"
• ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ สะท้อนเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวลง ทำให้ตลาดคาดว่าการประชุม FED 1 ก.พ. 66 จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ 6 ม.ค. 66 หุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมีการปรับตัวขึ้น สำหรับผู้ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ แนะนำติดตามและหาจังหวะขายคืนหรือลดสัดส่วนลง
• วันทำการต่อมา 9 ม.ค. 66 หุ้นกลุ่มเอเชีย ซึ่งปิดตลาดไปก่อนสหรัฐฯ มีการปรับตัวขึ้นตามหุ้นสหรัฐฯ สำหรับกองทุนหุ้นกลุ่มเอเชีย แนะนำถือต่อหรือลงทุนเพิ่มได้
• สำหรับผู้ที่กังวลกับความเสี่ยงรายภูมิภาคหรือรายสินทรัพย์ แต่ยังคงรับความเสี่ยงได้หรือคาดหวังผลตอบแทน แนะนำลงทุนกองทุนรวมผสม
"
วันศุกร์ที่ 6 ม.ค. 66 และวันจันทร์ที่ 9 ม.ค. 66 ดัชนี NASDAQ ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี มีการปรับตัวขึ้น 2 วันติดต่อกัน โดย +2.56% และ +0.63%ตามลำดับ ที่นอกจากส่งผลให้กองทุนหุ้นสหรัฐฯ อย่าง K-USA มีการปรับตัวขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้กองทุนหุ้นกลุ่มเอเชียอย่าง K-ASIACV มีโอกาสปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน
ทำไม ดัชนี NASDAQ ปรับตัวขึ้น
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 5-6 ม.ค. สหรัฐฯ มีการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจหลายตัวเลข เช่น
- การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ธ.ค. 65 เพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
- ค่าจ้างแรงงานรายชั่วโมงโดยเฉลี่ย เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 0.3%เทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งชะลอตัวจากเดือน พ.ย. ที่ 0.6% อีกทั้งยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ด้วย
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. ปรับตัวลง สู่ระดับ 44.7 จาก 46.2 ในเดือน พ.ย. ซึ่งการที่ดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่า 50 เป็นการบอกว่าภาคบริการของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว
จากตัวเลขที่ออกมา สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้มีการชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้นักลงทุนและตลาดมองว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจผ่านจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED น่าจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่า FED น่าจะปรับขึ้นเพียง 0.25% ในการประชุมรอบเดือน ก.พ. 66 นี้ ส่งผลดีต่อตลาดหุ้น
ทำไมกองทุน K-ASIACV ปรับตัวขึ้น
จากที่ตลาดมองว่า FED อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยทำให้ วันศุกร์ที่ 6 ม.ค. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้ง 3 ตลาด ปรับตัวขึ้น โดยดัชนี NASDAQ +2.56% S&P 500 +2.28% และ Dow Jones +2.13%เทียบกับวันก่อนหน้า ซึ่งการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นช่วงหลังจากที่ตลาดหุ้นเอเชียได้ปิดทำการแล้ว ทำให้วันจันทร์ที่ 9 ม.ค. ตลาดหุ้นเอเชีย เช่น ดัชนี Hang Seng ของฮ่องกง +1.89%เทียบกับวันก่อนหน้า
ส่งผลให้กองทุนหุ้นกลุ่มเอเชียบางกองทุนปรับตัวขึ้นตาม ตัวอย่างเช่น กองทุน K-ASIACV ที่ราคา ณ 9 ม.ค. คาดว่าจะมีการปรับตัวขึ้น ตามกองทุนที่ K-ASIACV ลงทุนอยู่ มีการปรับตัวขึ้นในวันดังกล่าว เช่น
- MS INVF Asia Opportunity +3.68%เทียบกับวันก่อนหน้า โดยกองทุน K-ASIACV มีสัดส่วนการลงทุน ณ 30 พ.ย. 65 อยู่ที่ 22.36%
- Schroder ISF Emerging Asia +3.33%เทียบกับวันก่อนหน้า โดยกองทุน K-ASIACV มีสัดส่วนการลงทุน ณ 30 พ.ย. 65 อยู่ที่ 22.06%
ทำไมกองทุน K-USA ปรับตัวขึ้น
ราคากองทุน K-USA ณ 9 ม.ค. มีการปรับตัวขึ้น 6.23%เทียบกับวันก่อนหน้า สอดคล้องกับทิศทางของดัชนี NASDAQ ที่มีการปรับตัวขึ้นในวันที่ 6 และ 9 ม.ค. แม้ว่าในวันที่ 9 ม.ค. ดัชนี S&P 500 และ Dow Jones ของสหรัฐฯ จะมีการปรับตัวลงเล็กน้อยที่ -0.08% และ -0.33%เทียบกับวันก่อนหน้าตามลำดับ จากการที่นักลงทุนขายทำกำไรหลังหุ้นมีการปรับตัวขึ้นในวันก่อนหน้า ส่วนดัชนี NASDAQ แม้จะไม่ได้ปรับตัวลงแต่ก็ขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ +0.63%
การที่ดัชนี NASDAQ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีไม่ได้ปรับตัวลงตามดัชนีหุ้นอื่นนั้น เพราะโดยปกติทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมากกว่าหุ้นทั่วไป โดยหนึ่งในสาเหตุ คือ ดอกเบี้ยเงินกู้เป็นต้นทุนหนึ่งที่ส่งผลต่อกำไรของบริษัทกลุ่มเทคโนโลยี ทำให้เมื่อดอกเบี้ยมีแนวโน้มชะลอการเพิ่มขึ้น จึงส่งผลต่อความน่าสนใจลงทุนของหุ้นกลุ่มนี้มากกกว่าหุ้นทั่วไป
โดยหากพิจารณาข้อมูลกองทุน Morgan Stanley US Advantage ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ K-USA ณ 30 พ.ย. 65 มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Information Technology 36.87%ของมูลค่ากองทุน ประกอบกับเป็นกองทุนที่มีกลยุทธ์การลงทุนแบบเชิงรุก (active management) ที่เน้นลงทุนหุ้นเติบโตสูง รวมถึงมีการลงทุนหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ราคากองทุน K-USA ณ 9 ม.ค. จึงมีการปรับตัวสวนทางหรือปรับตัวขึ้นมากกว่า ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวม
คำแนะนำการลงทุน
-
ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นกลุ่มเอเชีย เช่น K-ASIACV K-ASIAX K-ASIA แนะนำถือลงทุนต่อ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม สามารถทยอยลงทุนเพิ่มได้ แต่ควรเป็นเงินที่สามารถลงทุนระยะยาวได้ เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียปี 2566 มีโอกาสเติบโตได้ดีกว่ายุโรปและสหรัฐฯ พิจารณาได้จากคาดการณ์ GDP ปี 2566 ของ IMF
-
ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ เช่น K-USA แนะนำให้พิจารณาหาจังหวะขายหรือลดสัดส่วนการลงทุนลง อย่างไรก็ตามราคากองทุน K-USA-A(A) ล่าสุด ณ 9 ม.ค. 66 แม้จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า แต่อาจเป็นระดับราคาที่ยังต่ำอยู่ เมื่อเทียบกับต้นทุนของผู้ลงทุนเอง จึงแนะนำให้ติดตามเพื่อหาจังหวะขายในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนอีกครั้ง เช่น วันที่ 12 ม.ค. ที่สหรัฐฯ จะมีการประกาศเลข CPI หรือเงินเฟ้อ และวันที่ 1 ก.พ. ที่จะมีการประชุม FED เป็นต้น
-
ผู้ที่กังวลกับเศรษฐกิจโลกหรือความผันผวนการลงทุนปีนี้ แต่ยังคงรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้หรือต้องการรับผลตอบแทนระยะยาว แนะนำลงทุนกองทุนผสม เช่น กองทุน K-GINCOME-A(A) ที่มีการแบ่งสัดส่วนและกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก ช่วยลดความผันผวนและความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์หรือหุ้นที่กระจุกตัวเพียงบางประเทศ
-
สำหรับผู้ที่ต้องการหาจังหวะการลงทุน แนะนำพักเงินในกองทุน K-SF-A ที่เหมาะกับระยะเวลาพักเงิน 3 เดือนขึ้นไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก RYT9
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”