"
• FED ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้งภายในปี 66 เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ด้าน ECB ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อเช่นกัน
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของกนง. ในวันที่ 31 พ.ค. 66 ที่ผ่านมาอาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ ทำให้ครึ่งปีหลังดอกเบี้ยเงินฝากมีแนวโน้มจะไม่สูงไปกว่านี้และราคาตราสารหนี้ผันผวนน้อยลง
• ถึงเวลาลงทุนตราสารหนี้ระยะยาวคุณภาพดี ทั้งหุ้นกู้และกองทุนรวม เช่น กองทุน K-PLAN1, K-FIXEDPLUS-A, K-GB-C(A), K-GDBOND-A(A) ให้เหมาะกับระยะเวลาที่สามารถลงทุนได้ เพื่อล็อกผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุน
"
จากสถานการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกในปีที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ เลือกใช้นโยบายการเงินโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อมาอย่างต่อเนื่องรวมถึงประเทศไทยเรา นักลงทุนคงอยากทราบว่าสถานการณ์ดอกเบี้ยปัจจุบันเป็นอย่างไร ใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง แล้วควรลงทุนในตราสารหนี้แบบไหนถึงจะได้ประโยชน์สูงสุด ติดตามได้จากบทความนี้
สถานการณ์ดอกเบี้ยปัจจุบัน
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) วันที่ 13-14 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา FED มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00-5.25% หลังจากที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาถึง 10 ครั้งติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 65 เป็นต้นมา ซึ่งจากการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) FED ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 5.50-5.75% ภายในปีนี้เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง
ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.50% ในการประชุมธนาคารกลางยุโรปวันที่ 15 มิ.ย. 66 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 8 ติดต่อกัน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของยูโรโซนจะเริ่มชะลอลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ระดับ 6.1% ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดย ECB ยังส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 31 พ.ค. 66 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี โดยกนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการอาจปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้อาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ ท่ามกลางทิศทางเงินเฟ้อที่ชะลอลง ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่เผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ขณะที่แรงกดดันจากแนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเริ่มลดลง
ส่งผลอย่างไร
ผลที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ดอกเบี้ยในปัจจุบัน ได้แก่
•หลายธนาคารทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเป็นระยะๆ หลังธนาคารกลางมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และเมื่อธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ส่งผลให้ผู้ออกตราสารหนี้ใหม่ต้องให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อจูงใจผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ตราสารหนี้ ดังนั้น นักลงทุนจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
• ช่วงครึ่งปีหลัง ดอกเบี้ยเงินฝากมีแนวโน้มจะไม่สูงไปกว่านี้มากนักและราคาตราสารหนี้มีความผันผวนน้อยลง จากการที่ดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดพีคแล้ว ดังนั้น ถึงเวลาของการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อล็อกผลตอบแทน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ควรลงทุนตราสารหนี้แบบไหน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย มีมุมมองต่อตราสารหนี้ไทยว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal Rate) จะอยู่ที่ 2.00% หรืออย่างมากก็ปรับขึ้นอีก 0.25% ไปอยู่ที่ 2.25% ทั้งนี้ ตลาดตราสารหนี้ไทยปัจจุบันค่อนข้างสะท้อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ระดับประมาณ 2.25%-2.50% แล้ว ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไปจะส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างจำกัด
สำหรับตราสารหนี้ต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย มีมุมมองว่า ตราสารหนี้ต่างประเทศยังเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะช่วยกระจายความเสี่ยงในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง
แนะนำลงทุนตราสารหนี้ระยะยาวขึ้นได้ เพราะนอกจากจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากระยะเวลาลงทุนแล้ว ยังมีโอกาสจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป และไทย ที่อยู่ในระดับทรงตัวและอาจจะปรับตัวลดลง ทำให้ตราสารหนี้ระยะยาวได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยมีทางเลือกในการลงทุนดังนี้
1. หุ้นกู้
หุ้นกู้ที่เสนอขายปัจจุบันให้ดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ที่เสนอขายในปีที่แล้ว และหากพิจารณาหุ้นกู้บริษัทเดียวกันในรุ่นอายุที่แตกต่างกันจะเห็นว่า หุ้นกู้รุ่นอายุมากกว่าจะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่า เช่น หุ้นกู้ NPS ซึ่งเป็นหุ้นกู้ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้/หุ้นกู้ BBB+ รุ่นอายุ 5 ปี ให้ดอกเบี้ย 4.60% ต่อปี เทียบกับ รุ่นอายุ 7 ปี ให้ดอกเบี้ย 5.25% ต่อปี ทั้งนี้ แนะนำลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับที่น่าลงทุน
2. กองทุนรวมตราสารหนี้
แนะนำลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว โดยกองทุนรวมตราสารหนี้ที่แนะนำในช่วงนี้ ได้แก่
•กองทุน K-PLAN1 เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง เน้นลงทุนในตราสารหนี้ไทยคุณภาพดี ทั้งพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เงินฝาก และหุ้นกู้เอกชน โดยอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารอยู่ในระดับที่น่าลงทุน แนะนำถือลงทุนอย่างน้อย 9-12 เดือน
•กองทุน K-FIXEDPLUS-A เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว เน้นลงทุนในตราสารหนี้ไทยคุณภาพดี ทั้งพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หุ้นกู้เอกชน และอาจมีการกระจายลงทุนบางส่วนในเงินฝากหรือตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีความมั่นคงสูง โดยอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารอยู่ในระดับที่น่าลงทุนแนะนำถือลงทุนอย่างน้อย 1 ปี
•กองทุน K-GB-C(A) เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว เน้นลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก โดยลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน JPMorgan Funds – Aggregate Bond Fund, Class JPM Aggregate Bond I (acc) – USD แนะนำถือลงทุนอย่างน้อย 3 ปี
•กองทุน K-GDBOND-A(A) เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว เน้นลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก โดยลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Nomura Funds Ireland – Global Dynamic Bond Fund, Class I USD แนะนำถือลงทุนอย่างน้อย 3 ปี
การลงทุนในตราสารหนี้จะเหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ และคาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก ส่วนคนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง-สูง ก็สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ เช่น กองทุนผสมหรือกองทุนหุ้น เพื่อโอกาสเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุนของเรา
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
•ธนาคารแห่งประเทศไทย, บลจ.กสิกรไทย, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย