ธ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบโลกก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย 30 พ.ย. สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 2.35 ดอลลาร์ หรือ 3.01% ปิดที่ 80.55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่กองทุน K-OIL ปรับตัวเพิ่มขึ้น +2.53% เทียบกับวันก่อนหน้า
ทำไมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถึงปรับตัวเพิ่มขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ได้กล่าวปาฐกถาว่าด้วยนโยบายการเงินและการคลัง ที่สถาบันบรู้กกิงส์ ในวอชิงตัน เมื่อวันที่ 30 พ.ย. โดยระบุว่า FED จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนธ.ค. ขณะเดียวกันก็ได้เตือนว่า ภารกิจของ FED ในการต่อสู้กับเงินเฟ้อนั้นยังอีกยาวไกล และยังมีคำถามสำคัญหลายอย่างที่ FED ยังไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งรวมถึงคำถามที่ว่าอัตราดอกเบี้ยจำเป็นต้องถูกปรับขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดที่เท่าใดและใช้ระยะเวลานานเท่าใด
ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group ยังระบุด้วยว่า หลังจากประธาน FED ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในงานเสวนาดังกล่าว นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 25% ที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนธ.ค. เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าแถลงที่นักลงทุนให้น้ำหนักสูงถึง 75%
นอกจากนี้ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เริ่มลดลงยังเป็นปัจจัยหนุนตลาด โดยสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานลดลง 353,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.3 ล้านตำแหน่งในเดือนต.ค. ซึ่งตัวเลข JOLTS และตัวเลขการจ้างงานเป็นข้อมูลที่ FED ให้ความสำคัญเนื่องจากสามารถวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในขณะนั้น ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยของ FED
ขณะที่ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียง 127,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 190,000 ตำแหน่ง หลังจากพุ่งขึ้น 239,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค.
ทั้งนี้ นักลงทุนยังติดตามการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 ธ.ค. รวมถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 13-14 ธ.ค. นี้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยของ FED
ทำไมราคาน้ำมันดิบ ถึงปรับตัวเพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากได้รับแรงหนุนจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ลดลง 12.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดในสัปดาห์ที่แล้ว รวมถึงมุมมองบวกเรื่องความต้องการใช้น้ำมันในจีนจะฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น และการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ทำให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ
คำแนะนำการลงทุน
● ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ เช่น K-USA, K-US500X, K-USXNDQ ทยอยขายบางส่วนในจังหวะที่ตลาดเด้งระยะสั้น เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวม ส่วนผู้ที่ต้องการเข้าลงทุน หากรับความผันผวนในระยะสั้นได้น้อย ยังไม่แนะนำให้ลงทุน เนื่องจากความผันผวนของตลาดยังอยู่ระดับสูง
● สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แต่ยังคงรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้หรือต้องการรับผลตอบแทนระยะยาว แนะนำลงทุนกองทุนผสม เช่น กองทุน K-GINCOME-A(A) ที่มีการแบ่งสัดส่วนและกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก ช่วยลดความผันผวนและความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์หรือหุ้นที่กระจุกตัวเพียงบางประเทศ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, Ryt9, กรุงเทพธุรกิจ
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”