ส่องภาพรวม 3 ตลาดหุ้นใหญ่ ก่อนปรับลงทุนครึ่งปีหลัง

ผ่านพ้นไปแล้วกับครึ่งปีแรก ของ 2566 หลายตลาดหุ้นมีทั้งดี มีทั้งแย่สลับกันไป แต่วันนี้เราจะพูดถึง 3 ตลาดหุ้นที่ปรับขึ้นมาอย่างร้อนแรง ทำไมถึงขึ้นมาขนาดนี้ และหลังจากนี้จะมีคำแนะนำอย่างไร


"

● ตั้งแต่ต้นปี 2023 ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ อย่าง S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 15% (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มิ.ย.66) นำโดยหุ้นเทคโนโลยีไม่กี่ตัว ลากดัชนี S&P 500 ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้น Nvdia ผู้ผลิตการ์ดจอระดับโลก Meta ผู้ให้บริการ Facebook Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก AMD ผู้ผลิตชิปเซต


● ในขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป อย่างดัชนี Stoxx Europ 600 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.64% นับตั้งแต่ต้นปี (ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิ.ย. 66) เนื่องจากตลาดหุ้นรับรู้ความเสี่ยงไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องความกังวลวิกฤติพลังงานในช่วงฤดูหนาวที่คลี่คลายลง ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน


● ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่น อย่างดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 27.47% นับตั้งแต่ต้นปี (ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิ.ย. 66) เนื่องจากปัจจัย Fund flow จากนักลงทุนต่างประเทศ และ Valuation หุ้นญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้แพง


● สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่มเติมแนะนำกองทุน K-GINCOME ที่ลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ทั้ง หุ้น ตราสารหนี้ REIT และสินทรัพย์อื่นๆทั่วโลกกว่า 3,000 สินทรัพย์

"


ผ่านพ้นไปแล้วกับครึ่งปีแรก ของ 2566 หลายตลาดหุ้นมีทั้งดี มีทั้งแย่สลับกันไป แต่วันนี้เราจะพูดถึง 3 ตลาดหุ้นที่ปรับขึ้นมาอย่างร้อนแรง ทำไมถึงขึ้นมาขนาดนี้ และหลังจากนี้จะมีคำแนะนำอย่างไร

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ




ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างดัชนี S&P 500 ปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 22 มิ.ย. โดยขึ้นมาแล้ว 14.58% ซึ่งก็มีหลายปัจจัยที่ช่วยดันตลาดหุ้นสหรัฐฯขึ้นมาดังนี้

1.หุ้นเทคโนโลยีไม่กี่ตัว ลากดัชนี S&P 500 ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้น Nvdia ผู้ผลิตการ์ดจอระดับโลก (+200% YTD) Meta ผู้ให้บริการ Facebook (+128.38% YTD) Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก (+144.78% YTD ) AMD ผู้ผลิตชิปเซต และการ์ดจอ รายใหญ่ระดับโลก (+72.91% YTD) Amazon ผู้ให้บริการ E-commerce ระดับโลก (+51.65% YTD) ซึ่งหากเราไปดูหุ้นอื่นๆใน S&P 500 อีก 490 กว่าตัวจะพบว่า ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นเท่าหุ้นเทคโนโลยีเหล่านี้เลย

โดยหุ้นเทคโนโลยีเหล่านี้เริ่มปรับตัวขึ้น จากการที่เฟดเริ่มทยอยลดความร้อนแรงในการขึ้นดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อเริ่มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีแรงซื้อเก็งกำไรเข้ามา ประกอบกับทั้งมีการปลดพนักงานเพื่อลดต้นทุนของบริษัท และกระแส AI ทำให้หลายบริษัทถูกปรับประมาณการรายได้ในอนาคตขึ้น ส่งผลต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

2.เศรษฐกิจโดยรวมยังขยายตัวได้ดี โดย GDP ไตรมาส 1 เติบโตที่ระดับ 1.3% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ไตรมาส 1 ออกมาแข็งแกร่ง และแม้ช่วงครึ่งปีแรกจะเกิดวิกฤติธนาคารขึ้น แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง



ประเด็นที่ต้องจับตาสำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ

1.สภาพคล่องในตลาดเริ่มลดลง ก่อนหน้านี้ ช่วง Covid-19 ระบาดใหม่ๆ จนกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ ทางธนาคาารกลางสหรัฐฯ ก็ได้มีการทำนโยบาย QE อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ พยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ด้วยโจทย์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป เฟดต้องการคุมเงินเฟ้อให้ลดลง การทำ QT ลดสภาพคล่องจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือ ประกอบกับกำลังจะมีพันธบัตรสหรัฐฯรอบใหม่เข้าสู่ตลาด ซึ่งก็จะลดสภาพคล่องในตลาดลงด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในทางลบด้วย

2.มูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ระดับต่ำ เพราะถ้าหากดู PE ของดัชนี S&P 500 จะอยู่ที่ระดับ 19.3 เท่า ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นเทคโนโลยีอย่าง Nasdaq มี PE อยู่ที่ระดับ 33.6 ซึ่งหากมีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น ก็อาจส่งผลให้ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐานลงมาได้เช่นกัน


3.การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งการประชุมครั้งล่าสุด เฟดส่งสัญญาณผ่าน Dot plot ชัดเจนว่าปีนี้จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง รวม 0.5% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่หากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) หลังจากหักเงินเฟ้อแล้ว ทำจุดสูงสุดเมื่อเทียบตั้งแต่ปี 2551 ทำให้ตลาดจับตาดูว่า การขึ้นดอกเบี้ยต่อไปหลังจากนี้ จะกระทบต่อเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ และตลาดหุ้นอย่างไร เพราะปัจจุบันความกังวล เรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯก็ยังคงอยู่


ตลาดหุ้นยุโรป




ภาพประกอบจาก Google finance


ตลาดหุ้นยุโรป อย่างดัชนี STOXX Europe 600 ปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 23 มิ.ย. โดยขึ้นมาแล้ว 5.64% ซึ่งแม้ผลตอบแทน YTD อาจดูไม่มากนัก แต่ถ้าย้อนกลับไปนับตั้งแต่ 12 ต.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน ตลาดหุ้นยุโรปปรับขึ้นมาแล้ว 17.43% ซึ่งก็มีหลายปัจจัยที่ช่วยดันตลาดหุ้นยุโรปขึ้นมาดังนี้

1.ตลาดหุ้นรับรู้ความเสี่ยงไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องความกังวลวิกฤติพลังงานในช่วงฤดูหนาวที่คลี่คลายลง จากทั้งปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่เพียงพอ และฤดูหนาวครั้งนี้ไม่ได้ยาวนานเท่าปีก่อน ความต้องการใช้พลังงานจึงไม่สูงตาม ราคาก็ไม่อยู่ในระดับที่สูงจนเกินไป รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และตลาดก็ได้รับรู้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปไปมากแล้ว แม้ว่า ECB จะยังคงส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ให้กลับสู่ระดับปกติ ประกอบกับก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงมาเยอะ ความถูกของหุ้นยุโรป จึงดึงเม็ดเงินให้ไหลเข้า จนดันตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมา


2.ได้รับประโยชน์จากนโยบายจีนเปิดประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้จีนมีการล็อกดาวน์ประเทศ จากสถานการณ์ Covid-19 เมื่อคลายล็อกดาวน์ และเปิดประเทศให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศได้ จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีน ที่มีกำลังทรัพย์มากนั่นก็คือยุโรป ดังนั้นภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงสินค้า Luxury แบรนด์เนมในยุโรป จึงได้รับประโยชน์จากนโยบายจีนเปิดประเทศโดยตรง ซึ่งไตรมาส 1 ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Luxury ก็มีผลกำไรที่ออกมาดีด้วยเช่นกัน


ประเด็นที่ต้องจับตาสำหรับตลาดหุ้นยุโรป

1.เศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ โดยล่าสุดประเทศเยอรมนีเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการ หลัง GDP เยอรมนีติดลบ 2 ไตรมาส ติดต่อกันแล้ว ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าหลายๆประเทศจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยตามมาด้วยหรือเปล่า

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น



ภาพประกอบจาก Google finance


หากใครติดตามข่าวตลาดหุ้นญี่ปุ่น จะทราบข้อมูลดัชนี Nikkei 225 ตั้งแต่ต้นปี จนถึง 23 มิ.ย. ปรับขึ้นมาแล้ว 27.47% ทำจุดสูงสุดในรอบ 33 ปี ซึ่งก็มีหลายปัจจัยที่ช่วยดันตลาดหุ้นสหรัฐฯขึ้นมาดังนี้

1.การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน แม้ปัจจุบันเงินเฟ้อจะทะลุกรอบเป้าหมาย 2% มา 13 เดือนแล้วก็ตาม ญี่ปุ่นก็ยังไม่มีท่าทีเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะต้องการเห็นเศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาเติบโตแบบจริงๆอีกครั้ง ซึ่งนโยบายนี้ก็ส่งผลกระทบต่อค่าเงินเยนให้อ่อนค่า ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้าไปเที่ยวในญี่ปุ่น บริษัทใน Nikkei 225 ที่เน้นส่งออกสินค้า ก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย จนทำให้ GDP ไตรมาส 1 ของญี่ปุ่นที่ผ่านมาขยายตัวได้ในรอบ 3 เดือน


2.เงินลงทุนไหลเข้าญี่ปุ่น ซึ่ง Fund flow จากนักลงทุนต่างประเทศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง ด้วยความที่ Valuation หุ้นญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้แพง ประกอบกับญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่ได้มีความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์กับใคร สิ่งเหล่านี้จึงช่วยดึง Fund Flow ให้ไหลเข้าตลาดหุ้นญี่ปุ่น หรือแม้แต่มหาเศรษฐีนักลงทุนเบอร์ 1 ของโลก อย่าง Warren buffett ยังหันมาลงทุนหุ้นญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา จนเกิดกระแสลงทุนตาม ก็ยิ่งเป็นปัจจัยที่ดันให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นแรงไปอีก


ประเด็นที่ต้องจับตาสำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่น

1.หุ้นญี่ปุ่นแพงแล้ว ปัจจุบัน Forward PE ของหุ้นญี่ปุ่นในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 20.7 เท่า ขณะที่โอกาสเติบโตของเศรษฐกิจก็น้อย จากเรื่องโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่นที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ การคาดหวังให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่นเดียวกับอดีตในยุคที่เศรษฐกิจรุ่งโรจน์ ก็อาจจะเป็นเรื่องยาก และประเด็นการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย หากยุติลงก็อาจส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นด้วยหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป


คำแนะนำสำหรับลูกค้าที่ถืออยู่


สำหรับคนที่มีกองทุนหุ้นญี่ปุ่น ยุโรป หรือสหรัฐฯ อยู่ในพอร์ตสามารถถือต่อได้ในลักษณะ Let Profits Run หรือหากรู้สึกพอใจกับกำไรแล้ว และกังวลความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ก็สามารถขายออกมาเพื่อล็อกผลกำไรไว้ก่อน ก็ได้เช่นกัน



คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากลงทุนใหม่


ทางเลือกการลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศที่ Valuation ยังไม่แพงก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เช่น หุ้นจีน ที่ตลาดหุ้นยังปรับตัวขึ้นไม่เยอะ แต่เริ่มเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการอื่นๆที่คาดว่าจะออกมาอีกในอนาคต หรือ หุ้นเวียดนามที่ตั้งแต่ต้นปีค่อยๆปรับตัวขึ้นมาบ้างแล้ว จากที่ปีก่อนปรับตัวลงแรง ซึ่งปัจจุบัน Valuation หุ้นเวียดนามก็ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ จากการคลี่คลายลงของหลายปัญหาในประเทศ และเศรษฐกิจที่ค่อยๆฟื้นตัว


การลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่ปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดเจนว่าปีนี้จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศก็รับรู้เรื่องนี้ไปแล้วพอสมควร การปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกแค่ 2 ครั้ง อาจไม่กระทบต่อราคาตราสารหนี้ต่างประเทศมากแล้ว ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยแค่อีก 1 ครั้งแล้วจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งหากธนาคารกลางเหล่านี้หยุดขึ้นดอกเบี้ย และลดดอกเบี้ยลงในอนาคต ก็จะเป็นผลดีต่อตราสารหนี้ทั้งไทย และต่างประเทศ


แล้วจะเลือกลงทุนอะไรดี จะได้ไม่พลาดโอกาสในการลงทุน


  • ลงทุนทุกอย่างไปเลย ผ่านกองทุน K-GINCOME ที่ลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ทั้ง หุ้น ตราสารหนี้ REIT และสินทรัพย์อื่นๆทั่วโลกกว่า 3,000 สินทรัพย์ แถมยังมีประเภทกองทุนให้เลือกถึง 4 แบบ ทั้งแบบสะสมมูลค่าไม่จ่ายปันผล (K-GINCOME-A(A) แบบมีการขายคืนอัตโนมัติ(K-GINCOME-A(R) และแบบที่นำไปลดหย่อนภาษีได้ทั้ง SSF (K-GINCOME-SSF) และ RMF (K-GINCOME-RMF)
  • อยากลงทุนทุกอย่าง แต่อยากเน้นในไทยเป็นหลัก แนะนำกองทุน K-PLAN2 ที่มีสัดส่วนลงทุนต่างประเทศไม่เกิน 30% และลงทุนในหุ้นไม่เกิน 30%

ขอบคุณข้อมูลจาก บลจ.กสิกรไทย



ผู้เขียน

K WEALTH Trainer มนัสวี เด็ดอนันต์กุล AFPT™
Back to top