ตัวเลข GDP ประเทศจีน ไตรมาส 4 โต 5.2% ต่ำกว่าคาดที่ 5.3%
สำนักสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ขยายตัว 5.2% (YoY) ต่ำกว่าคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ที่ 5.3% (YoY) เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 4.9% (YoY) โดยรับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลจีนเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวหลัง COVID-19 ส่งให้ตัวเลข GDP จีนทั้งปี 2023 ขยายตัว 5.2% สูงกว่าเป้าหมายของทางการจีนซึ่งตั้งไว้ที่ 5%
ตัวเลข GDP ปี 2023 สอดคล้องกับที่นายกฯ จีน ได้กล่าวไว้ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ว่าเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ดีราว 5.2% โดยไม่ต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่ต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะสั้น แต่เผชิญความเสี่ยงในระยะยาว
ตัวเลขภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. โตดีกว่าคาด ค้าปลีกโตต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ย.
ขณะเดียวกันมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของเดือนธันวาคม ดังนี้
• ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ขยายตัว 6.8% (YoY) สูงกว่าคาดการณ์ที่ 6.6% (YoY) นับเป็นการขยายตัวในอัตรามากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2022
• ตัวเลขการลงทุนสินทรัพย์คงทน (Fixed Asset Investment) ขยายตัว 3.0% (YoY) สูงกว่าคาดการณ์ที่ 2.9% (YoY)
• ตัวเลขค้าปลีก (Retail Sales) เติบโต 7.4% (YoY) ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 8.0% (YoY) นับเป็นอัตราการเติบโตที่น้อยสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีที่ผ่านมา
• อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) อยู่ที่ 5.1% แย่กว่าคาดที่ 5.0% ส่วนอัตราการว่างงานของประชากรอายุระหว่าง 16-24 ปี อยู่ที่ 14.9%
ซึ่งสะท้อนว่าแม้เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัว แต่เป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังมีหลายภาคส่วนที่ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในที่สะท้อนผ่านตัวเลขการลงทุนสินทรัพย์คงทนและการค้าปลีก
ตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง และเอเชียปรับตัวลงรับตัวเลข GDP จีนต่ำกว่าคาด
หลังมีเปิดเผยตัวเลขออกมา ตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง และเอเชีย (ณ วันที่ 17 ม.ค. 67 เวลา 10.40น.) ปรับตัวลงรับข่าวดังกล่าว โดยที่
• ดัชนี China A50 ปรับตัวลง 1.09%, CSI 300 ปรับตัวลง 0.73% และ Hang Seng ปรับตัวลง 3.07%
• ดัชนี KOSPI เกาหลีใต้ ปรับตัวลง 2.11%, ดัชนี Nifty 50 อินเดีย ปรับตัวลง 1.75% และดัชนี SET ไทย ปรับตัวลง 0.77%
ในระยะสั้นคาดว่าตลาดหุ้นจีนและเอเชียจะผันผวนจากตัวเลข GDP จีนที่ต่ำกว่าคาด ส่วนในระยะกลางถึงยาวคาดว่าความเคลื่อนไหวจะขึ้นอยู่กับขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
มุมมองการลงทุน
K WEALTH มีมุมมองเป็นกลางต่อการลงทุนในตลาดหุ้นจีน จากกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่ยังอ่อนแอ โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ขึ้นอยู่กับขนาดมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลเป็นหลัก โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และนักลงทุนต่างชาติ โดยคาดว่ารัฐบาลจีนจะมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม แต่เน้นการใช้แบบสมดุลตามแนวทางที่นายกฯ จีนได้แถลงในการประชุม World Economic Forum สะท้อนว่ารัฐบาลจีนจะไม่ใช้มาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่รวดเร็วอย่างที่นักลงทุนคาดหวังไว้
และมีมุมมองเป็นบวก (Slightly Positive) ต่อการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย แม้เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด แต่ประเทศที่สำคัญในตลาดหุ้นเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งเศรษฐกิจภายในที่ฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ การส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปี 2024 และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงทำให้ธนาคารกลางอาจใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายกระตุ้นเศรษฐกิจได้
คำแนะนำการลงทุนกองทุนรวมหุ้นจีนและเอเชีย
• การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นจีน เช่น กองทุน K-CHINA-A(A), K-CHINA-A(D), K-CCTV และ K-CHX มีมุมมอง Neutral โดยมีคำแนะนำ ดังนี้
o นักลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนในกองทุนหุ้นจีน หรือมีแต่สัดส่วนน้อยกว่า 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด แนะนำถือต่อ และรอจังหวะลงทุนในอนาคต
o นักลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนหุ้นจีน และมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด แนะนำให้ทยอยขายบางส่วนเพื่อลดสัดส่วนให้ต่ำกว่า 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด
• การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นเอเชีย เช่น K-ASIA, K-ASIA, K-ASIACV มีมุมมอง Slightly Positive โดยมีคำแนะนำ ดังนี้
o นักลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนในกองทุนหุ้นเอเชีย หรือมีแต่สัดส่วนน้อยกว่า 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด แนะนำทยอยลงทุน
o นักลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนหุ้นเอเชีย และมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด แนะนำให้ถือต่อ และทยอยลงทุนเพิ่มได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, CNBC, Reuters
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”