วางแผนภาษีก่อนสาย เมื่อ Platform ขายออนไลน์รายใหญ่ ต้องนำส่งข้อมูลรายได้ของผู้ประกอบการ

สรรพากรมีการออก กม. กำหนดให้แพลตฟอร์มขายออนไลน์ นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร ทำให้ผู้ขายของออนไลน์ ที่ยังไม่เข้าระบบภาษี ต้องเตรียมตัวให้ดี และควรเริ่มวางแผนภาษีตั้งแต่ต้นปี เพื่ออธิบายที่มาที่ไปของรายได้ให้ได้

• กรมสรรพากร ออกกฎหมาย ให้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่จดทะเบียนในไทย ต้องนำส่งข้อมูลรายได้(เป็นบัญชีพิเศษ) ให้กับกรมสรรพากร โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 ที่ผ่านมา


• ผู้ขายของออนไลน์ ควรเพิ่มวิธีบริหารค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่างๆทางภาษี เพื่อเป็นการยื่นเงินได้ และเสียภาษีอย่างถูกต้อง


• ผู้ขายของออนไลน์ บุคคลธรรมดา มีรายได้ตั้งแต่ 60,000 บาท ขึ้นไป (กรณีโสด) ต้องยื่นภาษี ถึงแม้จะไม่เสียภาษีก็ตาม และผู้มีรายได้ตั้งแต่ 375,000 บาทขึ้นไป ต้องยื่นภาษีและเข้าข่ายเสียภาษี




พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องตื่นตัวกับเรื่องภาษีเงินได้อีกครั้ง เมื่อกรมสรรพากรมีประกาศ ให้เหล่าแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลาย มีหน้าที่ส่งข้อมูลรายได้ให้กรมสรรพากรตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 ที่ผ่านมา แล้วจะมีข้อแนะนำเพื่อให้เตรียมตัวเรื่องภาษีอย่างไรบ้าง บทความนี้สรุปมาให้



ใครบ้างที่ต้องส่งข้อมูลรายได้

บรรดาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย เช่น Shopee Lazada Lineman Grab เป็นต้น ให้ทำหน้าที่ส่งข้อมูลรายได้บัญชีพิเศษ ให้กับกรมสรรพากร โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 ที่ผ่านมา



ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ในมุมของผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบทางอ้อม คือ กรมสรรพากร จะมีข้อมูลรายได้ของผู้ประกอบการขายของออนไลน์ที่ละเอียดขึ้น เดิม จะมี กฎหมายภาษี e-Payment ในปี 2562 เพื่อให้สถาบันการเงิน มีหน้าที่ต้องส่งให้กรมสรรพากร จาก จำนวนครั้งและยอดเงินที่โอนเข้าบัญชี และ กฎหมายภาษี e-Service ที่กำหนดให้แพลตฟอร์มต่างชาติ หัก ณ ที่จ่ายไว้ จากรายได้ที่จ่ายให้ผู้ขายของออนไลน์ เช่น ค่า Ads ทำให้มีร่องรอยของรายได้ ล่าสุด เพิ่มกฎหมายให้แพลตฟอร์มที่จดทะเบียนในไทย ส่งข้อมูลรายได้ให้สรรพากรโดยตรง ทำให้ผู้ประกอบการฯ ต้องตื่นตัวและรับรู้เรื่องภาษีเงินได้ในปีนี้ให้มากขึ้น



ข้อแนะนำและสิ่งที่ต้องทำของผู้ขายของออนไลน์

1. ผู้ค้าออนไลน์ในนามบุคคลธรรมดา ที่มีรายได้ในปีภาษี 67 คือรับรายได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 67 เกิน 60,000 บาท (กรณีโสด) และ เกิน 120,000 (กรณีสมรส) ต้องเตรียมยื่นภาษีในช่วงต้นปี 68 ไม่ว่าจะเสียภาษีหรือไม่ก็ตาม


2. ผู้ค้าออนไลน์ในนามบุคคลธรรมดา ที่มีรายได้ทั้งปีตั้งแต่ 375,000 บาทขึ้นไป จะต้องยื่นภาษีและอาจจะเสียภาษี ขึ้นอยู่กับวิธีประเมินค่าใช้จ่าย สมมติว่าหักแบบเหมาจ่าย 60% ก็จะเข้าข่ายเสียภาษีแล้ว เดิมอาจจะไม่เสียภาษี แต่หลังจากนี้ต้องยื่นและเสียภาษี สิ่งที่จะแนะนำให้ทำ คือ อย่ารอให้ถึงสิ้นปีแล้วค่อยวางแผน โดยให้เริ่มวางแผนเรื่องต่างๆดังนี้

2.1 ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เก็บหลักฐาน เพื่อใช้ยืนยันรายรับ-รายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายของผู้ขายของออนไลน์ หรือ ต้นทุนขาย เช่น ค่าสินค้า, ค่าขนส่ง, ค่าธรรมเนียมในการชำระเงิน (Payment Fee), ค่าธรรมเนียมการขาย (Commission Fee) ค่าโฆษณา (Affiliate Ads) เป็นต้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง หากเลือกใช้หักค่าใช้จ่ายตามจริงในการยืนภาษี ต้องเก็บเอกสารไว้ยืนยันด้วย

2.2 วางแผนค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา เป็นเรื่องที่วางแผนได้ตั้งแต่ต้นปี เช่น

- การหักค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนสินค้า มีวิธีหักค่าใช้จ่าย 2 วิธี 1.) หักแบบเหมา 60% แปลว่า กำไรขั้นต้นของประกอบกิจการ คือ 40% วิธีนี้จะไม่ต้องเก็บเอกสารใดๆ แต่กำไรที่ใช้คำนวณภาษีอาจจะไม่ตรงกับความจริง 2.)เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง สำหรับกำไรขั้นต้น น้อยกว่า 40% ก็จะต้องเตรียมตัวเรื่องเอกสารตั้งแต่ต้นปีเลย มิฉะนั้น ความครบถ้วนและถูกต้องจะทำได้ยาก เมื่อเตรียมตัวช้า

- ค่าลดหย่อนต่างๆที่ต้องวางแผน เช่น ค่าลดหย่อนคู่สมรส บุตร ที่ต้องเข้าข่ายตามเงื่อนไขด้วย รวมถึง ค่าลดหย่อนในการออมลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุน Thai ESG กองทุน SSF กองทุน RMF รวมถึงประกันชีวิต ประกันแบบบำนาญ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดหย่อนภาษีแล้ว ยังเป็นเงินออม/ลงทุน หรือความคุ้มครองให้บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบการอีกด้วย

2.3 วางแผนการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีปัจจัยในการพิจารณาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล อยู่ 3 ปัจจัย

- รายได้ของธุรกิจ เกิน 2.0 ล้านบาทต่อปี และมีความสม่ำเสมอหรือเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ควรจะจดทะเบียนนิติบุคคล เนื่องจากอัตราภาษีแท้จริงถูกกว่าอัตราภาษีบุคคลธรรมดา

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อรายได้ทั้งปีเกิน 1.8 ล้านบาท หรือ เดือนละ 150,000 บาท และความสม่ำเสมอหรือเติบโตขึ้นเรื่อยๆของรายได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่ต้องเสียทางอ้อม และเมื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะจดทะเบียนนิติบุคคล ก็เป็นเรื่องง่ายขึ้น เนื่องจากธุรกิจต้องให้นักบัญชีเข้ามาช่วยจัดการเรื่องงบการเงิน หรือ ภาษีอยู่แล้ว ก็ให้เตรียมเรื่องบัญชีให้สอดคล้องไปเลย จะได้ลดความยุ่งยาก

- ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนนิติบุคคล จะมีค่าใช้จ่ายครั้งเดียว ในการดำเนินการจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายประจำที่ตามมา เช่น ค่าทำบัญชี ยื่นภาษีต่างๆ ซึ่งจะมากหรือน้อยแล้วแต่ปริมาณงานที่ให้ทำ ซึ่งต้องทำเมื่อจดทะเบียนนิติบุคคล


อย่างไรก็ตาม เรื่องภาษี เป็นเรื่องปกติสำหรับผู้มีเงินได้ เพียงแต่จะจ่ายมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ ประเภทและจำนวนรายได้ จากสถิติการขายของออนไลน์ในปี 66* พบว่า แนวโน้มการขายของออนไลน์ มียอดขายที่เติบโตขึ้น สวนทางกับธุรกิจประเภทอื่นๆ ก็เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ผู้ขายของออนไลน์ก็มีโอกาสจะได้รายได้สูง แต่หลายคนกลับกลัวเรื่องภาษี ปัจจุบันมีแนวทางในการวางแผนภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเสียภาษีในระดับที่เหมาะสม เพียงแต่ผู้ประกอบการก็ต้องทราบหลักเกณฑ์และเตรียมความพร้อมด้านบัญชี การยื่นภาษี ให้ถูกต้อง ก็สามารถวางแผนภาษีได้แล้ว


คำเตือน : ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน ขอขอบคุณข้อมูลจาก : *https://www.prachachat.net/economy/news-1482249


.

คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH Trainer สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®
Back to top