ทองคำพุ่งทะยาน! โอกาส หรือ อันตราย?

บทความนี้อธิบายถึงการลงทุนในทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่สามารถส่งต่อความมั่งคั่งได้ในระยะยาว และเป็นที่นิยมของนักลงทุนทั่วโลก โดยบทความนี้จะชี้แจงข้อดีข้อเสียของการลงทุนในทองคำ และคำแนะนำในการลงทุนในทองคำที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และความเสี่ยงของผู้ลงทุน

• 5 เหตุผล ที่ทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 66 (1) ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง (2) ภาวะเงินเฟ้อ (3) แนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลดอลลาร์ (4) ธนาคารกลางหลายประเทศเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรอง และ (5) การเก็งกำไร


• K WEALTH มีมุมมองเป็นกลางต่อการลงทุนในทองคำ โดยสามารถลงทุนได้ แต่ไม่ควรมีสัดส่วนเกิน 10%-15%ของเงินลงทุนโดยรวม หากมีกำไรแนะนำขายทำกำไร หากยังไม่มีการลงทุนแนะนำพิจารณาลงทุนกองทุนอื่น ตาม K WEALTH Fund Recommend




ต้น พ.ค. 67 ราคาทองคำโลกปรับตัวขึ้นมาแล้วประมาณ 27% เทียบกับต้นปี 66 สอดคล้องกับราคาทองคำไทยที่เดือน ม.ค. 66 มีราคาต่ำสุดในเดือนอยู่ที่ 29,650 บาท และมีการปรับตัวสูงขึ้นจนเดือน เม.ย. 67 ราคาสูงสุดในเดือนอยู่ที่ 42,000 บาท จนทำให้สินทรัพย์ประเภททองคำถูกได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งจากนักลงทุนและคนทั่วไป K WEALTH จึงได้สรุปสาเหตุที่ทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นพร้อมคำแนะนำการลงทุนมาให้ในบทความนี้



ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นในช่วงนี้มาจากสาเหตุใด?

1. ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง: เมื่อเศรษฐกิจหรือสถานการณ์ทางการเมืองไม่แน่นอน ผู้คนมักมองหาสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อลงทุน เนื่องจากทองคำมีมูลค่าคงที่และไม่ผูกพันกับเศรษฐกิจหรือรัฐบาลใดประเทศใด ในช่วงที่เกิดวิกฤต เศรษฐกิจถดถอย หรือเงินเฟ้อ ผู้คนมักเทขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และหันมาซื้อทองคำแทน เพราะเชื่อว่าทองคำจะรักษามูลค่าของมันไว้ได้ ซึ่งในปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น สงครามในตะวันออกกลาง วิกฤตพลังงาน และเงินเฟ้อที่สูง ปัจจัยเหล่านี้กระตุ้นให้ความต้องการทองคำเพิ่มสูงขึ้น


2. ภาวะเงินเฟ้อ: เมื่อราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เงินมีมูลค่าลดลง ในขณะที่มูลค่าของทองคำมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับเงินเฟ้อ ในช่วงที่เงินเฟ้อสูง ผู้คนจึงนิยมซื้อทองคำเพื่อรักษามูลค่าของเงินออม


3. แนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลดอลลาร์ จากการคาดการณ์ลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่งผลให้สกุลดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง และ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมาเป็นระยะเวลานาน เป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำในช่วงนี้


4. ธนาคารกลางหลายประเทศเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรอง ทุนสำรองระหว่างประเทศประกอบด้วย สกุลเงินประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน ปอนด์อังกฤษ ฯลฯ และทองคำ ซึ่งทุนสำรองของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สามารถมีสัดส่วนถือครองทองคำได้มากกว่าประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กเนื่องจากมีความจำเป็นด้านสภาพคล่องที่ต้องสำรองสกุลเงินต่างประเทศในการซื้อหรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศน้อยกว่าประเทศอื่น


นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุการความไม่สงบในหลายพื้นที่ ความขัดแย้งระหว่างประทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯและจีน หรือที่เรียกกันว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมไปถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ทองคำ ในฐานะ Safe heaven จึงถูกเพิ่มสัดส่วนในทุนสำรองของประเทศเศรษฐกิจหลักหลายประเทศ อย่างเช่น จีน สิงคโปร์ โปแลนด์ อินเดีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น


5. การเก็งกำไร: ปัจจุบันรูปแบบการลงทุนทองคำมีหลากหลายวิธี เช่น ทองคำแท่ง กองทุนรวมทองคำ Gold ETFs และ Gold Futures การเก็งกำไรจึงเป็นวิธีหนึ่งที่นักลงทุนใช้เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างกำไร โดยคาดหวังว่าราคาทองคำจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างกำไรจากส่วนต่างของราคา ในช่วงที่ราคาทองคำเป็นขึ้น ทำให้มีนักลงทุนจำนวนมากแห่เข้าลงทุน เป็นอีกปัจจัยนึงที่ทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว



เห็นราคาทองพุ่งขึ้นแบบนี้ กลัวตกรถ รีบเข้าซื้อเลยดีหรือไม่?

ก่อนลงทุนในทองคำ ต้องทำความเข้าใจลักษณะของทองคำให้ดีก่อน นอกจากปัจจัยหนุนราคาทองคำที่กล่าวมาแล้ว การลงทุนในทองคำก็มีความเสี่ยง เช่นเดียวกันกับสินทรัพย์อื่นๆ


1. จากสถิติที่ผ่านมา ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นไป ก็มีโอกาสที่จะปรับลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงเช่นกัน แม้ว่าราคาทองคำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว สามารถส่งต่อความมั่งคั่งได้ แต่การเข้าลงทุนในช่วงที่ราคาอยู่ในระดับสูงอาจมีความเสี่ยงได้ และอาจจะต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าราคาทองคำจะกลับขึ้นมาสูงกว่าสถิติสูงสุดก่อนหน้า เช่น หลังจาก 5 ก.ย. 54 ที่ราคาทองคำอยู่ที่ 1900.49 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็มีการปรับตัวลงถึง 30.34%ภายในไม่กี่วัน และต้องใช้เวลาจนถึง 24 ก.ค. 63 หรือประมาณ 8 ปี 11 เดือน ราคาถึงจะกลับมาเท่าทุนหรือไม่ต่ำกว่าเดิม


กราฟ : ราคาทองคำ Spot ดอลลาร์สหรัฐฯ (XAU/USD)



ที่มา : Bloomberg ณ วันที่ 5 พ.ค. 2567


2. ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่จ่ายดอกเบี้ย การทำกำไรจากทองคำ จะมาจากส่วนต่างของราคา หรือ Capital Gain ดังนั้นการถือครองทองคำในสัดส่วนที่มากเกินไป หากราคาทองคำไม่ไปไหน ก็จะทำให้มีค่าเสียโอกาสเกิดขึ้นมากขึ้นเท่านั้น


กราฟ : ค่าเฉลี่ยผลตอบแทน 10 ปี จากการลงทุนในดัชนีต่างๆ


ที่มา : Bloomberg ณ วันที่ 5 พ.ค. 2567 (ผลการตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ 6 พ.ค. 2557 – 5 พ.ค. 2567)



จากกราฟข้างต้น จะเห็นได้ว่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี ของทองคำให้ผลตอบแทน -0.82% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น หุ้น หรือ กองทุนผสม ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่มากกว่า ดังนั้น แม้ว่าในระยะยาวทองคำจะเป็นสินทรัพย์ที่ราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่หากลงทุนในช่วงที่ราคาทองคำมีความผันผวนสูง ทองคำก็เป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่น่าจูงใจเท่าไหร่นัก



แนะนำลงทุนทองคำอย่างไร?

K WEALTH มีมุมมองการลงทุนเป็นกลาง (Neutral) โดยมองว่าทองคำมี Upside (ส่วนต่างราคาที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นอีกจากปัจจุบันลดลง) จากการที่ Fed มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่เคยคาดไว้ตอนต้นปีจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่กลับมาเร่งตัวขึ้นรวมถึงราคาที่รับรู้ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ไปมากแล้ว โดย K WEALTH มีคำแนะนำการลงทุนทองคำ ดังนี้


1. สามารถลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (Safe Heaven) โดยสัดส่วนที่แนะนำ คือไม่เกิน 10%-15% ของเงินลงทุนทั้งหมด

• หากกำไร สามารถพิจารณาขายบางส่วนเพื่อทำกำไรได้

• หากขาดทุน แต่สัดส่วนสูงกว่า 10%-15% แนะนำให้ทยอยขายเพื่อลดสัดส่วนลง แต่หากสัดส่วนน้อยกว่า 10%-15% แนะนำให้ถือต่อและทยอยซื้อเพิ่มเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนได้

• หากยังไม่มีการลงทุนในทองคำ แนะนำให้ลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงได้แต่ไม่ควรเกิน 10%-15%ของเงินลงทุนโดยรวม พิจารณานำเงินไปลงทุนกองทุนแนะนำของ K WEALTH Fund Recommend


2. อาจเลือกลงทุนในกองทุนทองคำ ซึ่งมีความสะดวก และเริ่มลงทุนได้ด้วยเงินจำนวนน้อย และยังสามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายในการจ่ายปันผลได้อีกด้วย


3. สำหรับนักลงทุนเก็งกำไร ที่รับความเสี่ยงได้สูง อาจเลือกลงทุนใน Gold ETFs หรือ Gold Futures โดยต้องมีวินัยในการกำหนดจุดซื้อขาย เพื่อจำกัดความเสี่ยงในการขาดทุนเป็นจำนวนมากจากการเก็งกำไรผิดทาง


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”



คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH Trainer วรสุดา ใช้เทียมวงศ์ CFP®
Back to top