"
• กองทุนหุ้นจีนปรับตัวลงในวันที่ 30 ม.ค. 66 จากการขายทำกำไรของนักลงทุน โดยราคากลับไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน
• IMF มองว่า GDP ของจีนปี 66 มีโอกาสเติบโตสูงกว่า GPD โลก รวมถึงสูงกว่าสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว การลงทุนกองทุนหุ้นจีนจึงมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาว
• ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นจีน เช่น K-CHINA แนะนำถือลงทุนต่อ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่มสามารถลงทุนได้
"
ดัชนีหุ้นฮ่องกง ณ 30-31 ม.ค. 66 มีการปรับตัวลง จากการที่นักลงทุนขายทำกำไรหลังจากที่ก่อนหน้าดัชนีมีการปรับตัวขึ้นมา และเป็นช่วงที่รอจับตาดูการประชุม FED ปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ ทั่วโลก
สรุปความเคลื่อนไหว กองทุน K-CHINA
ณ 30-31 ม.ค. 66 ดัชนีหุ้นฮ่องกงอย่างดัชนี Hang Seng ปรับตัวลง -2.73% และ -1.03%เทียบกับวันก่อนหน้าตามลำดับ และดัชนี Hang Seng China Enterprise ปรับตัวลง -3.57% และ -0.95%เทียบกับวันก่อนหน้าตามลำดับ ส่วนกองทุน K-CHINA ณ 30 ม.ค. 66 ก็มีการปรับตัวลง -3.64%เทียบกับวันก่อนหน้า ด้วยเช่นกัน
โดยหากพิจารณาหุ้นที่กองทุนหลักของ K-CHINA (JPMorgan Funds China Fund) ลงทุนมากที่สุด 10 อันดับแรก ณ 31 ธ.ค. 65 ซึ่งมีน้ำหนักการลงทุนรวม 44.70%ของมูลค่ากองทุน พบว่าหุ้นเกือบทั้งหมดมีการปรับตัวลงแรงในวันที่ 30-31 ม.ค. 66 โดยมีรายละเอียดตามตารางด้านล่าง
หากพิจารณาความเคลื่อนไหวราคาที่ผ่านมาของกองทุนหลักของ K-CHINA (JPMorgan Funds China Fund) พบว่าระดับราคาหลังการปรับตัวลงในครั้งนี้ กลับมาใกล้เคียงกับระดับราคาในวันที่ 12-13 ม.ค. 66 อีกทั้งยังเป็นระดับราคาที่สูงกว่าเมื่อต้นปี 66 (จุด D) และราคาในตลอดช่วง ต้นเดือน มี.ค. - สิ้นเดือน ธ.ค. 65 (จุด B - จุด D) อีกด้วย การที่ราคากองทุนหลักของ K-CHINA ปรับตัวลง -3.90% และ -1.41% ในวันที่ 30-31 ม.ค. ซึ่งส่งผลให้ราคากองทุน K-CHINA ปรับตัวลงเช่นกัน จึงอาจไม่ใช่ความเคลื่อนไหวที่น่ากังวลใจนัก
หากย้อนกลับไปตั้งแต่ ปี 2563 พบว่าราคากองทุนหลักของ K-CHINA มีการปรับตัวลงค่อนข้างมากนับตั้งแต่ กลาง ก.พ. 64 (จุด A) แต่ได้กลับมาปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สิ้นเดือน ต.ค. 65 (จุด C) โดยราคากองทุน K-CHINA ณ 30 ม.ค. 66 มีการปรับตัวขึ้นมาแล้ว 43.38%เทียบกับราคา ณ 31 ต.ค. 65 (จุด C) และจากมุมมองการลงทุนที่จะกล่าวต่อไป เชื่อว่ากองทุน K-CHINA จะยังคงมีความน่าสนใจในการลงทุนต่อไป
ที่มา: J.P. Morgan Asset Management
มุมมองการลงทุน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้คาดการณ์ว่า (ข้อมูล IMF ณ ม.ค. 66) ปี 2566 GDP ของจีนจะเติบโต 5.2% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าภาพรวมของโลกที่ 2.9% ในขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และสหรัฐฯ จะเติบโตเพียง 1.2% และ 1.4% ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจจีนมีโอกาสเติบโตได้สูงกว่าภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและประเทศอื่นในเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งจะส่งผลให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเช่นกันประกอบกับล่าสุด รัฐบาลจีนกำลังเตรียมออกมาตรการฟื้นฟูการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกับกระตุ้นการนำเข้าในช่วงเวลาที่ความต้องการสินค้าและบริการทั่วโลกชะลอตัวลง ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจใหญ่เสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย
อย่างไรตาม จากมุมมองของ Goldman Sachs ที่คาดว่าตลาดหุ้นจีนปี 2566 มีโอกาสที่ดัชนี MSCI China จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 48%จากจุดต่ำสุดในช่วงสิ้นเดือน ต.ค. 65 ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด ณ 30 ม.ค. 66 พบว่า MSCI China Net USD มีการปรับตัวขึ้นมาแล้ว 54.25%เทียบกับ 31 ต.ค. 65 (ปรับขึ้นมาในช่วง 3 เดือน) ดังนั้นหลังจากนี้แม้การลงทุนในกองทุนหุ้นจีนจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทน แต่อาจไม่ได้สูงและรวดเร็วอย่างช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จึงควรเป็นเป็นการลงทุนเพื่อคาดหวังผลตอบแทนระยะยาว
คำแนะนำการลงทุน
•ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นจีน เช่น K-CHINA K-CHX K-CCTV ฯลฯ แนะนำถือลงทุนต่อ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่มสามารถลงทุนเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาวได้
•สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แต่ยังคงรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้หรือต้องการรับผลตอบแทนระยะยาว แนะนำลงทุนกองทุนผสม เช่น กองทุน K-GINCOME-A(A) ที่มีการแบ่งสัดส่วนและกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก ช่วยลดความผันผวนและความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์หรือหุ้นที่กระจุกตัวเพียงบางประเทศ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
•KBank Private Banking, RYT9, Investing.com, IMF
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”