Term Fund vs. ฝากประจำ เลือกทางไหนดี เมื่อมีเงินก้อน

กองทุน Term Fund ทางเลือกลงทุนน่าสนใจของคนมีเงินก้อน

• กองทุน Term Fund มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าฝากประจำในระยะเวลาที่เท่ากัน และผลตอบแทนที่ได้รับไม่ถูกหักภาษี


• ลองแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาลงทุนกองทุน Term Fund เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิม




เมื่อมีรายได้หรือมีเงินก้อนเข้ามา มักมีคำถามตามมาเสมอว่าควรลงทุนอะไรดี ซึ่งทางเลือกแรกๆ ที่หลายคนคิดถึงคือการนำเงินไปฝากธนาคารไว้ก่อน อย่างการฝากประจำเพื่อให้เงินงอกเงย ยิ่งช่วงนี้หลายธนาคารมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับสูงขึ้น ก็ทำให้ได้รับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นด้วย นอกจากการฝากประจำแล้ว ยังมีการลงทุนอีกแบบหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับการฝากประจำนั่นคือ กองทุน Term Fund กองทุนแบบนี้น่าสนใจอย่างไร และควรเลือกทางไหนดีเมื่อมีเงินก้อน



ทำความรู้จักกับกองทุน

กองทุน Term Fund คือ กองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีการกำหนดอายุโครงการไว้แน่นอน เช่น 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี ซึ่งผู้ลงทุนจะรู้ประมาณการผลตอบแทนที่จะได้รับก่อนลงทุน โดยกองทุน Term Fund จะนำเงินของผู้ลงทุนไปลงทุนในเงินฝากและ/หรือตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน ที่มีความเสี่ยงต่ำและมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง และเมื่อลงทุนจนครบอายุโครงการแล้ว กองทุนก็จะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ


กองทุน Term Fund จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย แต่คาดหวังผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก และยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินในระยะเวลาสั้นๆ สามารถลงทุนได้ครบตามระยะเวลาที่กำหนดเนื่องจากผู้ลงทุนไม่สามารถขายคืนก่อนกำหนดได้


สำหรับกองทุน Term Fund ที่เสนอขายในปัจจุบันมีทั้งแบบที่นำเงินไปลงทุนในพันธบัตร 100% ลงทุนในเงินฝาก 100% หรือลงทุนทั้งพันธบัตรและเงินฝาก รวมถึงหุ้นกู้ด้วย และสามารถลงทุนได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุน โดยเงินลงทุนเริ่มต้นมี 2 แบบคือ เริ่มต้นที่ 500 บาท และเริ่มต้นที่ 500,000 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละกองทุน



กองทุน Term Fund ต่างกับ ฝากประจำอย่างไร

แม้ว่าลักษณะของกองทุน Term Fund จะมีความคล้ายกับการฝากประจำ แต่เมื่อดูในรายละเอียดแล้วมีความแตกต่างกันดังนี้


1. ความเสี่ยง

ต้องยอมรับว่ากองทุน Term Fund มีความเสี่ยงมากกว่าเงินฝากประจำ และมีโอกาสขาดทุนได้ แต่โอกาสเกิดน้อยมาก โดยระดับความเสี่ยงของกองทุน Term Fund จะอยู่ที่ระดับ 3-4 เท่านั้น ถือเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่วนเงินฝากหากเกิดอะไรขึ้นกับธนาคาร ปัจจุบันจะได้รับความคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 1 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทจึงถือว่ามีความเสี่ยงอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าโอกาสเกิดจะน้อยมากเช่นกัน ดังนั้น การลงทุนในกองทุน Term Fund ความเสี่ยงจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการฝากประจำมากนัก


2. ผลตอบแทน

การลงทุนในกองทุน Term Fund มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำในระยะเวลาที่เท่ากัน แต่ไม่ได้การันตีว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามที่ประมาณการไว้ โดยประมาณการผลตอบแทนในช่วงเดือนก.ย. 66 ที่ผ่านมาของกองทุน Term Fund เป็นดังนี้ · Term Fund 3 เดือน ประมาณการผลตอบแทน 1.70%-2.00% ต่อปี · Term Fund 6 เดือน ประมาณการผลตอบแทน 2.10%-2.40% ต่อปี · Term Fund 1 ปี ประมาณการผลตอบแทน 2.10%-2.65% ต่อปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของ 5 ธนาคารใหญ่ในตลาด (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ต.ค. 66) เป็นดังนี้ · ฝากประจำ 3 เดือน อัตราดอกเบี้ย 1.05%-1.20% ต่อปี · ฝากประจำ 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 1.20%-1.25% ต่อปี · ฝากประจำ 12 เดือน อัตราดอกเบี้ย 1.60%-1.70% ต่อปี


3. การเสียภาษีของผลตอบแทน

ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับจากการลงทุนในกองทุน Term Fund จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่เหมือนกับดอกเบี้ยที่ได้รับจากการฝากประจำที่จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ดังนั้น ผู้ลงทุนกองทุน Term Fund จึงได้รับผลตอบแทนไปแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย


ขอยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพ เห็นตัวเลขผลตอบแทนกันสักหน่อย หากนำเงิน 1 ล้านบาทไปฝากประจำ 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.20% ต่อปี แต่ดอกเบี้ยที่ได้รับจริงจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เหลือ 1.02% ต่อปี เมื่อฝากครบ 6 เดือนจะได้รับดอกเบี้ย 5,100 บาท แต่หากเลือกนำเงิน 1 ล้านบาทนี้ไปลงทุนในกองทุน Term Fund ระยะเวลา 6 เดือน ประมาณการผลตอบแทนอยู่ที่ 2.10% ต่อปี เมื่อครบอายุโครงการ จะได้รับผลตอบแทนประมาณ 10,500 บาท จะเห็นว่าด้วยระยะเวลาที่เท่ากัน กองทุน Term Fund ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากประจำถึง 2 เท่าเลยทีเดียว


หากสนใจลงทุนกองทุน Term Fund สามารถลงทุนผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS, K-My Funds ติดต่อผู้ดูแลการลงทุน หรือติดต่อสาขาธนาคารที่สะดวกได้เลย

ทั้งนี้ หากใครยังไม่เคยลงทุนกองทุน Term Fund มาก่อนหรือยังไม่มั่นใจ อยากให้ลองแบ่งเงินมาลงทุนดู เช่น ปัจจุบันฝากประจำ 6 เดือน อยู่ 1 ล้านบาท ลองแบ่งมาลงทุนกองทุน Term Fund 6 เดือน สัก 5 แสนบาทก่อน เพื่อผลตอบแทนที่มากขึ้นกว่าเดิมและไม่ถูกหักภาษี แล้วหลังจาก 6 เดือนผ่านไป ค่อยมาตอบตัวเองอีกทีว่าพอใจกับผลตอบแทนที่ได้ไหม อยากลองลงทุนต่อไหม


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : · บลจ.กสิกรไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH Trainer สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®
Back to top