ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับตราสารหนี้

ตราสารหนี้ (Bond) คือ สัญญาทางการเงินที่แสดงถึงการกู้ยืมเงินระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ซื้อตราสารหนี้เปรียบเสมือนเจ้าหนี้ และผู้ขายตราสารหนี้เปรียบเสมือนลูกหนี้ ผู้ขายตราสารหนี้ (ผู้ออก) มีหน้าที่ต้องชำระเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ ผู้ซื้อตราสารหนี้ (ผู้ลงทุน) ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งตราสารหนี้มีบทบาทสำคัญในตลาดการเงินหลายด้าน ตัวอย่างเช่น
1.เป็นแหล่งเงินทุน ตราสารหนี้เป็นแหล่งเงินทุนสำคัญสำหรับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รัฐบาลใช้ตราสารหนี้เพื่อระดมทุนสำหรับใช้จ่ายในกิจการของรัฐบาล เช่น การสร้างสาธารณูปโภค การศึกษา และสาธารณสุข บริษัทเอกชนใช้ตราสารหนี้เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการของบริษัท เช่น การขยายกิจการ การลงทุนในเครื่องจักรใหม่ และการชำระหนี้สิน
2.เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ตราสารหนี้มักถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น เช่น หุ้น นักลงทุนมักลงทุนในตราสารหนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนของตน
3.เป็นตัวชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจ ราคาและอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้มักถูกใช้เป็นตัวชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น เมื่อนักลงทุนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะดี ส่งผลให้ราคาตราสารหนี้จะสูงขึ้นเพราะนักลงทุนคาดหวังว่าผู้ออกตราสารหนี้จะมีรายได้และสามารถชำระหนี้ได้ ทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้จะลดลง
ประเภทของผู้ออกตราสารหนี้
ตราสารนี้ในประเทศไทยสามารถแบ่งตามประเภทผู้ออกตราสารหนี้เป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้

1. ตราสารหนี้ภาครัฐ (Government Debt Securities) ตราสารหนี้ภาครัฐ สามารถแยกตามอายุการถือครองได้ เช่น ตั๋วเงินคลัง (Treasury bill) เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น มีอายุไม่เกิน 365 วัน และพันธบัตรรัฐบาล (Loan bond) เป็นตราสารหนี้ระยะยาว มีอายุตั้งแต่ 365 วันขึ้นไป ตราสารหนี้ภาครัฐเปรียบเสมือนสัญญาที่รัฐบาลเป็นผู้ออกเพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชนและนักลงทุน โดยรัฐบาลสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นคืนให้แก่ผู้ถือเมื่อครบกำหนด เปรียบเสมือนประชาชนเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล ในประเทศไทยประเภทตราสารหนี้ภาครัฐจะประกอบไปด้วย พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ แต่ในบางประเทศจะมีตราสารหนี้ภาครัฐในหน่วยย่อยๆ ตัวอย่างเช่น พันธบัตรองค์กรภาครัฐ พันธบัตรเทศบาล
2. ตราสารหนี้เอกชน (Corporate Bonds) ตราสารหนี้เอกชน คือ สัญญาที่บริษัทเอกชนกู้ยืมเงินจากนักลงทุน โดยบริษัทจะออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนไปใช้ในการดำเนินงานหรือลงทุน ผู้ซื้อตราสารหนี้จะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วนบริษัทจะมีหน้าที่จ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนให้แก่ผู้ซื้อตามสัญญาที่กำหนดไว้
วิธีการลงทุนในตราสารหนี้
การลงทุนในตราสารหนี้มีช่องทางให้นักลงทุนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนตราสารหนี้ได้ด้วยกัน 3 วิธี ดังนี้
1.การลงทุนทางตรงผ่านการซื้อขายในตลาดแรกจากผู้ออกตราสารหนี้ โดยทั่วไปการซื้อขายในตลาดแรกจะมี 2 รูปแบบ แบบแรกเสนอขายให้แก่นักลงทุนในวงจำกัด (Private Placement: PP) และแบบที่สองเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง (Public Offering: PO) ซึ่งทั้งสองแบบนักลงทุนสามารถซื้อได้จากสถาบันการเงินที่เป็นผู้จัดจำหน่ายหรือตัวแทนจำหน่ายได้
2.การซื้อขายเปลี่ยนมือระหว่างนักลงทุนตราสารหนี้ด้วยกันเองผ่านตลาดรอง การซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองสามารถติดต่อกับสถาบันการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ที่มีธุรกรรมการค้าตราสารหนี้ได้โดยตรง
3.สำหรับนักลงทุนรายย่อยหรือมือใหม่ที่ยังไม่เชี่ยวชาญ ก็สามารถลงทุนตราสารหนี้ทางอ้อมผ่านการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญอย่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เป็นผู้บริหารจัดการให้ นักลงทุนสามารถซื้อกองทุนตราสารหนี้ได้จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือตัวแทนขายหน่วยลงทุน
ข้อดีและสิ่งที่ควรทำความเข้าใจก่อนลงทุนทำความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนรวมตราสารหนี้
กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถลงทุนในตราสารหนี้ได้ง่ายขึ้นหากเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้รายตัว โดยประโยชน์จากการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้มีหลากหลาย ตัวอย่างเช่น
1.ความมั่นคงและผลตอบแทนที่คาดการณ์ได้ ยกตัวอย่างเช่น กองตราสารหนี้ที่เป็นแบบกำหนดระยะเวลาลงทุน เช่น 3 เดือน, 6 เดือน มักจะเป็นการลงทุนแบบซื้อและถือลงทุนจนครบอายุ (buy and hold) ซึ่งการลงทุนในกองทุนประเภทนี้จะช่วยให้นักลงทุนพอจะคาดการณ์ผลตอบแทนได้
2.กระจายความเสี่ยงในพอร์ตโฟลิโอ กองทุนรวมตราสารหนี้มีความผันผวนน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น ดังนั้น ถ้ามีการจัดสรรเงินบางส่วนมาลงทุนในตราสารหนี้ ก็จะช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนของเราได้
3.ใช้เงินลงทุนน้อยแต่ได้ลงทุนในตราสารหนี้หลายตัว การซื้อตราสารหนี้สักตัวอาจจะใช้เงินเริ่มต้นลงทุนถึงหลักแสนบาท แต่กองทุนรวมสารตรานี้ใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเพียงหลักร้อยแต่เงินที่ลงทุนจะกระจ่ายไปในหลายตัว ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงไม่ให้การลงทุนนั้นกระจุกอยู่แค่ในตราสารหนี้ตัวใดตัวหนึ่ง
ตัวอย่างกองทุนรวมตราสารหนี้ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น K-SF ที่ลงทุนในในตราสารหนี้ภาครัฐและ ภาคเอกชน และหรือเงินฝากทั้งในและต่างประเทศ อายุตราสารเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก (Portfolio Duration) ของกองทุนไม่เกิน 1 ปี เหมาะสำหรับการลงทุนช่วงสั้นๆ หรือใช้สำหรับพักเงินเพื่อรอจังหวะการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น และกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลาง K-FIXED ที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชน และเงินฝากในประเทศ อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ 2 ปี 8.16 เดือน มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากประเภทต่างๆ เหมาะกับนักลงทุนที่มองหาผลตอบแทนระยะปานกลาง สามารถลงทุนได้ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง แม้กระทั่งการลงทุนในตราสารหนี้ โดยความเสี่ยงหลักจะประกอบไปด้วย
1.ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย โดยราคาตราสารหนี้มีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ย กล่าวคือ “เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ราคาตราสารหนี้จะลดลง” และ “เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ราคาตราสารหนี้จะเพิ่มขึ้น”
2.ความเสี่ยงด้านเครดิตหรือการผิดนัดชำระหนี้ โดยที่ผู้ออกตราสารหนี้ อาจไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืนให้แก่ผู้ลงทุนได้ตามสัญญา
3.ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ หากเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจนทำให้ธนาคารกลางตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลงเหมือนกับตัวอย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า
การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้
การประเมินตราสารหนี้ในตลาดมีการใช้ตัวชี้วัดหลายประการเพื่อประเมินความเสี่ยงและความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ ตัวชี้วัดที่สำคัญประกอบด้วยดังนี้
1.กลุ่ม Investment Grade หมายถึงกลุ่มระดับลงทุน เรทติ้งตั้งแต่ AAA จนถึง BBB- เป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่มั่นคง ผลประกอบการดี อยู่ในกลุ่มที่น่าลงทุน ผลตอบแทนไม่สูงมาก
2.กลุ่ม Speculative Grade หมายถึงกลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน เรทติ้ง ตั้งแต่ BB+ ลงมา จนถึง D เป็นหุ้นกู้คุณภาพปานกลางถึงคุณภาพต่ำ จึงให้ผลตอบแทนสูงกว่า
นอกจากอันดับความน่าเชื่อถือข้างบนแล้ว นักลงทุนยังสามารถพิจารณาอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) ซึ่งคืออัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากตราสารหนี้กับอัตราดอกเบี้ยในตลาดทั่วไป เพื่อดูว่าการลงทุนในตราสารหนี้นั้นๆ มีผลตอบแทนที่ดีกว่าหรือไม่
แนวโน้มตลาดและปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อตราสารหนี้
ในช่วงปีที่ผ่านมาตราสารหนี้มีความผันผวนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งเรื่องของการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น การบริโภคที่แข็งแกร่ง สงครามในระดับภูมิภาค ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอัตรางินเฟ้อเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและส่งผลกระทบกับราคาตราสารหนี้ในที่สุด จากความสัมพันธ์ “เมื่อคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวลง ราคาตราสารหนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น” ในทางตรงกันข้าม “เมื่อคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้น ราคาตราสารหนี้ก็จะปรับตัวลดลง”
ในปัจจุบันเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวลง ถึงแม้อาจจะไม่ได้ลดลงเร็วมากนัก แต่ก็เริ่มเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในบางประเทศ ล่าสุดธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ครั้งแรกในรอบ 5 ปี ทำให้นักลงทุนสามารถสร้างโอกาสรับผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Capital Gain) จากแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่จะลดลงในภายหน้า และเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจะช่วยจำกัดความเสี่ยงที่จะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก สำหรับประเทศไทยก็ได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับลดราคาพลังงาน และเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณชะลอตัวจากมูลค่าส่งออกที่ลดลง การลงทุนภาครัฐที่หดตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะกดดันเงินเฟ้อประเทศไทยให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยปัจจัยเหล่านี้จะสนับสนุนให้การลงทุนตราสารหนี้ในปีนี้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี
บทสรุป
ตราสารหนี้ได้รับการจัดอันดับว่ามีความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น หุ้น จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการความปลอดภัยของเงินต้นและเป็นสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนค่อนข้างมั่นคง กองทุนรวมตราสารหนี้เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่เข้าถึงง่าย เริ่มต้นลงทุนเพียง 500 บาท และมีให้เลือกลงทุนในตราสารหนี้หลายประเภท เช่น ตราสารหนี้ระยะสั้นหรือระยะกลาง ตราสารหนี้ในประเทศหรือต่างประเทศ การที่มีตราสารหนี้หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ในเวลาที่ตลาดการลงทุนมีความผันผวนยังช่วยลดความเสี่ยงจากตลาดหุ้นได้ ดังนั้น การมี ‘ตราสารหนี้’ ติดพอร์ตเอาไว้จึงช่วยให้สามารถรับมือได้ในหลายๆ สถานการณ์ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ชอบความเสี่ยงมากนัก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ThaiBMA, SET, Kasikornbank