เป็นคำถามในระยะหลังสำหรับทองคำกับเหรียญ Cryptocurrency ในแง่สินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ว่า Cryptocurrency จะแซงทองคำเข้าวินเป็น Safe Haven ยุคใหม่ หรือทองคำจะยังรักษาตำแหน่งตัวเองต่อไป วันนี้ K WEALTH ชวนมาหาคำตอบกันด้วยการเปรียบเทียบ 3 คุณสมบัติที่สำคัญของสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ที่มีหน้าที่เก็บรักษาความมั่งคั่ง ดังนี้
I: การรักษามูลค่า
การเปรียบเทียบการรักษามูลค่าระหว่างทองคำกับ Cryptocurrency มีความน่าสนใจด้วยบทบาทในโลกการเงินและลักษณะทางกายภาพที่ต่างกัน จึงเปรียบเทียบกันในแต่ละด้าน ดังนี้
ลักษณะทางกายภาพ
• ทองคำ: ทนทานต่อการกัดกร่อน ไม่ขึ้นสนิม แปรรูปง่าย แต่ขนส่งพกพาไม่สะดวก
• Cryptocurrency: ไม่มีลักษณะทางกายภาพ และสามารถพกพาสะดวกผ่าน Wallet แบ่งเป็นหน่วยย่อยได้
ความนิยมและความคาดหวังในอนาคต
• ทองคำ: ใช้กันมาอย่างยาวนาน ได้รับความเชื่อมั่นในโลกการเงิน ยังคาดกันว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความไว้วางใจต่อไป
• Cryptocurrency: ยังนับว่าเป็นน้องใหม่มากในโลกการเงิน บทบาทยังไม่ชัดเจน นิยมในกลุ่มที่จำกัด แต่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางในระบบการเงินมากขึ้น
ในแง่การรักษามูลค่า ทองคำเป็นผู้นำในด้านนี้ เนื่องจากถูกใช้มาอย่างยาวนาน แพร่หลายไปทุกชนชั้นจนได้รับความเชื่อถือสูงมาก แต่ในอนาคต Cryptocurrency อาจก้าวขึ้นมามีบทบาทนี้มากขึ้น เช่น Bitcoin ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้มีคุณสมบัติการรักษามูลค่าผ่านเวลาด้วยการจำกัดปริมาณการผลิต
II: ปริมาณการผลิต
หนึ่งในคุณสมบัติที่จะทำให้สิ่งใดก็ตามบนโลกนี้มีคุณค่า คือ ปริมาณการผลิตที่จำกัด ถ้าสิ่งไหนสามารถเร่งการผลิตได้ ราคาหรือมูลค่าอาจลดลง ในกลับกันหากสิ่งนั้นมีอยู่อย่างจำกัดแต่ความต้องการมีเพิ่มขึ้นมูลค่าก็อาจสูงขึ้น โดยคุณสมบัติในแง่ปริมาณการผลิต พิจารณาได้ 2 แง่มุม ดังนี้
ลักษณะการผลิต
• ทองคำ: ทองคำไม่ใช่ว่าจะหากันได้ง่ายตามดินตามทราย แต่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากทั้งแรงงาน เครื่องจักร และการลงทุน การผลิตทองคำจึงมีความยากและต้นทุนสูง
• Cryptocurrency: หากเป็นเหรียญสมัยใหม่ ไม่เป็นต้องใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์และไฟฟ้าในการผลิตเหรียญมากนัก ทำให้ลักษณะการผลิตง่ายขึ้น แต่บางเหรียญอย่าง Bitcoin ก็ยังต้องใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์และไฟฟ้าในการผลิตเหรียญอยู่ การผลิตจึงยากและมีต้นทุนสูงเช่นกัน
การเพิ่มปริมาณการผลิต
• ทองคำ: ในเมื่อทองคำมีราคาสูง เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมเหมืองไม่เร่งขุดทองคำออกมาขายให้ได้ปริมาณมาก นั่นเพราะยิ่งเพิ่มปริมาณการผลิต ต้นทุนจะยิ่งเพิ่มตาม โดยจะมีปริมาณการผลิตจุดหนึ่งเท่านั้นที่ทำอัตรากำไรให้ธุรกิจเหมืองได้มากที่สุด ดังนั้นเหมืองทองคำจึงไม่เร่งผลิตทองคำออกมา แต่เลือกผลิตในระดับที่มีอัตรากำไรสูงสุด
• Cryptocurrency: บางเหรียญที่มีบริษัทคอยควบคุมหรือเป็นผู้ออกเหรียญ ก็อาจมีการเพิ่มปริมาณการผลิตได้ แต่บางเหรียญ เช่น Bitcoin ซึ่งไม่มีใครควบคุมและถูกตั้งค่าจำกัดปริมาณผลิตต่อวัน ก็ไม่สามารถเร่งปริมารการผลิตได้เช่นกัน
ด้วยข้อจำกัดด้านการทำเหมืองทองคำ เป็นคำตอบว่าถึงแม้ทองคำจะมีราคาแพง แต่ก็ไม่มีใครเร่งผลิตออกมาขายทำเงิน นี่จึงทำให้ทองคำยังมีคุณสมบัติโดดเด่นทั้งความหายากและปริมาณที่จำกัด ด้าน Cryptocurrency ก็มีเพียงบางเหรียญเท่านั้นที่มีคุณสมบัติข้อนี้ เช่น Bitcoin, Dogecoin เป็นต้น
III: การเก็บรักษา
การเก็บรักษาเป็นอีกคุณสมบัติที่ต้องคำนึงถึงหากจะถือครองสินทรัพย์ใดก็ตาม เพราะมีทั้งต้นทุน ความเสี่ยงที่จะสูญหาย หรือแม้กระทั่งถูกการขโมย หากเปรียบเทียบระหว่างทองคำกับ Cryptocurrency ด้วยคุณสมบัตินี้ พบว่า
ต้นทุนการเก็บและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ของ
• ทองคำ: ทองคำไม่ได้รับผลกระจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แต่ถ้าใครถือครองทองคำแท่งก็ต้องมีต้นทุนการเก็บรักษา และแบกความเสี่ยงการสูญหายทั้งจากการถูกขโมยหรืออัคคีภัย หรือถ้าถือครองทองคำผ่านใบแสดงสิทธิ (ทองกระดาษ) ก็มีต้นทุนแฝงด้านความเสี่ยงคู่สัญญา (Counterparty Risk) เช่น ไม่สามารถส่งมอบทองคำได้ตามกำหนด หรือคู่สัญญาปิดกิจการ เป็นต้น
• Cryptocurrency: ต้นทุนโดยตรงไม่สูงมากนัก เพียงแค่ใช้ Wallet ซื้อเหรียญมาเก็บไว้ แต่ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนแฝงไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การโดนเจาะข้อมูลขโมยเหรียญ หรือหากฝากเหรียญไว้กับบริษัทกระดานซื้อขายก็มีความเสี่ยงคู่สัญญา (Counterparty Risk) เช่น กิจการล้มละลาย ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แม้ทั้งทองคำและ Cryptocurrency ต่างมีความเสี่ยงในคุณสมบัติข้อนี้ที่ไม่ต่างกันมาก แต่ K WEALTH มองว่าทองคำยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่า เพราะสามารถจัดการกับความเสี่ยงได้ง่ายกว่า เช่น อาจยอมเสียเงินเช่าตู้เซฟเก็บทองคำ ดีกว่าคอยกังวลว่าจะโดนเจาะข้อมูลขโมยเหรียญ Cryptocurrency หรือไม่
Cryptocurrency vs Gold ใครที่มาวิน
จากทุกคุณสมบัติจะเห็นว่า Cryptocurrency มีข้อดีหลายมุมที่แก้ไขข้อบกพร่องของทองคำ อย่างไรก็ตามด้วยระยะเวลาอันสั้นที่ Cryptocurrency เกิดมาบนโลกการเงิน ทำให้ยังมีหลายคุณสมบัติและเหตุการณ์ที่ Cryptocurrency ยังต้องพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งทองคำได้พิสูจน์ตัวเองมานานกว่าพันปีจนได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายแล้ว อีกทั้งความเสี่ยงและความผันผวนของราคา Cryptocurrency ยังสูงกว่าทองคำค่อนข้างมากด้วย
ในช่วงเวลาต่อจากนี้ ทองคำก็ยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหรือ Safe Haven ที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลก ขณะที่ Cryptocurrency ได้รับความนิยมในนักลงทุนเฉพาะกลุ่มที่มีความสนใจเท่านั้น K WEALTH จึงมองว่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาวทองคำยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ที่ได้รับความน่าเชื่อถืออยู่
สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจเปิดรับโอกาสจากเหรียญ Cryptocurrency ไว้บ้าง แต่ K WEALTH ยังคงแนะนำให้แบ่งสัดส่วนเงินลงทุนให้ชัดเจน โดย
• เน้นเงินลงทุนส่วนใหญ่ไปกับสินทรัพย์ลงทุน ทั้งความเสี่ยงต่ำอย่างกองทุนตราสารหนี้และกองทุนหุ้น หรืออาจนำเงินส่วนนี้ลงทุนผ่านกองทุนรวมผสม ที่มีการกระจายการลงทุนและมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลอย่างน้อย 85-95%ของเงินลงทุนทั้งหมด
• เงินลงทุนส่วนที่เป็น Safe Haven ควรมีประมาณ 5%-15%ของเงินลงทุนทั้งหมด และควรเน้นลงทุนในทองคำไม่น้อยกว่า 90% ของเงินลงทุนส่วนที่เป็น Safe Haven (ไม่เกิน 5%-15%ของเงินลงทุนทั้งหมด) ผ่านกองทุน K-GOLD-A(A) สำหรับการลงทุนเพื่อสะสมมูลค่าหรือ K-GOLD-A(D) สำหรับการลงทุนที่ต้องการเงินปันผลระหว่างที่ลงทุน โดยหากต้องลงทุนเหรียญ Cryptocurrency ไม่ควรลงทุนเกิน 10%ของเงินลงทุนส่วนที่เป็น Safe Haven (ไม่เกิน 1%-2%ของเงินลงทุนทั้งหมด)