นับตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ผู้ที่นำเงินจากต่างประเทศเข้าประเทศไทย อาจมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีต่อกรมสรรพากร แม้ว่ารายได้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนปีที่นำเข้ามาในไทยก็ตาม โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากที่เมื่อ 18 ก.ย. 66 เว็บไซต์กรมสรรพากรได้เผยแพร่ “คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร” ซึ่งเอกสารดังกล่าว ได้ถูกยกมาเป็นกระแสบนโลกโซเชียลอย่างร้อนแรง เมื่อช่วงวันเสาร์ที่ 16 – อาทิตย์ที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา
สิ่งที่เปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่ปี 67
เดิมสรรพากรกำหนดว่าผู้ที่มีรายได้จากต่างประเทศ หากมีการนำเงินกลับประเทศไทยในปีภาษี (ปี พ.ศ.) เดียวกัน มีหน้าที่ต้องนำรายได้นั้นมาคำนวณภาษี ดังนั้นที่ผ่านมาหลายคนจึงเลือกที่จะชะลอการนำรายได้ที่เกิดขึ้นที่ต่างประเทศกลับเข้าไทยหลังจากพ้นปีที่เกิดรายได้นั้นไปแล้ว เช่น รายได้เกิดขึ้นปี 65 รอนำเข้ามาปี 66 ฯลฯ แต่จากประกาศฉบับใหม่ ทำให้ไม่ว่าจะนำเงินเข้ามาในปีใดก็ตามนับตั้งแต่ปี 67 เป็นต้นไปหากปีที่มีรายได้นั้นเป็นผู้อยู่ในไทยตลอดปี พ.ศ. รวมกัน 180 วันขึ้นไป
ก็ต้องนำรายได้ก้อนนั้นมายื่นภาษีกับกรมสรรพากรไทย
สำหรับคนทั่วไปที่ทำงานหรือมีรายได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ถือว่าไม่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าว แต่สำหรับคนที่มีรายได้จากต่างประเทศที่นอกเหนือไปจากการทำงานให้กับบริษัทหรือนายจ้างที่ต่างประเทศ (เช่น เป็นพนักงานที่รับเงินเดือน/ค่าจ้าง จากบริษัทหรือกิจการที่อยู่ต่างประเทศ ฯลฯ) ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ หากมีการนำเงินที่เป็นรายได้เข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 67 เป็นต้นไป โดยปีที่เกิดรายได้นั้นอยู่ในประเทศไทย 180 วันขึ้นไปล้วนมีหน้าที่ต้องต้องนำเงินส่วนที่เป็นรายได้ต่างๆ นั้น มายื่นภาษีต่อกรมสรรพากรไทยด้วย โดยรายได้ที่ว่า ได้แก่รายได้จาก
• หน้าที่งานที่ทำต่างประเทศ เช่น ค่าจ้างจากการรับงานอิสระ (Freelance) ที่ต่างประเทศ ฯลฯ
• กิจการที่ทำต่างประเทศ เช่น กำไรจากการเปิดบริษัท ธุรกิจ ร้านอาหาร หรือค้าขายที่ต่างประเทศ ฯลฯ
•ทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ เช่น รายได้ค่าเช่าอพาร์ทเม้นท์ กำไรหรือเงินปันผลจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศโดยตรง (ซึ่งมักเรียกว่าการลงทุน Offshore) กำไรหรือสิทธิที่ได้จากการลงทุนเหรียญดิจิทัลผ่านศูนย์การซื้อขายที่อยู่ต่างประเทศ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม เงินที่ต้องนำมายื่นภาษีนั้น นับเฉพาะเงินส่วนที่เป็นรายได้ ไม่ใช่เงินทั้งหมดที่นำเข้าไทย ตัวอย่างเช่น การลงทุนหุ้น/กองทุน/เหรียญดิจิทัล เงินได้ที่ว่า เช่น กำไรส่วนต่างราคา เงินปันผล และสิทธิต่างๆ ที่ได้รับจากสินทรัพย์นั้น ฯลฯ แต่ไม่รวมเงินต้นที่ได้ลงทุนไป ผู้มีเงินได้หรือผู้ลงทุนจึงไม่ต้องกังวลว่าจะต้องนำเงินทั้งก้อนไปคำนวณภาษี
ผู้ที่ได้รับผลกระทบ นับตั้งแต่ปี 67
หลักๆ คือ คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย (180 วันขึ้นไป) ที่มีการนำเงินไปลงทุนโดยตรงที่ต่างประเทศ เช่น (1) ซื้อขายหุ้นต่างประเทศ ผ่านบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์ (Offshore) (2) ซื้อขายหุ้นต่างประเทศหรือกองทุนของ บลจ. ต่างประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของผู้ให้บริการในไทย (3) ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านศูนย์การซื้อขายของต่างประเทศ เช่น Binance ฯลฯ (4) ซื้อขายหุ้นหรือลงทุนสินทรัพย์ใดๆ โดยเปิดบัญชีซื้อขายกับผู้ให้บริการที่ต่างประเทศโดยตรง (5) ขายสินค้าหรือมีรายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ของต่างประเทศ (6) ลงทุนหรือทำธุรกิจที่ต่างประเทศ (7) มีเงินฝากและได้รับดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินต่างประเทศ ไม่ว่าจะเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้ลูกหลานหรือใช้ในธุรกิจก็ตาม รวมถึง (8) ชาวต่างชาติที่มาใช้ชีวิตหรือสร้างครอบครัวในประเทศไทย โดยยังคงมีรายได้จากทรัพย์สินที่ต่างประเทศอยู่ เป็นต้น
จัดการภาษีอย่างไรให้ทันปีนี้ และปีต่อไป
I: เช็กรายได้ เพื่อเลือกนำเงินเข้าไทย
เริ่มจากเช็กรายได้ที่เกิดขึ้นที่ต่างประเทศ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เช่น ส่วนต่างกำไรหุ้น เงินปันผล ดอกเบี้ย ฯลฯ ว่ายังมีส่วนที่ได้รับตั้งแต่อดีตจนถึงปี 65 และยังไม่นำกลับมาในไทยหรือไม่ หากยังมีก็สามารถนำเงินกลับเข้าไทยภายในปี 66 ได้ ก่อนที่ประกาศฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดยต้องมีการขอหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ว่าเงินส่วนที่นำกลับมานั้นส่วนไหนเป็นเงินต้นที่ลงทุนไป ส่วนไหนเป็นรายได้และเป็นรายได้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในปี 66 จริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้หน่วยงานหรือสถาบันการเงินต่างประเทศไม่สามารถออกเอกสารตามที่ต้องการได้ ผู้มีเงินได้ก็ยังมีหน้าที่ต้องยื่น “เงินได้พึงประเมิน” โดยประเมินยอดรายได้ด้วยตนเอง เพียงแต่เมื่อยื่นแล้วหากเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมีข้อสงสัยก็อาจมีการสอบถามหรือขอเรียกดูเอกสารเป็นกรณีๆ ไป ดังนั้นไม่ว่าจะมีเอกสารครบถ้วนหรือไม่ ผู้มีเงินได้ก็มีหน้าที่ต้องยื่นหรือแถลงรายได้ต่อกรมสรรพากรให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
II: วางแผนจัดการภาษี สำหรับรายได้นับจากปีนี้
รายได้ที่เกิดขึ้นในปี 66 และปีต่อๆ ไป เมื่อนำเงินเข้าไทยไม่ว่าจะปีใด ก็ต้องนำรายได้นั้นมารวมกับรายได้อื่นในปีเดียวกันเพื่อคำนวณภาษี เพียงแต่ว่าก็สามารถวางแผนหรือจัดการภาษีให้จ่ายน้อยลงได้ เช่น
• การลงทุนเพิ่มในกองทุน SSF/RMF หรือซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีตามสิทธิสูงสุดที่สามารถใช้ได้
• กรณีเป็นผู้มีรายได้ในไทยไม่แน่นอน เช่น ประกอบอาชีพอิสระ ฯลฯ หรือเป็นผู้ที่ใกล้เกษียณในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สามารถเลือกที่จะนำรายได้นั้นกลับเข้าไทยในปีที่มีรายได้ในไทยน้อยลงได้ เพื่อรายได้ที่นำเข้ามาจะได้ถูกคำนวณภาษีด้วยฐานภาษีที่ต่ำลง
•กรณีมีคู่สมรส ที่มีรายได้และฐานภาษีน้อยกว่าตนเอง สามารถเลือกนำรายได้กลับเข้าไทยพร้อมกับเงินได้ 40(2) – 40(8) อื่นของตนเอง ไปรวมกับรายได้ของคู่สมรสเพื่อคำนวณภาษีได้ ส่วนตนเองคำนวณภาษีเฉพาะเงินได้ 40(1) เช่น เงินเดือน โบนัส ฯลฯ
ทางเลือก นักลงทุนสายต่างประเทศ
จากข้อมูลของ ธปท. พบว่าปี 64 มีผู้ลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ รวม 55,963 ราย แบ่งเป็นการลงทุนผ่าน (1) บริษัทหลักทรัพย์และธนาคารพาณิชย์ (2) กองทุนส่วนบุคคล และ (3) ไม่ผ่านตัวแทนในประเทศ ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้นอกจากมีภาระภาษีตามกฎหมายของประเทศที่นำเงินไปลงทุนแล้ว หากนำรายได้นั้นกลับเข้ามาในไทย แม้อาจไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มเนื่องจากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี หรือเมื่อประเมินภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อนแล้ว (ข้อมูลล่าสุด 19 ก.ย. 65 มีอยู่ 61 ประเทศ) จะไม่มีภาระภาษีต้องชำระเพิ่ม ก็ยังคงมีภาระที่ต้องนำรายได้นั้นมาคำนวณหรือแถลงต่อกรมสรรพากร
ดังนั้นการลงทุนในทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนตามสินทรัพย์อ้างอิงต่างประเทศ เช่น หุ้นของบริษัทต่างประเทศ ดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศ ฯลฯ ที่กรมสรรพากรไทย มีประกาศยกเว้นภาษีหรือเมื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องนำรายได้ส่วนนี้ไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อยื่นภาษีอีก ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ลดภาระและขั้นตอนทางภาษีลงได้ เช่น
• ETF (Exchange Traded Fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมดัชนี ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยกำไรจากการซื้อขายได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนเงินปันผลเมื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องนำเงินปันผลนั้นมาคำนวณภาษีอีก โดยข้อมูล ณ 18 ก.ย. 66 ประเทศไทยมี ETF อยู่ 4 กองทุน จากทั้งหมด 13 กองทุน ที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ เช่น ดัชนีหุ้นจีน หุ้นกลุ่มหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หุ้นกลุ่มเกมและอีสปอร์ต ฯลฯ
• ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ DR (Depositary Receipt) และ DRx (Fractional Depositary Receipt) ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีความเคลื่อนไหวของราคาขึ้นกับสินทรัพย์ที่อ้างอิง กำไรจากการซื้อขายได้รับการยกเว้นภาษี อีกทั้ง DRx ไม่มีกำหนดหน่วยการซื้อขาย (Board Lot) ด้วย โดยข้อมูล ณ 18 ก.ย. 66 มี DR ที่อ้างอิงดัชนีหุ้นต่างประเทศอยู่ 6 DR และ DR/DRx ที่อ้างอิงหุ้นของบริษัทต่างประเทศอยู่ 7 DR และ 5 DRx
สำหรับการลงทุนผ่าน ETF DR และ DRx เป็นการลงทุนที่ราคาซื้อขายแบบ real-time เช่นเดียวกับการลงทุนหุ้นโดยตรงที่ต่างประเทศ แต่ด้วยราคาซื้อขายแบบ real-time ก็ถือเป็นจุดด้อยสำหรับคนที่ไม่มีเวลาติดตามตลาดการลงทุนอย่างใกล้ชิด และยิ่งหากเป็นทางเลือกที่อ้างอิงหุ้นรายบริษัทก็จะมีความเสี่ยงจากการลงทุนกระจุกตัวด้วย
การลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ ที่นอกจากส่วนต่างกำไรได้รับการยกเว้นภาษีและเงินปันผลที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ไม่จำเป็นต้องนำไปยื่นภาษีแล้ว ยังช่วยให้เงินที่ลงทุนมีกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนหุ้นที่หลากหลายภายใต้นโยบายที่ประกาศไว้ อีกทั้งยังมีกองทุน SSF/RMF ที่เป็นกองทุนหุ้นต่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกลดหย่อนภาษีให้กับผู้ลงทุนอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น
• กองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นเวียดนาม อย่าง K-VIETNAM โดยมีกองทุนทางเลือกลดหย่อนภาษีอย่าง K-VIETNAM-SSF และ KVIETNAMRMF
• กองทุนหุ้นกลุ่ม Thematic อย่าง K-HIT-A(A) K-GHEALTH และกองทุนทางเลือกลดหย่อนภาษีอย่าง KGHRMF
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”