สาเหตุที่หุ้นไทยปรับตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี
เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางมาตั้งแต่ก่อนโควิดและยังไร้ปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ
ช่วงไตรมาสแรก ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง โดยผิดหวังจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 4/65 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด แนวโน้มกำไรต่อหุ้น (EPS) ยังถูกปรับลงอย่างต่อเนื่อง และยังมีประเด็นกดดันเพิ่มเติมจากการขึ้นดอกเบี้ยของกนง. ตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายธนาคารกลางใหญ่
ช่วงไตรมาสที่สอง ตลาดหุ้นเผชิญกับการเมืองไทยที่ยังไม่ชัดเจน และมีความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้กังวลเรื่องงบประมาณในเบิกจ่ายการบริหารประเทศอาจจะชะลอการเบิกจ่ายออกไป ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยนับตั้งแต่เลือกตั้ง หุ้นไทยปรับตัวลงทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่ากดดันตลาดหุ้นเพิ่ม
ช่วงไตรมาสที่สาม แม้ว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจะออกมาดี แต่ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยต่างประเทศ คือ การปรับขึ้นและคงดอกเบี้ยระดับสูงของ FED และ ความกังวลผลกระทบภาวะสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ฉุดตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทุกภูมิภาคต่างปรับตัวลง
หากนับตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 12 ธ.ค. 66 ตลาดหุ้นไทยเจอแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ มากกว่า 197,900 ล้านบาท และมีการปรับตัวลงแตะ -20%
สิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ที่มีการลงทุนในหุ้นไทย คงอยากทราบมุมมองว่า เวลานี้ถึงจังหวะซื้อของดี ราคาถูกในตลาดหุ้นไทยแล้วหรือยัง ?” และ “เหตุผลที่มองว่าจะเป็นโอกาสของหุ้นไทยคืออะไร ?”
มองไปข้างหน้า หุ้นไทยยังมีโอกาสอยู่ไหม
ในปีหน้ามองว่าตลาดหุ้นไทยจะยังมีโอกาสฟื้นตัว เม็ดเงินลงทุนต่างชาติน่าจะค่อยๆ ไหลกลับมาได้บ้าง จากปัจจัยหนุนดังนี้
• การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้ กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) คาดว่าจะเติบโตได้ราว 13% จากฐานที่ต่ำ สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตที่ 3.1% จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น
• ราคาหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลงทำให้มีราคาถูกเมื่อเทียบกับอดีต ระดับราคาปัจจุบัน P/E อยู่ประมาณ 14.5 เท่า ซึ่งระดับราคาหุ้นที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจในระยะยาวอยู่ 16.5 เท่า
• อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและประเทศเศรษฐกิจหลัก คงไม่ปรับขึ้น เนื่องจากระดับดอกเบี้ยนโยบายบายอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์ มีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงไตรมาส 2/67 เป็นผลดีต่อตลาดหุ้น
• นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ดิจิตอล วอลเล็ต รวมถึงโครงการเสริมขีดความสามารถและโครงการ E-fund ช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้านภาคการท่องเที่ยว นโยบายฟรีวีซ่ายังช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว ช่วยทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในปีนี้โตตามเป้าหมายที่ 27.5 ล้านราย และจำนวนนักท่องเที่ยวในปีหน้าที่น่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 30.6 ล้านคน จะช่วยกระตุ้นการบริโภคซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังมีการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ อย่าง EEC ที่รองรับการย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลักอย่างรถยนต์ไฟฟ้าและ supply chain ที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานมารองรับการลงทุน การคมนาคมขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ (Land Bridge) และยังช่วยเหลือควบคุมต้นทุนราคาพลังงานอีกด้วย
• การส่งออกในปีหน้าคาดว่าขยายตัว 2% โดยมีสินค้าเกษตร อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
โอกาสจากปัจจัยดังกล่าว หนุนให้ตลาดหุ้นไทยเริ่มกลับมาน่าสนใจ
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในภาคการท่องเที่ยวและการบริโภค และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน รวมถึงนโยบายกระตุ้นต่างๆ เช่น digital wallet อีกทั้งแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed และค่าเงินดอลลาร์ มีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงไตรมาส 2/67 จะสนับสนุนการไหลกลับเข้ามาของเงินทุนต่างชาติ หนุนดัชนีตลาดหุ้นไทย นักลงทุนที่สนใจและรอจังหวะเข้าลงทุนสามารถทยอยสะสมกองทุนหุ้นไทย เช่น กองทุน K-STAR ที่มีการกระจายลงทุนทั้งหุ้นขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก เน้นเติบโตมีศักยภาพและผู้จัดการกองทุนมีการจับจังหวะทำกำไรเพื่อผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าตลาดหุ้นช่วงนั้นจะน่าลงทุนอย่างไร ก็ไม่ควรทุ่มลงทุนในตลาดหุ้นใดด้วยเงินลงทุนทั้งหมดที่มี ควรบริหารความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนแต่ละภูมิภาคและในเทรนด์ธุรกิจที่มีโอกาสและความผันผวนน้อย รวมถึงพิจารณาจัดพอร์ตการลงทุนป้องกันความเสี่ยง เช่น การกระจายลงทุนในกองทุนแนะนำอย่าง K-HIT , K-GHEALTH เป็นต้น