"
• คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถเบิกค่าตรวจ-ฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์บุตรจากการมีลูกได้ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่เข้าเงื่อนไขโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจะได้รับเงินอุดหนุนบุตรเป็นรายเดือน
• คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเกี่ยวกับลูกได้ ทั้งค่าลดหย่อนบุตร และค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรที่หักออกจากสิทธิสวัสดิการที่เบิกได้
"
ใกล้เทศกาลวันเด็กทีไรชวนให้นึกถึงความน่ารักสดใสของเด็กๆ ทุกที แต่กว่าจะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้โตมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย และมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยเลย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ของภาครัฐจากการมีลูก อย่างสวัสดิการจากประกันสังคมที่หลายคนอาจมองว่าน้อย แต่เมื่อรวมสวัสดิการต่างๆ เกี่ยวกับลูกเข้าด้วยกันแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะได้รับเงินรวมไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีกิจการ มีพนักงาน หรือมีญาติพี่น้องที่เป็นแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบประกันสังคมจำเป็นต้องรู้และเข้าใจสิทธิสวัสดิการต่างๆ เกี่ยวกับลูก เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากสวัสดิการเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้
รวมสิทธิสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐของคนมีลูก
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กหรือกำลังจะมีสมาชิกใหม่ในครอบครัวมีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ จากทางภาครัฐดังนี้
ประกันสังคม
●ค่าตรวจ-ฝากครรภ์ ในอัตราเหมาจ่าย 5 ครั้ง รวม 1,500 บาท (เดิม เหมาจ่าย 3 ครั้ง รวม 1,000 บาท) โดยมีรายละเอียดดังนี้
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
ปกติการไปฝากครรภ์หรือตรวจครรภ์ในแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณหลักพันบาทซึ่งสูงกว่าค่าตรวจ-ฝากครรภ์ที่สามารถเบิกได้จากประกันสังคม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล รวมถึงสุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์ด้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ล่วงหน้า
-
ค่าคลอดบุตร เหมาจ่าย 15,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง (เดิม เหมาจ่าย 13,000 บาท)
-
เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร เหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน เช่น คุณแม่มีรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ฐานที่ใช้ในการคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ดังนั้น คุณแม่จะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร (50% x 15,000) x 3 เดือน = 22,500 บาท บุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธินี้
-
เงินสงเคราะห์บุตร เหมาจ่ายเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน อายุบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนครั้งละไม่เกิน 3 คน (เดิม เหมาจ่ายเดือนละ 600 บาท) สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรรายเดือน คนละ 200 บาท อายุบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ คราวละไม่เกิน 2 คน โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีคุณพ่อหรือคุณแม่ทุกๆ สิ้นเดือนในวันทำการสุดท้ายของเดือน เช่น เงินสงเคราะห์บุตรประจำเดือนม.ค. 2566 โอนเข้าบัญชีในวันอังคารที่ 31 ม.ค. 2566 เป็นต้น
ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตนสามารถเช็กสิทธิประกันสังคม เงื่อนไขและติดต่อยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาที่สะดวก ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข
เงินอุดหนุนบุตร
โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นโครงการเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดสำหรับเด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ สมาชิกครัวเรือนต้องมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี
คุณพ่อคุณแม่จะได้รับเงินอุดหนุนบุตรตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี จำนวน 600 บาทต่อคนต่อเดือน และไม่จำกัดจำนวนบุตร ซึ่งเงินอุดหนุนบุตรในส่วนนี้เทียบได้กับเงินสงเคราะห์บุตรในส่วนของประกันสังคม โดยคนที่เป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคมจะเป็นกลุ่มหลักที่ได้รับสวัสดิการในเรื่องนี้
สำหรับการจ่ายเงินอุดหนุนบุตรจะโอนเงินเข้าบัญชีคุณพ่อหรือคุณแม่ทุกวันที่ 10 ของเดือน หากเดือนไหนตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ จะจ่ายให้ล่วงหน้าในวันทำการ เช่น เงินอุดหนุนบุตรประจำเดือนม.ค. 2566 โอนเข้าบัญชีในวันอังคารที่ 10 ม.ค. 2566 ส่วนเงินอุดหนุนบุตรประจำเดือนมิ.ย. 2566 โอนเข้าบัญชีในวันศุกร์ที่ 9 มิ.ย. 2566 เป็นต้น
คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจสอบสิทธิในการรับเงินอุดหนุนบุตรผ่านทางเว็บไซต์ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน แอปพลิเคชันทางรัฐ หรือแอปพลิเคชันเงินเด็ก และลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนบุตรได้ที่พื้นที่ที่เด็กแรกเกิดและผู้ปกครองอาศัยอยู่จริง โดย
- กรุงเทพมหานคร ลงทะเบียนได้ที่สํานักงานเขต
- เมืองพัทยา ลงทะเบียนได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
- ส่วนภูมิภาค ลงทะเบียนได้ที่องค์การบริหารส่วนตําบล หรือเทศบาล
นอกจากสวัสดิการต่างๆ เกี่ยวกับลูกที่ได้รับจากภาครัฐแล้ว อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองเช็กสวัสดิการจากที่ทำงานเพิ่มเติมด้วยว่ามีสวัสดิการที่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับลูกได้อีกหรือไม่ เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้อีกระดับหนึ่ง
ประโยชน์ของคุณพ่อคุณแม่ที่สามารถใช้ได้จากการมีลูก
นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการคลอดบุตรและเลี้ยงดูบุตรได้แล้ว ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีที่เกี่ยวกับบุตรได้อีกด้วย ได้แก่
- ค่าลดหย่อนบุตร
คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท แต่หากเป็นลูกคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดในปี 2561 หรือหลังจากนี้ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 60,000 บาท
- ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร
คุณพ่อคุณแม่สามารถนำค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินท้องละ 60,000 บาท โดยค่าลดหย่อนนี้ หากคุณพ่อคุณแม่คนไหนมีสิทธิสวัสดิการที่สามารถเบิกได้ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการจากภาครัฐ เช่น ประกันสังคม เงินอุดหนุนบุตรของกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่กล่าวมาข้างต้น หรือเป็นสวัสดิการของนายจ้าง จะต้องหักออกจากสิทธิสวัสดิการที่เบิกได้นั้นด้วย เช่น คุณแม่เบิกค่าคลอดบุตรจากประกันสังคมได้ 15,000 บาท คุณแม่จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนในส่วนนี้ได้เพียง 60,000 – 15,000 = 45,000 บาทเท่านั้น
นอกจากนี้ ข้าวของเครื่องใช้ที่คุณพ่อคุณแม่ซื้อให้ลูกใช้อยู่แล้ว หากเป็นสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงหนังสือ E-Book และสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว และซื้อในระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2566 คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถนำใบกำกับภาษีมาลดหย่อนภาษีได้ตามมาตรการช้อปดีมีคืน 2566 โดยลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท แบ่งเป็นการออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรือแบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่เกิน 30,000 บาท และการออกใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งถือเป็นสิทธิลดหย่อนภาษีของปี 2566 ที่จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2567
ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากค่าลดหย่อนบุตร รวมถึงค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรได้ในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2565 ในวันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 2566 โดยหากยื่นออนไลน์สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 8 เม.ย. 2566
เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด ให้ลูกเติบโตมาเป็นคนดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากเงินสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐหรือสวัสดิการของบริษัทที่ทำงานที่พอจะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายได้บ้าง แต่อาจยังไม่เพียงพอ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถวางแผนเก็บเงินไว้ให้กับลูกได้ในอนาคต ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงไว้ให้ลูก แต่จะทำได้อย่างไร และทำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง ติดตามต่อได้ในบทความ “ยุคค่าครองชีพสูง คนมีลูกต้องวางแผนเงินทองอย่างไร”
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
• สำนักงานประกันสังคม, กรมกิจการเด็กและเยาวชน