เห็นตัวเลขภาษีที่ยื่น รู้งี้วางแผนภาษีตั้งนานแล้ว

ถึงช่วงเวลายื่นภาษี ลองส่องตัวเลขภาษีที่ต้องเสีย แล้วจะมีวิธีการวางแผนภาษีอย่างไรกันบ้าง แล้ววางแผนภาษีต้นปีมีประโยชน์อะไร รวมถึง Tips ในการลดหย่อนภาษีในช่วงยื่นภาษีกับระบบ My Tax Account

กดฟัง
หยุด

• หลังยื่นภาษีปีที่แล้ว อยากวางแผนภาษีปีนี้ ทำได้ด้วยกองทุนลดหย่อนภาษี (Thai ESG, SSF, RMF) ประกันชีวิต ประกันบำนาญ ด้วย 3 เทคนิค คือ เทคนิคออมรายเดือน เทคนิคออมแบบจับจังหวะและเทคนิคออมแบบผสม


• วางแผนภาษีต้นปี ด้วยเทคนิคออมรายเดือน ช่วยให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีได้ จากเทคนิค Dollar Cost Averaging ช่วยเรื่องการออมเกิดขึ้นได้จริง ไม่นำมาใช้ก่อน และ ช่วยให้มีเงินเก็บมากกว่า จากเทคนิคดอกเบี้ยทบต้น


• ระบบ My Tax Account ตัวช่วยในการยื่นภาษี เป็นข้อมูลที่ถูกรวบรวมจากการยินยอมเปิดเผยข้อมูลต่อกรมสรรพากร ทำให้มีข้อมูลให้ตรวจสอบก่อนยื่นภาษีได้ ไม่ใช่ข้อมูลที่กรมสรรพากรใช้เป็นข้อมูลประเมิน รายได้ หรือค่าลดหย่อน ดังนั้นหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูลรายได้ ค่าลดหย่อน ยังคงเป็นหน้าที่ของเราในฐานะผู้มีเงินได้ต้องตรวจสอบก่อนยื่นภาษีทุกครั้ง




ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ของทุกปี เป็นช่วงเวลาของการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ของปีที่ผ่านมา แน่นอน ทุกคนสนใจวิธีการยื่นภาษี ไม่ว่าจะได้รับภาษีเงินคืน หรือ จะต้องชำระเพิ่ม แต่ภาษีที่ชำระไป ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว หรือจ่ายเพิ่มหลังจากยื่นภาษี เป็นสิ่งที่ต้องนำมาทบทวนเพื่อใช้ในการวางแผนภาษีในปีปัจจุบัน แล้วจะมีบทเรียนจากการยื่นภาษีอะไรบ้าง ที่ควรรีบนำมาใช้ในการวางแผนภาษีต่อได้เลย บทความนี้สรุปมาให้



เห็นยอดภาษีที่ยื่นแล้ว จะวางแผนอะไรเพิ่ม

ส่วนใหญ่ยอดภาษีที่เราจ่ายในแต่ละปี คือ ยอดภาษีที่คำนวณได้ เทียบกับ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ถ้าภาษีที่คำนวณได้ มากกว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก็จะต้องชำระเพิ่ม ในทางตรงกันข้าม ภาษีที่คำนวณได้ น้อยกว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก็จะได้เงินคืนภาษี ดังนั้นได้เงินคืน ไม่ได้แปลว่า ไม่เสียภาษี แต่ถูกหักไว้มากเกินต่างหาก ยกตัวอย่าง เช่น ภาษีที่คำนวณได้ คือ 8,000 บาท และถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ 10,000 บาท ดังนั้น ได้เงินคืน 2,000 บาท กรณีนี้เท่ากับจ่ายภาษี 8,000 บาท แต่เราจะสามารถวางแผนภาษีให้ดีกว่านี้ได้ไหม มีทางเลือกอะไรบ้าง


1. เพิ่มอัตราสะสมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ให้มากขึ้น ก็จะช่วยให้ลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้น และออมเงินเพื่อเกษียณมากขึ้นด้วย สูงสุด ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และไม่เกิน 500,000 บาท


2. ใช้ประโยชน์จากเงินค่าซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี จะแตกต่างจากข้อ 1 ด้วยการกำหนดสัดส่วนการลงทุนได้เอง และดูเงื่อนไขทางภาษีด้วย เช่น

2.1 กองทุน Thai ESG สิทธิซื้อสูงสุดได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลาถือครองอย่างน้อย 8 ปี (นับวันชนวัน) ไม่มีขั้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่อง

2.2 กองทุน SSF สิทธิซื้อสูงสุดได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาถือครองอย่างน้อย 10 ปี (นับวันชนวัน) ไม่มีขั้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่อง

2.3 กองทุน RMF สิทธิซื้อสูงสุดได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุน SSF RMF ประกันบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วย เงื่อนไขในการขาย คือ จะต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี และอายุ 55 ปีบริบูรณ์


3. ใช้ประโยชน์จากการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันบำนาญ โดยใช้การชำระเบี้ยเป็นค่าลดหย่อนโดยมีเงื่อนไขทางภาษี เช่น

3.1 ประกันชีวิต ใช้ค่าเบี้ยประกันชีวิต เป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และต้องมีระยะเวลาของกรมธรรม์ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

3.2 ประกันสุขภาพ ใช้ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ เป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

3.3 ประกันบำนาญ ใช้ค่าเบี้ยประกันบำนาญ เป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกอง SSF RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท


4. เงินบริจาค มีทั้งแบบหักลดหย่อนได้ 2 เท่า และ 1 เท่า ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 10% ของเงินได้หักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนอื่นๆแล้ว

จากทางเลือกทั้ง 4 ทาง ที่ช่วยให้ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น ยังมีเทคนิคที่ช่วยให้ลดหย่อนภาษี อีก 3 วิธีที่ช่วยให้ทำได้จริง และอาจจะช่วยเรื่องต้นทุนในการลงทุนด้วย


1. เทคนิคออมรายเดือน แนวทางแบบ Dollar Cost Averaging ไม่ว่าจะเป็นการออมใน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุน Thai ESG, SSF และ RMF ซึ่งได้ประโยชน์จากการกระจายซื้อรายเดือน คือ ต้นทุนที่ได้จากการลงทุนจะอยู่กลางๆ ไม่ถูกสุด แต่ก็ไม่แพงสุด นอกจากกลุ่มกองทุน ยังมีประกันชีวิต ประกันบำนาญ ที่ชำระเบี้ยเป็นรายเดือนได้เช่นกัน แต่ประโยชน์ที่ได้ คือ เรื่องเงินออมที่สอดคล้องกับรายได้ เหมาะกับผู้มีรายได้ประจำ และต้องการเก็บเงินให้อยู่ในระยะยาว (นานกว่า 1 ปี) หรือถ้ายังเลือกกองทุนลดหย่อนภาษีไม่ได้ สามารถเลือกออมรายเดือนในกองทุนลดหย่อนภาษีที่มีความเสี่ยงต่ำไปก่อน เช่น K-SF-SSF หรือ KSFRMF ไปก่อน แล้วค่อยหาจังหวะสับเปลี่ยนไปประเภทกองทุนเดียวกันอีกทีก็ได้


2. เทคนิคออมแบบจับจังหวะ ปีละ 1-2 ครั้ง เน้นเงินก้อนอย่าง เงินโบนัส หรือ เงินพิเศษที่ให้เป็นรายปี หรือ รายครึ่งปี ก็เป็นอีกแนวทางที่จะทำให้เก็บเงินอยู่ได้ หรือจะเก็บเงินรายเดือนไว้ในกองทุนพักเงิน อย่าง K-SF-A(A) ไปก่อนแล้วนำเงินก้อนมาจับจังหวะลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีอีกที


3. เทคนิคออมแบบผสม เป็นการนำทั้ง

2 เทคนิคแรก มาผสมกัน ก็จะมีหลายคนที่ออมรายเดือนไหวอยู่แล้ว แต่ต้องการใช้เงินก้อนมาช่วยในการจับจังหวะในการลงทุนด้วย ดังนั้น จะแบ่งเงินส่วนนึงมาออมรายเดือน เพื่อกระจายความเสี่ยงเรื่องต้นทุน และใช้เงินก้อนปีละ 1-2 ครั้ง มาช่วยจับจังหวะการลงทุนเพิ่ม



ทำไมต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่ต้นปี

- เริ่มออมก่อน ครบกำหนดเงื่อนไขภาษีก่อน ไม่ว่าจะเป็นกองทุน Thai ESG, กองทุน SSF จะมีเงื่อนไขการลงทุนอย่างน้อย 8 ปี และ 10 ปี นับวันชนวัน ตามลำดับ ทำให้การออมก่อน จะครบกำหนดเงื่อนไขภาษีก่อน

- การทยอยออม (เริ่มตั้งแต่วันนี้) มีโอกาสออมได้ง่ายกว่า การออมเป็นก้อน เนื่องจากเป็นการออมจากรายได้รายเดือน ช่วยเรื่องสภาพคล่องในการออมได้

- การออมก่อน จะมีโอกาสรวยกว่ เนื่องจากมีระยะเวลาในการลงทุน เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยทำให้เกิดผลตอบแทนทบต้น และทำให้บรรลุเป้าหมายการเงินได้เร็วกว่า ปัจจัยเงินต้น หรือ ปัจจัยอัตราผลตอบแทน ยกตัวอย่างเช่น ฝาแฝด นายเอ และนายบี อายุเท่ากัน นายเอ เริ่มต้นออมเดือนละ 10,000 บาท ตั้งแต่อายุ 25 ปี เป็นเวลา 10 ปี จนอายุ 35 ปี และไม่นำเงินออกมาใช้ก่อน ด้วยผลตอบแทนคาดหวัง 8% ต่อปี (ลงทุนกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศธีมรักษ์โลก เช่น K-CHANGE-SSF หรือ KCHANGERMF) เมื่อครบอายุ 55 ปี เงินออมจะเติบโตเป็น 9.01 ล้านบาท (จากเงินต้น 120,000 บาท) ในขณะนายบี เริ่มต้นออมเดือนละ 20,000 บาท แต่ออมช้า เริ่มออมอายุ 35 ปี เป็นเวลา 10 ปี จนอายุ 45 ปี ด้วยผลตอบแทนคาดหวัง 8% ต่อปี (ลงทุนกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศธีมรักษ์โลก เช่น K-CHANGE-SSF หรือ KCHANGERMF) และไม่นำเงินออกมาใช้เช่นกัน ทำให้เมื่ออายุ 55 ปี เงินออมจะเติบโตเป็น 8.12 ล้านบาท (จากเงินต้น 240,000 บาท) จะเห็นว่า นายบีออมช้า และออมมากกว่านายเอ 2 เท่า ยังไล่เงินออมที่ออมก่อนแล้วอย่างนายเอไม่ทัน ดังนั้นปัจจัยที่ช่วยในเรื่องการออม คือ ระยะเวลาในการออม



Tip ในการยื่นใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

กรมสรรพากร มีระบบรวบรวมข้อมูลทั้งเงินได้ และค่าลดหย่อน สำหรับผู้มีเงินได้ นั่นคือ ระบบ My Tax Account ซึ่งปัจจุบันในเปิดให้ใช้ข้อมูลในการยื่นภาษีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลเงินได้ ข้อมูลค่าลดหย่อน ซึ่งมีหลายรายการที่ต้องให้ความยินยอม Consent เปิดเผยข้อมูลให้กรมสรรพากร มีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง สรุปมาให้ดังนี้


1. ค่าลดหย่อนต้องให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลกับสรรพากร จึงจะใช้สิทธิได้ เช่น กองทุน Thai ESG, กองทุน SSF และกองทุน RMF โดยให้ความยินยอมต่อ บลจ. ที่ลงทุนเพียงครั้งแรก ครั้งเดียว ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลกองทุนลดหย่อนภาษีในปีนี้ และปีถัดๆไปด้วย


2. ส่วนค่าลดหย่อนกลุ่ม เบี้ยประกัน ดอกเบี้ยบ้าน เงินบริจาค กรณีซื้อครั้งแรก แนะนำให้ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลกับกรมสรรพากร แปลว่า ข้อมูลในกลุ่มนี้ อาจจะทำให้ระบบ My Tax Account มีข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน


3. ค่าบริจาค ที่เข้าระบบ e-Donation เป็นระบบของกรมสรรพากร ที่พัฒนาเพื่อช่วยให้ผู้บริจาค ไม่ต้องจัดเก็บหลักฐานบริจาค ตรวจสอบได้ตลอด 24 ชม. ในระบบ My Tax Account ในขณะที่หน่วยรับบริจาค ไม่ต้องเตรียมออกใบอนุโมทนาบัตร รวมถึงสำเนา เพื่อส่งต่อให้กรมสรรพากร ทั้งนี้ ค่าบริจาคใดที่เข้าระบบ e-Donation มักมีป้ายประชาสัมพันธ์อยู่ จนบางทีคุณอาจจะลืมไปแล้วว่าบริจาคเงินไว้ที่ใดบ้าง


ดังนั้น ระบบ My Tax Account มีข้อมูลทั้งเงินได้ และค่าลดหย่อน สามารถใช้ประกอบการยื่นภาษีได้ และอย่าลืมตรวจสอบข้อมูลให้ตรงกับข้อเท็จจริงก่อนยื่นภาษีกันด้วย


คำเตือน : ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน


.

คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH Trainer สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®
Back to top