"
• ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ตามคาด พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แนะนำหาจังหวะขายหรือลดสัดส่วนกองทุนหุ้นยุโรป
• ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี Nasdaq และ S&P500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขานรับนายเจอโรม พาวเวล ประธาน FED ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงผลประกอบการของบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ที่ออกมาดีเกินคาด แนะนำหาจังหวะขายหรือลดสัดส่วนกองทุนหุ้นสหรัฐฯ
"
อัปเดตผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป
•เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2566 ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ส่งผลให้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของยูโรโซนขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.50% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 นอกจากนี้ ECB ยังส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมีนาคมเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ให้กลับลงมาที่เป้าหมาย 2% ซึ่งล่าสุดอัตราเงินเฟ้อของยุโรป (CPI) เดือน ม.ค. 66 ยังอยู่ในระดับสูงที่ 8.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน (Core CPI) ยังอยู่ที่ระดับ 5.2% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ล่าสุดตลาดคาดว่า ECB จะขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงระดับ 3.50% ภายในกลางปีนี้
ผลกระทบที่เกิดขึ้น
•ดัชนีตลาดหุ้นยุโรป ปิดตลาดในแดนบวกวานนี้ โดยดัชนี STOXX Europe 600 ปรับตัวขึ้น +1.35% เช่นเดียวกับ STOXX Europe 50 ปรับตัวขึ้น +1.67% หลังนาง Christine Lagarde ประธาน ECB ระบุว่าการยกเลิกนโยบาย Zero COVID ของจีนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจยุโรป แม้อาจสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อผ่านความต้องการก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ จากจีนมากขึ้น ทำให้ ECB ยังต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
•อย่างไรก็ตาม ในฤดูหนาวของยุโรปปีนี้หนาวน้อยกว่าปีก่อนๆ ส่งผลให้ความต้องการพลังงานลดลง รวมถึงค่าเงินยูโรกลับมาแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐได้ช่วยบรรเทาต้นทุนการนำเข้าพลังงาน
มุมมองการลงทุน
•จากทิศทางเงินเฟ้อในยูโรโซนที่ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง รวมถึงสงครามในยูเครนยังคงดำเนินต่อไป ยังคงระมัดระวังการลงทุนในภูมิภาคยุโรป
•นอกจากนี้ มองว่าการประท้วงขอขึ้นค่าแรงเพื่อชดเชยค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งยุโรปตะวันตกอาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเพิ่มเติมในระยะถัดไป
•อีกทั้งให้จับตาผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นมาอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปีที่แล้ว อาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบางประเทศ อาทิ อิตาลีที่มีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ที่ระดับ 145%
อัปเดตสถานการณ์หุ้นสหรัฐฯ
2 ก.พ. 66 ตลาดหุ้นหลักของสหรัฐฯ ทั้ง 3 ตลาด ปิดผสมผสาน โดยดัชนี Nasdaq +3.25% S&P500 +1.47% และ Dow Jones -0.11% เทียบกับวันก่อนหน้า รวมถึงราคากองทุนหลักของ K-USA (US Advantage Fund) ปรับตัวเพิ่มขึ้น +7.12% เทียบกับวันก่อนหน้า
ทำไมตลาดหุ้นและกองทุนสหรัฐฯ ถึงปรับตัวเพิ่มขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงผลประกอบการของบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ที่ออกมาดีเกินคาดโดยบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ เปิดเผยรายได้ในไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 3.217 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 3.153 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ เมตายังเปิดเผยแผนการควบคุมต้นทุนที่เข้มงวดมากขึ้นในปีนี้ รวมทั้งประกาศแผนซื้อหุ้นคืนมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ หุ้นเมตา พุ่งขึ้นถึง 23.28% ขณะที่หุ้นแอปเปิ้ล พุ่งขึ้น 3.71% หุ้นอะเมซอน พุ่งขึ้น 7.38% และหุ้นอัลฟาเบท พุ่งขึ้น 7.28% ก่อนที่ทั้ง 3 บริษัทจะเปิดเผยผลประกอบการหลังตลาดปิดทำการซื้อขาย
คำแนะนำการลงทุน
•ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นยุโรป เช่น K-EUROPE-A(D), K-EUSMALL, K-EUX แนะนำให้พิจารณาลดสัดส่วนการลงทุนในช่วงที่ราคากองทุนฟื้นตัวขึ้นตอนนี้ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม ยังไม่แนะนำให้ลงทุน
•ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ เช่น K-USA, K-US500X แนะนำให้หาจังหวะขายหรือลดสัดส่วนการลงทุนเพื่อลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวม ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุน ยังไม่แนะนำให้เข้าลงทุน
•กรณีนักลงทุนมีความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจปี 2566 ที่อาจจะชะลอตัว แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุน Healthcare ผ่านกองทุน K-GHEALTH ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีรายได้และกำไรสม่ำเสมอ ทนทานต่อสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว และ/หรือ กองทุน K-GINCOME-A(A) ที่มีการแบ่งสัดส่วนและกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก ช่วยลดความผันผวนและความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์หรือหุ้นที่กระจุกตัวเพียงบางประเทศ
•สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้สูง แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุนหุ้นจีน เช่น K-CHX เพื่อรับอานิสงส์จากการลดมาตรการควบคุม COVID-19 ของประเทศจีน
•แต่ถ้าหากนักลงทุนยังคงกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ แนะนำพักเงินในกองทุน K-SF-A ซึ่งเหมาะกับการพักเงิน 3 เดือนขึ้นไป เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนอีกครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
•ECB, Bloomberg, The Wall Street Journal
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”