K WEALTH / บทความ / Wealth Management / การลงทุนท่ามกลางสงคราม ความเสี่ยงและโอกาส
07 พฤษภาคม 2567
2 นาที

การลงทุนท่ามกลางสงคราม ความเสี่ยงและโอกาส


​​​​​​​​​​​“

• ความไม่สงบในสงครามตะวันออกกลางของอิหร่าน-อิสราเอล นอกจากเกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ยังส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งทำสถิติใหม่ ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนหนัก อีกทั้งดันเงินเฟ้อให้สูงกว่าเดิมซึ่งอาจกระทบนโยบายเศรษฐกิจ


• อย่างไรก็ตาม ท่าทีความรุนแรงได้คลี่คลายลง หนุนให้สินทรัพย์ต่างๆที่ปรับตัวลงก่อนหน้านี้มีโอกาสดีดกลับ บริษัทที่มีผลการดำเนินงานดีหรือภูมิภาคที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามจะฟื้นตัวไวเป็นโอกาสให้การเข้าทยอยลงทุน เช่น K-VIETNAM เป็นต้น




“ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สงครามไม่เพียงแต่สร้างความหายนะให้กับชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและตลาดการลงทุนทั่วโลก การเกิดขึ้นของสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่านในช่วงที่ผ่านมามีความสำคัญและมีผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางและระดับโลก


สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศนี้แท้จริงมีมาอย่างยาวนานแต่เป็นการสู้แบบสงครามเงาเป็นเวลาหลายปี ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งอิสราเอลมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของตน ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และมองหาโอกาสในความท้าทาย บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจผลกระทบของสงครามต่อการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ และเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของสงครามที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจและหาโอกาสในการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้”





ช่องแคบฮอร์มุซ ไพ่ตายของอิหร่าน จุดสะท้านการค้าสำคัญของโลก

​นอกจากความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินแล้ว สิ่งที่ทั่วโลกต่างติดตามและมีความกังวลมากคือการตอบโต้ที่กระทบเป็นวงกว้างหลังอิหร่านขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ เพื่อตอบโต้อิสราเอล ไม่เพียงอิสราเอลได้รับผลกระทบแต่ทั่วโลกต่างสะเทือนไปด้วย


เนื่องจากปริมาณน้ำมันราว 1 ใน 5 ของการบริโภคทั้งหมดทั่วโลกมีการขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซในทุกๆ วันหากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซจะกระทบราคาน้ำมันโลก และภาวะการส่งออกสินค้าไทยแน่นอน อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นไปอยู่ที่ 120-150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล



ราคาน้ำมันส่งผลต่อโลกและเรายังไงบ้าง ?

สัดส่วน 2 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่าง ๆ ถูกนำมาใช้กับขนส่งและคมนาคม ส่วนที่เหลือนำไปใช้กับอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกและสร้างถนน ซึ่งคิดเป็น 28% อีก 6% นำมาใช้เพื่อการอยู่อาศัย เชิงพาณิชย์ และผลิตพลังงานไฟฟ้า หากสงครามทำให้เกิด “วิกฤติน้ำมันแพง” แน่นอนว่าเราต้องจ่ายเงินซื้อทุกอย่างแพงตามไปด้วย ​


ยิ่งราคาน้ำมันแพงมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เกิดเงินเฟ้อได้มากขึ้น เพราะคนซื้ออย่างเรา ๆ ต้องแบกรับภาระเสียเงินมากมายไปกับการเติมน้ำมันทุกวัน และยังทำให้เงินซื้อสินค้าและบริการอื่นได้น้อยลง



หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะดันเงินเฟ้อสูงขึ้นกระทบนโยบายเศรษฐกิจ

​ข้อมูลจากนักวิเคราะห์ได้ประเมินว่าหากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 ดอลลาร์ จะทำให้สหรัฐฯมีระดับเงินเฟ้อทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้น 0.4% และ เงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 0.04% การที่เงินเฟ้อสูงขึ้นย่อมกระทบต่อมุมมองนโยบายเศรษฐกิจ และที่ตลาดให้ความสำคัญคือมีผลกระทบต่อโอกาสการตัดสินใจลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯที่อาจเลื่อนการลดดอกเบี้ยไปในปีนี้ การคงดอกเบี้ยระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯที่ 5.25-5.5% ยังกดดันภาคธุรกิจที่ต้องแบกต้นทุนทางการเงินไว้มหาศาลอีกด้วย


ขณะที่ไทยเราหากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ การส่งออกและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันที่ติดลบทะลุ 103,620 ล้านบาท (14 เม.ย.67) ซึ่งรัฐบาลจะต้องหาเงินมาแบกรับภาระเพิ่ม ทั้งยังกระทบธุรกิจทุกภาคส่วน


จะเห็นว่าราคาน้ำมันคือหัวใจหลักของการเติบโตเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินเฟ้อ เมื่อคาดว่าความขัดแย้งจะทำให้เกิดวิกฤตน้ำมันแพง สินทรัพย์ต่างๆทั่วโลกต่างมีความผันผวนสะท้อนผ่านผลตอบแทนในช่วงที่เกิดเหตุการณ์



ผลตอบแทนแต่ละสินทรัพย์ระหว่างเกิดสงครามวันที่ 10-18 เม.ย. 67



 

ที่มา : Bloomberg ณ วันที่ 19 เม.ย. 67


ซึ่งปัจจุบันตั้งแต่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา ดูเหมือนสงครามได้เริ่มลดระดับความรุนแรงลงแล้ว จากสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลาย ไม่น่าจะเกิดการปะทุที่รุนแรงต่อเนื่อง จึงเป็นช่วงที่เราจะตกผลึกหาโอกาสจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้



เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของสงครามที่ผ่านมา

​สงครามเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษย์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน สงครามมีหลายรูปแบบและเกิดขึ้นในหลายสถานการณ์ จากข้อมูลในอดีตที่เกิดสงครามพบว่า ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มีนัยยะสำคัญต่อตลาดหุ้นในระยะยาว ที่จะกล่าวคือ ตลาดหุ้นดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นได้ภายใน 1 - 3 เดือนหลังจากที่เกิดสงคราม หรือตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ก็สามารถปรับตัวขึ้นได้ภายใน 3 เดือนหลังจากมีสงครามเช่นกัน


ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดสงคราม เข้าใจว่านักลงทุนย่อมเกิดความกังวล แต่ก็มีโอกาสลงทุนมากมายอยู่ในภาวะนี้เช่นเดียวกัน



ที่มา: J.P. Morgan Asset Management 31 ธ.ค. 66



แล้วจะเลือกลงทุนช่วงเวลาไหนดีล่ะ ?

​นักลงทุนที่กล้าๆกลัวไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี จะลงทุนก็กลัวตลาดปรับตัวลงไปอีก เพราะแท้จริงไม่มีใครคาดเดาได้ว่าสงครามจะจบลงเมื่อไร จะลงทุนครั้งเดียวโดยทำ Market Timing ในช่วงสงครามเริ่มต้น กลางสงคราม และสงครามสิ้นสุด กับลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) แบบไหนดี



ตัวอย่างเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างการทำ Market Timing กับ การ DCA หากสงครามสิ้นสุด ณ สิ้นปี​


ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตัวอย่าง :สมมติ เงินลงทุน 60,000 บาท หากจับจังหวะ


ลงทุนครั้งเดียว ในช่วงเริ่มต้นสงคราม-กลางสงคราม มีโอกาส “สร้างผลตอบแทนได้มากกว่า” เนื่องจากหลายๆ ครั้งที่เกิดสงคราม ตลาดหุ้นมักปรับตัวลงหลังจากช่วงเริ่มต้นสงครามไปแล้ว


การลงทุนช่วงสงครามสิ้นสุด มักทำผลตอบแทนได้น้อยกว่า เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นไปแล้ว จากการรับรู้ผลกระทบจากสงคราม


ขณะที่การทยอยลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดสงครามนั้นสร้างผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยได้ดีเช่นเดียวกัน


ซึ่งในความเป็นจริง คือ ไม่มีใครคาดการณ์ได้แม่นยำว่าสงครามจะสิ้นสุดเมื่อใด ทำให้ส่วนใหญ่การจับจังหวะอาจทำให้พลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนช่วงที่ตลาดหุ้นพลิกกลับมาเป็นขาขึ้น หรืออาจจะขาดทุนจากการลงทุนในช่วงสงคราม


ดังนั้น กลยุทธ์การ DCA อย่างสม่ำเสมอ โดยมองข้ามความกลัวและความผันผวนจะทำให้พอร์ตลงทุนของนักลงทุนแข็งแกร่งและเติบโต สามารถสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับการลงทุนในช่วงเวลาที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นอีกวิธีรับมือกับทุกวิกฤตที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น



จากเหตุการณ์สงครามในครั้งนี้มีธุรกิจใดที่ได้ประโยชน์บ้างนะ ?

​ธุรกิจเกี่ยวกับทองคำ : เช่น ร้านทอง ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ความกังวลจากสงครามหนุนราคาทองปรับขึ้นเฉลี่ยในเดือน เมษายน +2.1% ทำราคาสถิติสูงสุดที่ 42,000 บาท เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในสถานการณ์มองว่าทองคำมีมูลค่าและเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้


ธุรกิจน้ำมัน : เพราะน้ำมันถือว่าเป็นยุทโธปกรณ์อย่างหนึ่งและราคามักปรับตัวสูงในช่วงสงคราม

ธุรกิจที่ได้รับอานิสงค์จากสงคราม : เช่น บริษัทผลิตอาวุธ, บริษัทผลิตเครื่องบิน ฯลฯ 

ธุรกิจที่ผลิตสินค้าปัจจัยสี่ : เช่น อาหาร น้ำ ยารักษาโรค เนื่องจากอาจมีการกักตุนและเป็นสิ่งที่อาจขาดแคลนหากเกิดความรุนแรงยืดเยื้อ เป็นต้น 

ธุรกิจที่รอดทุกสภาวะเศรษฐกิจ : ราคาหุ้นมักปรับตัวขึ้นเพราะนักลงทุนมองเป็นหุ้นปลอดภัย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น โรงไฟฟ้า น้ำประปา โรงพยาบาล เป็นต้น


นอกจากธุรกิจที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ บางภูมิภาคที่เมื่อพิจารณาแล้วแทบไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามแต่ราคาปรับตัวลงไปมาก เช่น ตลาดหุ้นเวียดนาม ถือเป็นจังหวะดีที่จะทยอยลงทุนจากระดับราคาในปัจจุบัน หรือ อยากกระจายการลงทุนให้หลากหลายโดยนักลงทุนไม่มีเวลาหาข้อมูลด้วยตนเองแต่ไม่อยากเสียโอกาสการลงทุนจะเลือกลงทุนกองทุนผสม K-WealthPLUS Series ที่มีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลบริหารให้ก็เป็นทางเลือกที่ดี


จะเห็นว่าไม่ว่าสถานการณ์ไหนทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ และ จริงๆ แล้วตลาดหุ้นไม่ได้กลัวสงคราม แต่กลัวความไม่แน่นอนระหว่างที่เกิดสงคราม ท้ายที่สุดตลาดหุ้นจะสามารถทำผลตอบแทนที่ดีกลับมาได้ทุกครั้งอยู่ที่นักลงทุนจะใช้ ‘กลยุทธ์ลงทุน’ อย่างไรในช่วงเวลานั้น อย่างที่เราแนะนำ คือ กลยุทธ์การ DCA ที่ช่วยปิดช่องโหว่ความเสี่ยงของการลงทุนและยังสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้ด้วย และแม้สุดท้ายนักลงทุนจะเลือกถือเงินสดในช่วงเวลาเช่นนี้ก็ไม่ผิดหากยังไม่มั่นใจและยังมองไม่เห็นโอกาสการลงทุนแต่หากเมื่อมองเห็นโอกาสแล้วแต่ไม่กล้าลงทุน เช่นนั้น การไม่ลงทุนจะมีความเสี่ยงมากกว่า คือ หมดโอกาสเพิ่มมูลค่าเงินให้เติบโตเพราะนับวันมูลค่าของเงินนั้นลดน้อยถอยลงไปทุกวัน


คำเตือน : ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน



บทความโดย K WEALTH Trainer กานต์พิชชา แดงพิบูลย์สกุล

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!