ประเด็นร้อน: กนง. เอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ชี้เหมาะสมกับเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ

อัปเดตมุมมองการลงทุน ตลาดการลงทุนไทย หลังกนง. มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามคาด

• คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็น 2.00% จาก 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที



• กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน รวมถึงเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน โดยคาดการณ์ GDP ไทย จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.6% ในปี 2566 และ 3.8% ในปี 2567



อัปเดตข่าว/สถานการณ์


คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็น 2.00% จาก 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน รวมถึงเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน โดยคาดการณ์ GDP ไทย จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.6% ในปี 2566 และ 3.8% ในปี 2567 ด้านการส่งออกทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ และคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่แม้จะชะลอลงบ้างแต่ยังมีทิศทางขยายตัว คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังมีความไม่แน่นอน


อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5% ในปี 2566 และ 2.4% ในปี 2567 จากแรงกดดันจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 2.0% ในปี 2566 และ 2567 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเทียบกับอดีต



ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว


ดัชนี SET ปรับตัวลดลงเล็กน้อย 0.08% ฟื้นตัวขึ้นมาในการซื้อขายช่วงบ่ายหลังการประชุม กนง. โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,988.20 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบัน, บัญชี บล. และนักลงทุนในประเทศ ต่างเป็นผู้ซื้อสุทธิ สะท้อนว่าการปรับตัวลงของดัชนี SET มีแนวโน้มมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งหากสถานการณ์การเมืองมีความชัดเจนแล้ว ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสรับแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภายในที่ฟื้นตัว


ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย อายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้นมาที่ 2.16% ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย อายุ 10 ปี เคลื่อนไหวในกรอบ 2.4-2.5% สะท้อนว่าตลาดตราสารหนี้ไทยรับข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปบ้างแล้ว



มุมมองการลงทุน


ดอกเบี้ยนโยบายไทยและโลกเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว การปรับขึ้นของ Bond Yield จะจำกัดมากขึ้น


- กนง. มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามคาดการณ์ของตลาด แต่คาดว่าหลังจากนี้ กนง. น่าจะเลือกเฝ้าติดตามอย่างระมัดระวังและรอประเมินสถานการณ์ไปก่อน (Wait-and-see approach) หากมีการตัดสินใจปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจทำได้อีกไม่มาก ราว 0.25%-0.50% โดยจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ความเสี่ยงด้านสูงของอัตราเงินเฟ้อ และโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากนโยบายการเงินที่ตึงตัว - การประชุมล่าสุด กนง.ยังไม่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.0% แต่มีการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ลงเหลือ 2.5% จากเดิม 2.9% และเงินเฟ้อพื้นฐานเหลือ 2.0% จาก 2.4% ทั้งในปี 2566 และ 2567 ซึ่งสะท้อนมุมมองว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลงกว่าที่คาด เป็นเหตุผลสนับสนุนกรณีอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับสูงสุด (Terminal rate) ที่ 2.0%


ความผันผวนตลาดตราสารหนี้ลดลง


ตลาดเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ทั้งนี้อาจมีความผันผวนในบางขณะได้ตาม Event Risk ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว


ตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดีเป็นทางเลือกที่ดีในการกระจายความเสี่ยง


-การลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนยังเป็นทางเลือกลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนเพิ่มเติมจากส่วนต่างด้านเครดิต และยังมีความมั่นคงภายใต้ความเสี่ยงการผิดชำระหนี้ที่ต่ำ เนื่องจากตลาดคาดว่าเศรษฐกิจไทยทยอยขยายตัวได้ โดยได้ปัจจัยหนุนหลักจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเป็นวงกว้างเเละการบริโภคภาคครัวเรือนที่ดีขึ้น



คำแนะนำการลงทุน


ผู้ที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ ระยะสั้นตลาดหุ้นไทยรับข่าวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว แต่ยังมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่วนระยะกลางถึงยาวเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีจากภาคท่องเที่ยวและบริโภคภายใน ผลประกอบการบางอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุนหุ้นไทยผ่านกองทุน K-STAR-A(A) สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนและรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุน K-PLAN2 และ K-PLAN3


สำหรับนักลงทุนที่มีความกังวลต่อความผันผวนของตลาดหุ้นไทย และชอบกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศบางส่วน แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุน K-PLAN1 ถือลงทุนอย่างน้อย 9-12 เดือน หรือ K-FIXEDPLUS แนะนำถือลงทุนอย่างน้อย 1 ปี


สำหรับนักลงทุนที่มีความกังวลต่อความผันผวนของตลาดหุ้นไทย และไม่สามารถรับความเสี่ยงการลงทุนต่างประเทศได้ แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุน K-CBOND ถือลงทุนอย่างน้อย 9-12 เดือน หรือ K-FIXED ถือลงทุนอย่างน้อย 1 ปี


สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แนะนำพักเงินในกองทุน K-SF ซึ่งเหมาะกับการลงทุน 1-3 เดือน เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนอีกครั้ง หรือกองทุน K-SFPLUS เหมาะกับการลงทุน 3-6 เดือน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก :

KAsset, ธนาคารแห่งประเทศไทย


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”


คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH TRAINER
Back to top