เลือกกองลดหย่อนภาษียังไงดี ในช่วงตลาดผันผวน

เมื่อจำเป็นต้องลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีในช่วงสิ้นปี ทั้งที่ตลาดยังมีความไม่แน่นอน กองทุน SSF/RMF ที่เป็นกองทุนผสม คือ หนึ่งในทางออกที่ช่วยลดความกังวลใจในการลงทุนในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนได้

• ตลาดผันผวนไม่น่าเชิญชวนลงทุน แต่ก็จำเป็นต้องใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้ทันสิ้นปี กองทุน K-GINCOME-SSF / KGINCOMERMF ที่กระจายการลงทุนหลากหลาย มีผู้จัดการกองทุนดูแล เป็นตัวช่วยให้ผู้ลงทุนเลือกลงทุนได้แม้ยามตลาดมีความผันผวน


• กองทุน SSF/RMF ที่เป็นหุ้นต่างประเทศ ให้ผลตอบแทนสูง YTD 13.42% ถึง 32.34% แต่ก็มีความผันผวนและเคยขาดทุนไม่น้อยในช่วงเวลาเดียวกัน ครั้นจะลงทุน SSF/RMF ที่เป็นตราสารหนี้ ก็เป็นการเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนในช่วงระยะเวลาการลงทุนกว่า 10 ปี




ในช่วงที่การลงทุนที่มีความผันผวนไม่ว่าจะเป็น สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีท่าทีสงบ ก็ยังเกิดสงครามอิสราเอล–ปาเลสไตน์ขึ้นอีก ยังไม่นับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักของโลก ที่ทำให้ผลตอบแทนทั้งหุ้นและกองทุนมีความผันผวนในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องลงทุนอย่างกองทุนลดหย่อนภาษี ที่มี deadline ต้องลงทุนให้ทันภายในสิ้นปี เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีปีนี้ เราจะเลือกกองทุนลดหย่อนภาษีทั้งกองทุน SSF และกองทุน RMF อย่างไรดี ในช่วงที่ตลาดผันผวนเช่นนี้


I: กองทุนที่เน้นผลตอบแทน ย่อมมาพร้อมความผันผวน

กองทุน SSF/RMF ที่เป็นกองทุนหุ้นต่างประเทศ เช่น จีน สหรัฐฯ เวียดนาม ฯลฯ หากมีการลงทุนตั้งแต่ต้นปี 66 จนถึง 5 ต.ค. 66 พบว่าแต่ละกองทุนเคยให้ผลตอบแทน (YTD) สูงสุดอยู่ที่ 13.42% ถึง 32.34% อย่างไรก็ตามแม้กองทุน K-CHINA-SSF/RMF K-USA-SSF/RMF K-VIETNAM-SSF/RMF จะมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความผันผวนที่สูงเช่นกัน โดยหากลงทุนกองทุนดังกล่าวตั้งแต่ต้นปีมา จะเคยขาดทุนสูงสุดอยู่ที่ (YTD) -1.60% ถึง -22.45% ซึ่งต่างจาก SSF/RMF ที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ อย่างกองทุน K-FIXEDPLUS-SSF และ KFIRMF ที่หากลงทุนตั้งแต่ต้นปีมา เคยขาดทุนสูงสุดอยู่ที่ (YTD) -0.14% และ -0.09% ตามลำดับเท่านั้น




รูปภาพ: แสดงผลการดำเนินงานของกองทุน SSF เมื่อเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่ต้นปี 66 จนถึง 5 ต.ค. 66



II: ลงทุนอย่างไร? เพื่อรับมือกับความผันผวน

เมื่อผลตอบแทนมาพร้อมความผันผวน และการหลีกเลี่ยงความผันผวนด้วยการลงทุนกองทุน SSF/RMF ที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนระยะยาว 10 ปี หรือจนถึงอายุอย่างน้อย 55 ปี เพราะผลตอบแทนที่ได้รับจากกองทุนตราสารหนี้ จะไม่คุ้มกับต้นทุนการเสียโอกาสในช่วงที่ต้องถือเงินลงทุนในกองทุน SSF/RMF นี้


สำหรับการลงทุนในกองทุนหรือทางเลือกที่มีความผันผวนแต่มีโอกาสรับผลตอบแทนสูง K WEALTH ขอแนะนำ 3 หลักการลงทุนเพื่อรับมือกับความผันผวนที่ผู้ลงทุนต้องเผชิญ ดังนี้


(1) กระจายเงินลงทุนให้หลากหลาย: จากกราฟมูลค่าเงินลงทุนในกองทุนหุ้นจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม จะเห็นว่าในแต่ละช่วงเวลา กองทุนหรือสินทรัพย์เหล่านี้มีความเคลื่อนไหวและผลตอบแทนที่ต่างกัน การกระจายเงินลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์ที่หลากหลาย จะช่วยให้มูลค่าเงินลงทุนโดยรวมผันผวนน้อยกว่าการลงทุนแค่สินทรัพย์เดียว โดยระยะยาวก็ยังคงได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุนตราสารหนี้เช่นกัน


(2) หมั่นติดตามเงินลงทุนเพื่อปรับพอร์ต: จากที่แต่ละสินทรัพย์มีผลตอบแทนและแนวโน้มที่ต่างกันตามสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ผู้ลงทุนจึงควรติดตามตลาดและพิจารณาปรับ เพิ่ม/ลด เงินลงทุนในแต่ละส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดความผันผวนของเงินลงทุนโดยรวมลง


(3) เน้นถือลงทุนระยะยาว: ความผันผวนเป็นสิ่งที่มาคู่กับการลงทุน โดยเฉพาะผลตอบแทนช่วงสั้นๆ ที่อาจเห็นติดลบ แต่หากสามารถถือลงทุนได้นานพอ ผลตอบแทนก็มีโอกาสกลับมาเป็นบวกได้ เช่น จากกราฟข้างต้นแม้ในช่วงต้นปีกองทุน K-VIETNAM-SSF K-USA-SSF จะมีผลตอบแทนที่ติดลบ แต่หากถือมาจนถึงกลางปีได้ กองทุนทั้ง 2 ก็กลับมาให้ผลตอบแทนที่เป็นกำไร ส่วนกองทุน K-CHINA-SSF แม้ปัจจุบันจะยังขาดทุน แต่หากถือลงทุนต่อระยะยาวได้ เช่น 10 ปีขึ้นไป ตามเงื่อนไขระยะเวลาการลงทุนกองทุน SSF ก็มีโอกาสสูงที่ผลตอบแทนจะกลับมากำไรได้



III: ลงทุนอย่างไร? แบบไม่ต้องเหนื่อยติดตามเอง

ในทางปฏิบัติคงเป็นการยากที่ผู้ลงทุนแต่ละคนจะสามารถลงทุนได้ครบทั้ง 3 หลัก เพื่อรับมือความผันผวน โดยเฉพาะการกระจายเงินลงทุนและติดตามเพื่อปรับพอร์ต การเลือกลงทุนกองทุน SSF/RMF ที่เป็นกองทุนผสม มีนโยบายกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย โดยมีผู้จัดการกองทุนและทีมงานผู้เชี่ยวชาญในการติดตามและปรับเงินลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ ก็เป็นทางเลือกที่ทำให้การลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีนี้ สามารถรับมือกับตลาดที่ผันผวนได้ตลอดระยะเวลาที่ลงทุน


ตัวอย่างกองทุนผสมที่ว่า ได้แก่ กองทุน K-GINCOME-SSF และ KGINCOMERMF ที่หากเริ่มลงทุนตั้งแต่ต้นปี 66 จนถึง 29 ก.ย. 66 (ข้อมูลผลการดำเนินงานล่าสุด K-GINCOME-SSF/RMF เปิดเผยช้ากว่ากองทุนหุ้นต่างประเทศทั่วไป) กองทุนเหล่านี้เคยกำไรสูงสุด (YTD) อยู่ที่ 3.48% และ 3.65% ตามลำดับ ขณะที่เคยขาดทุนสูงสุดอยู่ที่ (YTD) -1.53% และ -1.32% ตามลำดับ เท่านั้น


เห็นได้ว่า การลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีที่เป็นกองทุนผสม อย่างกองทุน K-GINCOME-SSF ที่ต้องถือหน่วยลงทุน 10 ปีเต็ม นับจากวันที่ลงทุน และกองทุน KGINCOMERMF ที่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี (ไม่มีขั้นต่ำ) จนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ โดยต้องไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็มนั้น ถือเป็นทางเลือกการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี ที่ไม่ต้องเหนื่อยติดตามเงินลงทุนเองในช่วงที่ตลาดผันผวน ทำให้ผู้ลงทุนสามารถใช้เวลาที่มีทุ่มเทไปกับการทำงานหรือสิ่งที่ตนเองถนัด เพื่อหาเงินมาเก็บหรือลงทุนเพิ่ม ต่อยอดความมั่งคั่งในอนาคตได้



IV: กองทุนลดหย่อนภาษี ไม่จำเป็นต้องรอถึงสิ้นปี

การทยอยลงทุนกองทุน SSF/RMF ทุกๆ เดือน ด้วยการ “สร้างแผนซื้อกองทุน (DCA)” บนแอปพลิเคชั่น K-My Funds เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นอกจากช่วยลดความเสี่ยงที่จะซื้อกองทุนในต้นทุน (NAV) ที่สูงจากการลงทุนด้วยเงินก้อนเพียงครั้งเดียวแล้ว ยังเป็นการช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถทยอยเก็บเงินจากรายได้ในแต่ละเดือนไปเก็บไว้ในกองทุนลดหย่อนภาษีที่ช่วยสร้างผลตอบแทนระยะยาวพร้อมกับเงื่อนไขการล็อกเงินไม่ให้ถูกนำออกไปใช้ได้ง่ายๆ


แต่เมื่อถึงปลายปีหากที่ผ่านมาไม่ได้มีการวางแผนไว้ หรือจำเป็นต้องรอเงินก้อนก่อน เช่น เงินโบนัสปลายปี ฯลฯ เพื่อนำเงินไปลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ก็ควรเลือกกองทุน SSF/RMF ที่เป็นกองทุนผสมอย่างกองทุน K-GINCOME-SSF และ KGINCOMERMF เป็นต้น ที่ไม่จำเป็นต้องจับจังหวะการลงทุนและยังสามารถใช้รับมือกับความผันผวนของตลาดได้ ส่วนใครที่ยังต้องรอเงินก้อนตอนต้นปีหน้า ก็สามารถเลือกลงทุนกองทุน SSF/RMF โดยตัดเงินผ่านบัตรเครดิตไปก่อน ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตนเองบนแอปพลิเคชั่น K PLUS แล้วรอนำเงินก้อนที่ได้รับต้นปีหน้า ไปชำระค่าบัตรเครดิตภายหลัง


ตลาดผันผวน ไม่ใช่ความเสี่ยงที่ต้องกังวลเสมอไป แต่อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้และมีเงินพร้อมลงทุนเพื่อรับผลตอบแทน แต่สำหรับคนที่ยังกังวลใจ กองทุนผสมที่มีการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่หลากหลายถือเป็นทางเลือกที่สามารถลงทุนได้ในทุกสภาวะตลาด และหากยิ่งเป็นกองทุน SSF/RMF ด้วยแล้ว สิทธิลดหย่อนภาษีหรือเงินคืนภาษีที่ได้รับ ก็เสมือนเป็นผลตอบแทนส่วนเพิ่ม เพื่อชดเชยความกังวลการขาดทุนของผู้ลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวนได้


คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH Trainer ราชันย์ ตันติจินดา CFP®
Back to top