มองย้อนกลับไปในปีนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นมาสวนทางคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เมื่อต้นปี ซึ่งกังวลว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะ recession ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่รับกระแส AI ตลาดหุ้นยุโรปรับอานิสงส์จีนเปิดประเทศ ตลาดหุ้นเวียดนามได้มาตรการกระตุ้นเข้ามาหนุน จะมีเพียงตลาดหุ้นจีนเท่านั้นที่ยังไม่วิ่งไปไหนแม้ทางการจะหยุดใช้มาตรการ Zero-Covid แล้วก็ตาม
เป็นคำถามสำหรับนักลงทุนที่ยังติดดอยหุ้นจีนรวมถึงนักลงทุนที่ยังหาจังหวะลงทุนหุ้นจีนอยู่ ว่าจะเอายังไงต่อดี จะถือต่อ จะถัวเพิ่ม/เข้าลงทุนใหม่ หรือจะยอมแพ้? บทความนี้ขอพานักลงทุนทุกคนไปส่องสถานการณ์หุ้นจีนแล้วมาดูกันว่าควรทำอย่างไรต่อจากนี้กัน?
การประชุมโปลิศบูโร จุดพลุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
แท้จริงแล้วนับแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทั้งธนาคารกลางและรัฐบาลจีนมีการกระตุ้นเศรษฐกิจมาโดยตลอด เพียงแต่ทั้งขนาดและจังหวะเวลาอาจไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้มากนัก เช่น ช่วงต้นเดือน มิ.ย. ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Repo ลง 0.1% และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น 0.1% ต่อด้วยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย MLF ลง 0.1% จะเห็นว่าเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย
การประชุมโปลิศบูโร เมื่อปลายเดือน ก.ค. นับเป็นการส่งสัญญาณการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนที่สุด โดยเน้นไปยังกลุ่มบริโภคภายใน, อสังหาฯ, การลงทุน, ระบบการเงิน, เศรษฐกิจดิจิตอล, ตลาดทุน และการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตามตัวเลขเศรษฐกิจที่เปิดเผยออกมาหลังจากนั้นก็ยังไม่ดีมากนัก ไม่ว่าจะเป็นดัชนี CPI เดือน ก.ค. ที่หดตัว 0.3% (YoY) สร้างความกังวลว่าจีนกำลังเผชิญปัญหาเงินฝืด ตัวเลขค้าปลีกที่เติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ ปริมาณการส่งออกซึ่งหดตัวติดต่อกันมาแล้ว 3 เดือน ดังนั้นจึงยังสะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนต้องการมาตรการกระตุ้นที่ชัดเจนและมีขนาดใหญ่มากกว่าที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้
อนาคตต่อจากนี้ต้องติดตามอะไรบ้าง
แม้ก่อนหน้านี้ทางการจีนจะสร้างความมั่นใจให้กับ 2 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักไปแล้ว ทั้งจากการที่นายกฯ จีนเข้าพบผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยี และผู้ว่าธนาคารกลางจีนพบผู้บริหารบริษัทอสังหาฯ แต่ความมั่นใจก็เป็นสิ่งที่ทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีนต้องการมากที่สุด ณ ตอนนี้
ทางการจีนต้องเสริมสภาพคล่องเข้ากลุ่มอสังหาฯ ให้เร็วที่สุด เพราะนับตั้งแต่กลางปี 2021 ที่มีปัญหาสภาพคล่องและราคาอสังหาฯ ร่วงหนัก ก็สร้างความกังวลอย่างหนักเนื่องจากประชาชนจีนเก็บความมั่งคั่งหลักไว้ในสินทรัพย์ประเภทอสังหาฯ หากแก้ปัญหาได้จะช่วยทั้งหุ้นกลุ่มอสังหาฯ และธนาคารพาณิชย์ ซึ่งต่างเป็นกลุ่มหลักในตลาดหุ้นจีน
ด้านการลงทุนเป็นปัจจัยที่สำคัญซึ่งรัฐบาลกลางต้องจัดการปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่มากจนไม่มีช่องว่างเหลือให้ลงทุนเพิ่มอีกซึ่งอยู่ในแผนกระตุ้นที่โปลิศบูโรเปิดเผยออกมา พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบให้มีการกู้ยืมมากขึ้น หากแก้ปัญหานี้ได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาบริโภคภายในไปด้วย
ทั้งหมดนี้จะไม่ได้ผลเลย หากรัฐบาลจีนยังไม่มีทิศทางต่อเศรษฐกิจที่ชัดเจน เช่น กลับทิศนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง ซึ่งถ้าเรียกความเชื่อมั่นได้ด้วยความชัดเจนก็จะช่วยให้ทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีนกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง
โอกาสลงทุนเมื่อนักลงทุนต่างยอมแพ้
ท่ามกลางความกังวล หากนำทฤษฎีการเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance) มาช่วยในการตัดสินใจการลงทุน ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2021 หากเราย้อนกลับไปมองกราฟราคาหุ้นจีนช่วงปี 2020 ที่ราคาหุ้นปรับขึ้นตลอดทั้งปี อาจทำให้คาดหวังผลตอบแทนระดับดังกล่าวได้ในช่วงระยะเวลาสั้น แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นตรงกันข้าม
แต่ไม่ได้หมายความว่านักลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนกองทุนหุ้นจีนในช่วงเวลาดังกล่าวตัดสินใจผิดพลาด เนื่องจากมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น นโยบาย Zero-Covid ปัจจุบันนโยบายเหล่านั้นได้ผ่อนคลายลงไปแล้ว จะเห็นว่าราคาหุ้นก็ทยอยฟื้นตัวขึ้นมา “ตอนนี้จึงไม่ใช่จังหวะที่จะถอดใจในกองทุนหุ้นจีน” โดยมองไปข้างหน้าประเทศจีนยังคงน่าดึงดูดในการลงทุนเหมือนเดิมด้วยกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนที่มาก
กองทุน K-CHX และ K-CHINA ยังน่าสนใจ รับอานิสงส์การกระตุ้นเศรษฐกิจ
กองทุน K-CHX ซึ่งมี CSOP FTSE China A50 ETF เป็นกองทุนหลัก เน้นสร้างผลตอบแทนตามดัชนี A50 ซึ่งเป็นหุ้นจีน A-shares (หุ้นจีนแผ่นดินใหญ่) จึงรับผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้ ขณะที่กองทุน K-CHINA ที่มี JPMorgan Funds – China Fund เป็นกองทุนหลัก แม้ภาพรวมอาจเป็นหุ้นเทคโนโลยี แต่แท้จริงแล้วหุ้นเหล่านี้เป็นหุ้น Online Platform ซึ่งได้รับผลดีจากการบริโภคที่จะฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ