ใครที่มีเงินเก็บหรือเงินลงทุน และพอใจกับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่ได้รับอยู่ อยากให้ลองหันกลับมาดูเงินของตนเองสักนิดว่ายังอยู่ในทางเลือกที่ดีและเหมาะสมที่สุดหรือไม่ โดยคนที่ชื่นชอบเงินฝากประจำหรือกองทุน Term Fund เงินครบกำหนดยังถูกนำไปฝากหรือลงทุนต่อในทางเลือกเดิม โดยอาจลืมไปว่าการทำในสิ่งนี้ที่คุ้นเคย อาจนำไปสู่ 3 กับดักการลงทุนได้
กับดักที่1: พลาดทางเลือกใหม่ ที่ดีกว่าเดิม
ช่วงที่ดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับต่ำ อย่างปี 2564-2565 ที่ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน และ 12 เดือน อยู่ที่ 0.4%-0.7%ต่อปี และ 0.4%-1.0%ต่อปี ตามลำดับ ส่วนกองทุน Term Fund อายุ 6-12 เดือน แม้จะมีประมาณการผลตอบแทน 0.45%-1.05%ต่อปี แต่ก็ยังต่ำกว่าเงินฝาก e-Savings ซึ่งเป็นเงินฝากออมทรัพย์รูปแบบใหม่ ที่เพิ่งได้รับความนิยมไม่นานในช่วงปีดังกล่าว ที่ให้ดอกเบี้ย 1.5%ต่อปี หรือสูงกว่าผลตอบแทนจากเงินฝากประจำและ Term Fund คิดเป็น 3.8-1.4 เท่าเลย
e-Savings ในช่วงปี 2564-2565 นอกจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากประจำและกองทุน Term Fund แล้ว ยังมีความเสี่ยงต่ำกว่า และ/หรือ คล่องตัวในการเบิกถอนมากกว่า จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าคนที่ฝากหรือลงทุนต่อในทางเลือกเดิม ได้พลาดโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าในทางเลือกที่ความเสี่ยงต่ำกว่า มานานกว่า 2 ปี และแม้การฝาก e-Savings เกิน 1.33 ล้านบาท จะส่งผลให้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ (ทุกบัญชีทุกธนาคาร) รวมทั้งปีเกิน 20,000 บาท จนต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แต่ดอกเบี้ยสุทธิก็ยังอยู่ที่ 1.275%ต่อปี ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนเงินฝากประจำและกองทุน Term Fund ในช่วงดังกล่าวอยู่ดี อย่างไรก็ตาม Term Fund ที่เสนอขายในปัจจุบันมีประมาณการผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก e-Savings แล้ว เช่น กองทุน KGB1YS ที่เสนอขาย 11-15 มี.ค. 67 มีประมาณการผลตอบแทนอยู่ที่ 2%ต่อปี แต่ก็อาจยังเป็นอัตราผลตอบแทนที่น้อยอยู่เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่น
สำหรับคนที่ยัง (1) เก็บเงินไว้ในเงินฝาก เช่น ฝากประจำ 12 เดือน ที่ปัจจุบันดอกเบี้ยสุทธิหลังหักภาษีอยู่ที่ 1.36%-1.45%ต่อปี (ประกาศเริ่มใช้ 9 มี.ค. 67) การย้ายหรือแบ่งเงินครบกำหนดที่ยังไม่มีแผนใช้จ่าย ไปลงทุนกองทุน Term Fund 1 ปี เช่น KGB1YS (เสนอขาย 11-15 มี.ค. 67) ก็ช่วยให้ได้รับผลตอบแทนมากขึ้นเป็น 2%ต่อปีได้ ส่วนคนที่มี (2) ชอบลงทุนกองทุน Term Fund การย้ายหรือแบ่งเงินครบกำหนดไปลงทุนกองทุน K-FIXEDPLUS-A ที่มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี (ณ 8 มี.ค. 67) อยู่ที่ 2.59% ก็ช่วยให้เงินมีโอกาสโตมากขึ้น โดยมีสภาพคล่องที่สามารถขายคืนได้
กับดักที่2: เงินต้นอาจไม่หาย แต่ก็ไม่เติบโต
ด้วยเงินตั้งต้น 1 ล้านบาท หากนำไปฝากประจำ 12 เดือน ในวันที่ 8 มี.ค. 66 เมื่อครบกำหนด 1 ปี ดอกเบี้ยที่ได้รับหลังหักภาษีแล้วอยู่ที่ 9,350 บาท หรือหากนำไปลงทุนกองทุน Term Fund 1 ปี KGB1YE (ที่เสนอขาย 8-14 มี.ค. 66) ส่วนต่างราคาที่ได้รับเมื่อครบกำหนด 8 มี.ค. 67 อยู่ที่ 15,210 บาท ซึ่งแม้เงินจะโตขึ้น แต่ก็โตเพียง 0.9%-1.5% เท่านั้น
ในขณะที่การนำเงินไปลงทุนในทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น กองทุนผสม WP-BALANCED ที่หากลงทุนเมื่อ 8 มี.ค. 66 ด้วยจำนวนเงิน 1 ล้านบาทเท่ากัน หลังหักค่าธรรมเนียมแล้ว ผ่านมา 1 ปี ณ 8 มี.ค. 67 มูลค่าเงินจะโตขึ้น 48,346 บาท หรือคิดเป็น 4.83% ซึ่งสูงกว่าที่ได้รับจากกองทุน Term Fund และเงินฝากประจำ 3.2 เท่า และ 5.2 เท่าตามลำดับ
ดังนั้นการเลือกแบ่งเงินที่ครบกำหนดไปลงทุนกองทุนผสม เช่น WP-BALANCED ก็ช่วยให้เงินที่มีเติบโตได้เร็วขึ้น แต่หากยังไม่คุ้นชินหรือต้องการทำความรู้จักกองทุนผสมก่อน แนะนำให้เริ่มต้นแบ่งเงิน 10%-20%ไปลงทุนกองทุน WP-BALANCED และติดตามผลตอบแทนหลังลงทุนครบ 1 ปี หรืออาจลงทุน WP-LIGHT ที่เป็นกองทุนผสมเหมือนกันแต่มีสัดส่วนการลงทุนหุ้นน้อยกว่า แต่มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี (ณ 8 มี.ค. 67) สูงกว่า Term Fund และเงินฝากประจำ
กับดักที่3: ได้ประโยชน์จากเงินเก็บ/ลงทุน ไม่มากหรือหลากหลายพอ
นอกจากผลตอบแทนแล้ว การแบ่งเงินเก็บหรือเงินครบกำหนดบางส่วนที่ไม่มีแผนนำไปใช้จ่าย ไปจัดสรรในทางเลือกอื่นๆ ที่ได้รับผลประโยชน์ทางภาษี หรือได้รับผลประโยชน์ความคุ้มครองชีวิต/สุขภาพ ก็ช่วยให้ได้รับประโยชน์ที่มากและหลากหลายขึ้นได้ เช่น
• แบ่งเงิน 2 แสนบาท ไปลงทุนกองทุน K-FIXEDPLUS-SSF ซึ่งเป็นกองทุน SSF ตราสารหนี้ หากลงทุนไปเมื่อ 8 มี.ค. 66 ผ่านมา 1 ปี ณ 8 มี.ค. 67 นอกจากมูลค่าเงินจะโตขึ้น 5,136 บาท หรือคิดเป็น 2.57% ซึ่งนอกจากสูงกว่าที่ได้รับจากกองทุน Term Fund และเงินฝากประจำแล้ว ยังได้รับเงินคืนภาษีตามฐานภาษีหรือเงินเดือนด้วย เช่น คนเงินเดือน 96,000-180,000 บาท ฐานภาษีอยู่ที่ 25% จะได้รับเงินคืนภาษีประมาณ 50,000 บาท รวมแล้วผลประโยชน์คิดเป็น 27.57%ของเงินที่ลงทุนไป หรือหากรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น อาจเลือกลงทุนกองทุน SSF/RMF ที่เป็นกองทุนผสมหรือกองทุนหุ้นได้
• แบ่งเงิน 1 แสนบาท ไปเป็นเบี้ยรายปี ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองตลอดชีพ 99/5 เช่น ผู้ชายอายุ 40 ปี สามารถใช้สร้างความคุ้มครองชีวิตเพื่อส่งต่อให้คนในครอบครัวได้สูงถึง 1,098,000 บาท หากตนเองจากไปอย่างกะทันหัน อีกทั้งยังได้รับเงินคืนภาษีด้วย เช่น คนเงินเดือน 96,000-180,000 บาท ฐานภาษีอยู่ที่ 25% อาจได้รับเงินคืนภาษีสูงสุดประมาณ 25,000 บาท (เสมือนจ่ายเบี้ยประกัน 75,000 บาท)
• แบ่งผลตอบแทนที่ได้รับจากเงินครบ มาเป็นเบี้ยรายปี ประกันสุขภาพ เช่น ผู้ชายอายุ 40 ปี หากแบ่งผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินครบจำนวน 13,705 บาท มาเป็นค่าเบี้ยประกันสัญญาเพิ่มเติม D Health Plus แผน Plus 2 ที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเมื่อนอนโรงพยาบาลสูงสุด 5 ล้านบาทต่อครั้ง เฉพาะส่วนที่เกิน 30,000 บาท เพื่อรองรับการเจ็บป่วยในช่วงที่ยังมีสวัสดิการจากที่ทำงาน และรออัพเกรดเป็นคุ้มครองตั้งแต่บาทแรกตอนอายุ 55-65 ปี หลังจากเกษียณอายุแล้ว
เงินครบกำหนดจากเงินฝากประจำและกองทุน Term Fund สามารถสร้างผลตอบแทนและผลประโยชน์ได้มากกว่าการฝากหรือลงทุนต่อในทางเลือกเดิมๆ ที่เป็นกับดักจากความเคยชิน โดยบางทางเลือกไม่เพียงแต่เพิ่มผลตอบแทนเท่านั้น แต่อาจมีความเสี่ยงต่ำกว่าทางเลือกเดิมอย่างเงินฝาก e-Savings หรือได้ผลประโยชน์ก้อนโตเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นอย่างประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ
หมายเหตุ: อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารกสิกรไทย และผลตอบแทนกองทุนที่เสนอขายผ่านธนาคารกสิกรไทย
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”