ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ มีอยู่จริง มีหลายบริษัทนำเสนอ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนที่มีปัญหาสุขภาพไม่สามารถซื้อประกันชีวิตทั่วไปได้ แต่ยังมีความต้องการซื้อประกันชีวิตอยู่ ซึ่งประกันชีวิตที่ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร มีจุดเด่นที่น่าสนใจแค่ไหน และมีจุดด้อยที่ต้องทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจซื้ออะไรบ้าง K WEALTH มีคำตอบให้แน่นอน
ทำไม? ประกันชีวิตทั่วไป มักต้องตอบคำถามหรือตรวจสุขภาพ
ผลประโยชน์จากประกันชีวิตมีอยู่ 2 ส่วนหลัก ได้แก่ (1) มีเงินก้อนให้คนในครอบครัว หากผู้เอาประกันเสียชีวิต และ (2) เป็นแหล่งเงินเก็บเงินที่มีเงินคืนจำนวนที่แน่นอน สำหรับประกันชีวิตที่มีคุ้มครองกรณีเสียชีวิตในจำนวนที่สูงเมื่อเทียบกับเบี้ยประกันที่จ่ายไป บริษัทประกันมักขอตรวจสุขภาพเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ซื้อประกันยังไม่มีโรคที่มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เสียชีวิตในเวลาอันใกล้หรือในช่วงเวลาที่ประกันชีวิตมีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะผู้ที่ซื้อประกันชีวิตด้วยเงินเอาประกันที่สูง เช่น 10 ล้านบาทขึ้นไป ฯลฯ บริษัทก็มักขอให้มีการตรวจสุขภาพก่อนที่จะออกกรมธรรม์ให้ หรือบางกรณีแม้ไม่ตรวจสุขภาพก็ต้องตอบคำถามสุขภาพเพื่อเช็กว่ามีความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพอยู่หรือไม่
ทำไม? ถึงมีประกันชีวิตที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ
สำหรับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่เน้นการเก็บเงินมากกว่าความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต บริษัทไม่จำเป็นต้องเช็กความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพที่อาจทำให้เสียชีวิต เนื่องจากหากผู้เอาประกันชีวิตระหว่างสัญญา เงินที่ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับก็จะเท่ากับหรือมากกว่าเบี้ยประกันชีวิตสะสมที่ได้จ่ายไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ผู้เอาประกันจะได้รับประโยชน์จากเงินที่งอกเงยด้วยอัตราผลตอบแทนหรือ IRR ที่แน่นอนแทน
ตัวอย่างเช่น “ประกันจ่ายสั้น ขยันคืน 15/6 การันตี” ของ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ที่ขายผ่านธนาคารกสิกรไทย ด้วยทุนประกัน 1 ล้านบาท สำหรับผู้ชาย อายุ 40 ปี จ่ายเบี้ยประกันปีละ 952,000 บาท หรือรวม 6 ปี 5,712,000 บาท จะได้รับเงินคืนรวมตลอดสัญญาสูงถึง 690%ของเงินเอาประกัน หรือ 6.9 ล้านบาท คิดเป็นส่วนต่างจากค่าเบี้ยที่จ่ายไปถึง 1.188 ล้านบาท
แต่หากพิจารณาในส่วนของความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตแล้วประกันแบบนี้ถือว่าให้ความคุ้มครองไม่สูงนัก โดยหลังจากชำระเบี้ยปีแรกไป จะมีความคุ้มครองชีวิตอยู่ที่ 1 ล้านบาท และทยอยเพิ่มขึ้นทุกปีหลังจากชำระเบี้ยในแต่ละปีไปแล้ว จนความคุ้มครองสูงสุดอยู่ที่ 600%ของเงินเอาประกัน หรือ 6 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 105%ของเบี้ยประกันที่ได้ชำระไป จากตัวอย่างที่กล่าวมาจะเห็นว่าหากความต้องการที่แท้จริง คือ ต้องการสร้างความคุ้มครองชีวิตเพื่อเป็นเงินก้อนให้คนในครอบครัว ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ แม้คนมีปัญหาสุขภาพจะซื้อได้แต่ความคุ้มค่าก็อาจเทียบไม่ได้กับประกันชีวิตแบบอื่นที่คนสุขภาพดีสามารถซื้อได้ แต่หากพิจารณาในเรื่องผลตอบแทนแล้ว ก็ถือเป็นทางเลือกในการเก็บเงินที่ได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน
รูปที่ 1 : ประกันจ่ายสั้น ขยันคืน 15/6 การันตี
ประกันแบบนี้ จึงเป็นทางเลือกสำหรับคนมีปัญหาสุขภาพ
ข้อดีของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพนั้นหลักๆ มีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่
(1) ส่งต่อทรัพย์สินให้คนในครอบครัวหลังตนเองเสียชีวิต
แม้ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ มักมีจำนวนความคุ้มครองชีวิตที่น้อยหรือใกล้เคียงกับค่าเบี้ยประกันที่ได้ชำระไป แต่ก็สามารถระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ได้ชัดเจน เปรียบเสมือนการเขียนพินัยกรรมเพื่อยกเงินผลประโยชน์ให้กับคนในครอบครัวโดยสามารถระบุสัดส่วนของจำนวนเงินเอาประกันที่ผู้รับผลประโยชน์แต่ละคนจะได้รับ โดยมีบริษัทประกันชีวิตเป็นบุคคลที่สามที่จะเข้ามาดำเนินการจ่ายเงินเอาประกันตามเจตนาที่แจ้งไว้ หลังจากที่ผู้เอาประกันได้จากโลกนี้ไป
(2) เพิ่มผลตอบแทนให้กับเงินที่สะสมไว้
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ นอกจาก “ประกันจ่ายสั้น ขยันคืน 15/6 การันตี” ตามตัวอย่างข้างต้นที่มีอัตราผลตอบแทนเมื่อถือประกันจนครบสัญญาหรือ IRR ที่แน่นอนอยู่ที่ 1.65%ต่อปีแล้ว ยังมีประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนหรือ IRR การันตีขั้นต่ำ และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากเงินปันผลที่ได้รับเมื่อครบสัญญา โดยอ้างอิงจากผลการดำเนินงานของดัชนีอ้างอิงด้วย อีกทั้งเบี้ยประกันชีวิตยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไขสรรพากรได้ด้วย เช่น
•
“ประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์ 615 มีเงินปันผล (Global)” ที่ด้วยทุนประกัน 1 ล้านบาท สำหรับผู้ชาย อายุ 40 ปี ค่าเบี้ยประกันอยู่ที่ปีละ 927,000 บาท (6 ปี รวม 5.562 ล้านบาท) เงินคืนตลอดสัญญาที่การันตีอยู่ที่ 635%ของเงินเอาประกัน หรือ 6.35 ล้านบาท คิดเป็นส่วนต่างค่าเบี้ยที่จ่ายไป 788,000 บาท แม้หากคิดเป็นอัตราผลตอบเมื่อถือประกันจนครบสัญญาหรือ IRR แล้วจะอยู่ที่ 1.10%ต่อปี ซึ่งน้อยกว่า IRR ของ “ประกันจ่ายสั้น ขยันคืน 15/6 การันตี” แต่ก็ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากเงินปันผลที่จะได้รับเมื่อครบสัญญา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อ IRR ขั้นต่ำที่การันตีไว้
รูปที่ 2 : ประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์ 615 มีเงินปันผล (Global)
•
“ประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์ 315 มีเงินปันผล (Global)” ที่เป็นการจ่ายเบี้ยประกันระยะสั้น เพียง 3 ปี ด้วยทุนประกัน 1 ล้านบาท สำหรับผู้ชาย อายุ 40 ปี เบี้ยปีละ 902,000 บาท (3 ปี รวม 2.706 ล้านบาท) เงินคืนตลอดสัญญาที่การันตีอยู่ที่ 314%ของเงินเอาประกัน หรือ 3.14 ล้านบาท ส่วนต่างค่าเบี้ยที่จ่ายไปอยู่ที่ 434,000 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบเมื่อถือประกันจนครบสัญญาหรือ IRR จะอยู่ที่ 1.10%ต่อปี โดยมีโอกาสได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากเงินปันผลที่จะได้รับเมื่อครบสัญญา เช่นกัน
รูปที่ 3: ประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์ 315 มีเงินปันผล (Global)
ออปชันเสริม สำหรับคนมีปัญหาสุขภาพ
(1) ความคุ้มครองอุบัติเหตุ
นอกจากประกันชีวิตที่ได้ยกตัวอย่างไป บางบริษัทประกันมีการจูงใจหรือสร้างความน่าสนใจให้กับแบบประกันด้วยการมีความคุ้มครองส่วนเพิ่มกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เช่น ประกันชีวิตแห่งหนึ่งมีความคุ้มครอง
• หากเสียชีวิตในช่วง 2 ปีแรก จากการเจ็บป่วยผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินเพียง 102%ของเบี้ยประกันทั้งหมดที่ได้ชำระไป แต่หากเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุในช่วง 2 ปีแรก จะได้รับเงินเพิ่มตามจำนวนงินที่เอาประกัน
• หากเสียเสียชีวิตตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป ไม่ว่าจะจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ผู้รับผลประโยชน์ถึงจะได้รับเงินไม่น้อยกว่าเงินเอาประกันที่ทำไว้ เป็นต้น
ซึ่งเงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์กรณีเสียชีวิตแบบนี้ ก็เพื่อให้มั่นใจว่า ณ วันที่ซื้อประกัน ผู้เอาประกันจะยังไม่มีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลให้อาจเสียชีวิตในช่วง 2 ปีแรกได้
สำหรับการซื้อประกันชีวิตที่ไม่ได้มีความคุ้มครองอุบัติเหตุแนบมาให้ เราก็สามารถเลือกซื้อประกันอุบัติเหตุเพิ่มเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงหรือซื้อพร้อมประกันชีวิตก็ได้ เช่น ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และประกันอุบัติเหตุไฮ โพรเทคชั่น ที่ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินก้อน 1 ล้านบาท และ 10 ล้านบาทตามลำดับ หากผู้เอาประกันเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และยังมีวงเงินค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุครั้งละ 1 แสนบาท และ 5 แสนบาทตามลำดับ ด้วยเบี้ยประกันเพียงปีละ 3,790 และ 23,000 บาทตามลำดับ เป็นต้น
(2) เพิ่มผลตอบแทน ให้งอกเงยยิ่งขึ้น
นอกจากประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบเมื่อถือประกันจนครบสัญญาหรือ IRR ที่แน่นอนแล้ว หุ้นกู้ของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ มีอันดับความเชื่อถือสูง หรือกองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดอายุโครงการ (Term Fund) ที่แม้เป็นทางเลือกการเก็บเงินหรือลงทุนที่มีความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนมากกว่า แต่ก็ช่วยทำให้เงินนั้นงอกเงยด้วยอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า และระยะเวลาการเก็บเงินหรือลงทุนที่สั้นกว่าได้
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ ทางเลือกจำเป็นของคนที่อยากซื้อประกันชีวิตแต่มีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะการซื้อเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการส่งต่อทรัพย์สินให้ครอบครัวหลังตนเองจากไป แต่ยังสามารถเลือกซื้อประกันชีวิตแบบที่มีเงินปันผลเพื่อโอกาสเพิ่มผลตอบแทนให้กับเงินที่จ่ายไป หรือเพิ่มออปชันด้วยการซื้อประกันอุบัติเหตุเพื่อเพิ่มความคุ้มครองบางส่วนให้กับคนที่มีปัญหาสุขภาพได้ด้วย