ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25- 5.50% ตามคาด
ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีมติเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งแรกของปี วันที่ 30-31 ม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 22 ปี เป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันครั้งที่ 4 หลังจากที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565 และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด
อย่างไรก็ดี รายละเอียดการประชุมมีการส่งสัญญาณว่ายังไม่มีแผนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค. เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุดออกมายังคงแข็งแกร่ง คาดว่าจะสามารถคุมเศรษฐกิจให้ทรงตัวได้ คือ เงินเฟ้อลดลง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับไม่สูงมาก และเศรษฐกิจชะลอตัวไม่มาก (soft landing) มองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ 5.25- 5.50% เป็นระดับที่สูงสุดแล้ว ยังต้องรอพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆเพิ่มเติม ทำให้ตลาดทั่วโลกส่วนใหญ่ต่างปรับตัวลงเพราะผิดหวังจากการคาดการณ์เดิมว่าจะมีการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน มี.ค.นี้
ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ออกมาอ่อนแอสร้างแรงกดดันตลาดเพิ่ม
ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทอัลฟาเบทและไมโครซอฟท์ โดยหุ้นอัลฟาเบท ร่วงลง 7.5% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้ในไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 8.631 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 8.533 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่รายได้จากการโฆษณาบนยูทูบ (YouTube) อยู่ที่ 9.2 พันล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 9.21 พันล้านดอลลาร์
หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 2.7% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้อยู่ที่ 6.202 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 ของปีงบการเงิน 2567 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 6.112 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่บริษัทคาดการณ์ว่า รายได้เฉลี่ยในไตรมาส 3 จะอยู่ที่ 6.050 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 6.093 หมื่นล้านดอลลาร์
อีกทั้งนักลงทุนเริ่มกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านการเงินของธนาคารระดับภูมิภาคในสหรัฐอีกครั้ง หลังจากธนาคารนิวยอร์ก คอมมูนิตี้ แบงคอร์ป (New York Community Bancorp) เปิดเผยตัวเลขขาดทุนในไตรมาส 4/2566 และประกาศลดการจ่ายเงินปันผล ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นของธนาคารร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี
ทั้งนี้ แม้ตลาดหุ้นสหรัฐนจะปิดร่วงลงในการซื้อขายวันสุดท้ายของเดือนม.ค. แต่เมื่อพิจารณาตลอดทั้งเดือนม.ค.แล้ว ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 1.2%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.6% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 1%
ตลาดจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนม.ค. ของสหรัฐ
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนยังรอการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯที่จะมีในวันศุกร์ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 173,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 216,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในเดือนม.ค. จากระดับ 3.7% ในเดือนธ.ค.
มุมมองการลงทุน
K WEALTH มีมุมมองเป็นค่อนข้างบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากแนวโน้มทิศทางนโยบายดอกเบี้ยขาลงในปี 2567 ส่งผลดีกับตลาดหุ้นโดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Growth ขนาดกลางที่โดนกดดันมาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดแรงงานและภาคบริการยังแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้เงินเฟ้อมีโอกาสที่จะเร่งตัวขึ้นและทำให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้น ประกอบกับดัชนีที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างมากในปีที่แล้วโดยเฉพาะหุ้น Mega Cap ทำให้ Valuation ของตลาดหุ้นโดยรวมอยู่ในระดับที่สูงเทียบกับในอดีต
คำแนะนำการลงทุนกองทุนรวมหุ้นสหรัฐฯ
• การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นสหรัฐฯ เช่น กองทุน K-USA-A(A), K-USA-A(D), K-US500X-A(A), K-USXNDQ-A(A) และ K-USXNDQ-A(D) มีมุมมอง Slightly Positive โดยมีคำแนะนำ ดังนี้
o นักลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐฯ หรือมีแต่สัดส่วนน้อยกว่า 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด แนะนำ ทยอยสะสมช่วงตลาดหุ้นปรับตัวลง
o นักลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐฯ และมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด แนะนำให้ทยอยขายบางส่วนเพื่อลดสัดส่วนให้ต่ำกว่า 30% ของเงินลงทุนทั้งหมดไปยังกองทุนที่ K WEALTH แนะนำ เช่น K-HIT-A(A), K-GHEALTH , K-VIETNAM ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเติบโตในช่วง 3-6 เดือน และเพื่อกระจายการลงทุน เป็นต้น
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”