ตลาดหุ้นจีนกลับตัวหรือหลอกให้อั๊วมาติดกับดัก

ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวอีกครั้งจากที่ทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่อย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาในภาคอสังหาฯยังไม่ปลดล็อค แล้วหลังจากนี้ตลาดหุ้นจีนจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งหรือไม่และนักลงทุนควรรับมือจากการลงทุนอย่างไร?

ตลาดหุ้นจีนกลับตัวหรือหลอกให้อั๊วมาติดกับดัก

• สาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้น มาจากการที่รัฐบาลจีนได้เข็นมาตรการกระตุ้นชุดใหญ่ออกมาอย่างต่อเนื่อง


• ในปัจจุบันตลาดยังคงเฝ้ารอดูผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ครั้งนี้ว่า จะส่งผลได้อย่างที่ทางการจีนต้องการหรือไม่ ปัญหาภาคอสังหาฯและความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐยังคงเป็นตัวถ่วงตลาดหุ้นจีนอยู่


• “สำหรับนักลงทุนที่มีกองทุนหุ้นจีนอยู่แล้ว ถือลงทุนต่อได้” เริ่มเห็นสัญญาณบวกจากทางการจีนที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจังและต่อเนื่อง “สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย แนะนำให้รอประเมินสถานการณ์" อีกสักหน่อยก่อนที่จะลงทุนเพิ่มเติม





ปัจจัยหนุนในการฟื้นตัว

ตลาดหุ้นจีนเผยให้เห็นสัญญาณฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในช่วงต้นปี 2024 ดัชนี CSI300 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดตลาดหุ้นจีนหลัก พลิกตัวจากภาวะตกต่ำที่ยาวนาน โดยพุ่งขึ้น +19% จากจุดต่ำสุดของปี 2023 การฟื้นตัวครั้งนี้มีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มข้นของรัฐบาลจีน ซึ่งนโยบายเหล่านี้ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของจีนเริ่มแสดงสัญญาณบวก ตัวอย่างเช่น อัตราการขยายตัวของ GDP ของจีนในไตรมาสแรกของปี 2024 ขยายตัว 5.0% ซึ่งสูงเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นจีนโดยรวมและดึงดูดเม็ดเงินทุนกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นจีนอีกครั้ง


ปี 2024 เริ่มต้นด้วยท่ามกลางความกังวลต่อเศรษฐกิจจีน ดัชนี CSI300 ดิ่งลงจากจุดสูงสุดในปี 2021 กว่า -47% แต่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเมื่อทางการจีนตัดสินใจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ ดังแผนภาพด้านล่าง ไทม์ไลน์นี้รวบรวมนโยบายและแผนการสำคัญรายเดือน พร้อมเทียบกับดัชนี CSI300 ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายกับทิศทางตลาดหุ้น



ที่มา: TradingView, Bloomberg


จากภาพจะเห็นว่าได้ ตั้งแต่ต้นปี 2024 การใช้นโยบายชุดใหญ่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีผลช่วยให้ดัชนีปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากนโยบายทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีช่วงวันหยุดยาวจากเทศกาลตรุษจีนที่คนจีนจะออกมาจับจ่ายใช้สอยและมีการเดินทางครั้งใหญ่ทำให้ตัวเลขการท่องเที่ยวการบริโภคภายในปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลบวกคู่ไปกับแผนนโยบายที่ภาครัฐส่งเสริมออกมาในช่วงนั้นด้วย


โดยภาพรวม เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1/2024 เริ่มเห็นพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2024 ของจีน ขยายตัว 1.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.4% และแข็งแกร่งกว่าในไตรมาส 4/2023 ที่มีการขยายตัว 1.2% ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมด้านการผลิต โดย NBS รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.8 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 49.1 ในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 49.9 นอกจากนี้ดัชนีที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัว ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน แต่ในเดือนล่าสุดตัวเลข PMI ในภาคการผลิต เดือน พ.ค. อยู่ที่ 49.50 จุด ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 50.40 จุด และจีนรายงานยอดส่งออก เดือน พ.ค. ที่ +7.6% YoY และบวกติดต่อกัน 2 เดือนดีกว่าคาดการณ์ที่ +6.0%



ความกังวลและความเสี่ยง

1.ปัญหาจากภายและความเสี่ยงนอกประเทศ คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน กลับมาสร้างความตึงเครียดอีกครั้ง ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ

• เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ยืนยันว่า การที่รัฐบาลสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ารอบใหม่ในสินค้าหลายรายการจากจีนมีมูลค่ารวมถึง 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 660,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ขึ้นภาษีจากเดิม 27.5% เป็น 102.5% ซึ่งตอนนี้จีนเป็นผู้นำด้านยอดขายและการผลิตอันดับหนึ่งในอุตาหกรรมรถยนต์ EV มากที่สุดในโลก ทางสหรัฐอ้างว่านโยบายการขึ้นภาษีครั้งนี้จะช่วยปกป้องธุรกิจและแรงงานของสหรัฐ การดำเนินนโยบายเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจะส่งผลทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้านำเข้าจากจีนในตลาดสหรัฐลดลง ซึ่งตลาดส่งออกสาคัญของจีนคือ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม และจะส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการในตลาดเริ่มหันไปแสวงหาสินค้านำเข้าจากแหล่งผลิตประเทศอื่น โดยเฉพาะในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

• ทางด้านของ Great Wall Motor (GWM) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่สัญชาติจีนยังคงเผชิญกับภัยคุกคามด้านภาษีนำเข้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน ทำให้สามารถขายรถยนต์ในยุโรป ได้ประมาณ 6,300 คัน คิดเป็นราว 2% ของการส่งออกรถยนต์โดยรวม สาเหตุนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ต้องเตรียมปิดสำนักงานใหญ่ในทวีปยุโรปในประเทศเยอรมนี พร้อมสั่งเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดประมาณ 100 คน โดยมีผลตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นไป

• นอกจากนี้วุฒิสภาสหรัฐได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายซึ่งจะนำไปสู่การสั่งแบนแอป TikTok ในสหรัฐอเมริกา หากไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งเป็นบริษัทแม่สัญชาติจีนไม่ดำเนินการขายหุ้นทิ้ง


2.ปัญหาและความเสี่ยงจากภายในประเทศ

• ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังต้องติดตามการฟื้นตัว สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ราคาบ้านใหม่ในจีนเดือนเม.ย.ลดลง 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรวดเร็วที่สุดในรอบกว่า 9 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2557 และย่ำแย่กว่าในเดือนมี.ค.ที่ปรับตัวลง 0.3% โดยขนาดของภาคอสังหาริมทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 15-30 ของ GDP จีน ถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจจีน ทางด้าน Bloomberg รายงานว่ารัฐบาลจีนที่เข้าไปซื้ออสังหาฯส่วนเกินผ่านธนาคารท้องถิ่นของรัฐ เป็นการเข้าไปขอซื้อจากเจ้าของเดิมในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดและมีการปล่อยเช่าในราคาที่ถูกมาก ส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคส่วนนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก

• ความมั่งคั่งของคนจีนลดลง จากข้อมูล Bloomberg Economics ชี้ให้เห็นว่า ครอบครัวจีนกว่า 70% มีทรัพย์สินผูกติดอยู่กับอสังหาริมทรัพย์ ราคาบ้านที่ลดลง 5% ส่งผลให้ ความมั่งคั่งด้านที่อยู่อาศัยสูญเสียมูลค่าไปถึง 19 ล้านล้านหยวน (2.7 ล้านล้านดอลลาร์) หมายความว่า วิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนจีนเป็นวงกว้าง และความมั่งคั่งที่ลดลงก็ส่งผลกระทบโดยตรงกับการบริโภคภายในจีนหดตัวลงอีกด้วย



ตลาดหุ้นจีนมีโอกาสเติบโตจริงหรือไม่?

ทางด้านปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นจีน (CSI300) เมื่อพิจารณาจากภาพที่ 1 P/E Ratio CSI300 ตัวชี้วัดราคาว่าถูกหรือแพงของดัชนีบ่งบอกว่า ราคา CSI300 อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี และยังเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับระดับ -1 standard deviationสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนกำลังประเมินมูลค่าตลาดหุ้นจีนในระดับที่ค่อนข้างถูก


ภาพที่1 ที่มา: Kbank Wealth Weekly


อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิต่อหุ้น (Current EPS) ในภาพที่ 2 แสดงให้เห็นถึงกำไรสุทธิต่อหุ้นของดัชนี CSI300 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงถึง ปัจจัยพื้นฐานในแง่ของกำไรที่ยังอ่อนแอ




ภาพที่ 2 ที่มา: Bloomberg


เนื่องจากตลาดหุ้นจีนในภาพใหญ่แล้วยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ต่ำถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมานี้จะปรับตัวขึ้นมาบ้างแล้ว แต่สาเหตุหลักที่ตลาดจับตามองอยู่หลักจากนี้คือ ผลของนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงต้นปีส่งผลบวกกับเศรษฐกิจได้มากน้อยเท่าไหร่ และการปลดล็อคปัญหาในภาคอสังหาได้ได้อย่างถาวรหรือไม่ การบริโภคภายในจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งได้อย่างไร สัญญาณเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นอีกครั้งได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น


สำหรับคำแนะนำ นักลงทุนที่มีกองทุนจีนอยู่แล้วสามารถถือต่อลงทุนต่อไปได้ เนื่องจากเริ่มเห็นความจริงจังของทางการจีนที่พยายามเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยควรรอประเมินสถานการณ์จากปัจจัยข้างต้นที่ได้กล่าวมา ก่อนตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติม


ตัวเลือกอื่นนอกจากจีน

สำหรับนักลงทุนที่ยังไม่พร้อมที่จะลงทุนในตลาดหุ้นจีนโดยตรงหรือนักลงทุนที่อยากกระจายการลงทุนให้หลากหลายประเทศมากขึ้น การลงทุนในกองทุนรวมเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่นอย่างเช่น K-ASIACV-A(A) ก็เป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ โดยล่าสุด IMF คาดเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียปีนี้โตสูง 4.5 % จากช่วงต้นปีที่ 4.2 % โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และกองทุน K-ASIACV-A(A) ยังกระจายลงทุนหุ้นเอเชียในบริษัทขนาดใหญ่ได้หลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน ตัวอย่างหุ้นที่กองทุนหลักลงทุน เช่น TSMC TENCENT, HOLDINGS, Meituan, AIA GROUP ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนในหุ้นเอเชียแต่ต้องการจำกัดความผันผวนซึ่งกองทุนมีโมเดลควบคุมความผันผวนโดยผู้จัดการกองทุนคอยปรับพอร์ตตลอดเวลา


ขอขอบคุณข้อมูลจาก: KBank, Bloomberg


คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH Traine อรรถกิจ พิมพ์ศรี
Back to top