อัปเดตสถานการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากทั่วโลก ไม่เพียงเพราะเป็นหนึ่งในการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดในโลก แต่ยังเพราะผลลัพธ์ของการเลือกตั้งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ การเมือง และการลงทุนทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2567 ผลโพลแสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน มี Approval Rate อยู่ที่ประมาณ 38% ในขณะที่ Disapprove rate สูงถึง 56% ทำให้ฝ่ายรีพับลิกัน โดยเฉพาะผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ มีความได้เปรียบอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม เมื่อการดีเบตครั้งแรกผ่านไป คะแนนการยอมรับของไบเดนได้ลดลงอีกเล็กน้อยไปอยู่ที่ 36.9% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักสำหรับฝ่ายเดโมแครต
อย่างไรก็ดี ฝ่ายเดโมแครตได้ทำการปรับกลยุทธ์ใหม่โดยการเสนอชื่อ กมลา แฮร์ริส เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ Approval Rate ของแฮร์ริสเพิ่มขึ้นทันทีเป็น 41% แม้ว่าคะแนนนี้ยังไม่เกิน 50% แต่ก็แสดงให้เห็นว่าแฮร์ริสสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ในระดับหนึ่ง และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้กลับมาสูสีขึ้นอีกครั้ง
รูปที่ 1: ผลสำรวจความนิยมผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
Source: fivethirtyeight.com as of 2 ก.ย. 67
จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน การคาดการณ์ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เนื่องจากผลสำรวจ ตามรูปที่ 1 แสดงให้เห็นว่าการแข่งขันในครั้งนี้มีความสูสีกันอย่างมาก กมลา แฮร์ริส มีโอกาสชนะอยู่ที่ประมาณ 47.1 % ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสชนะที่ 43.8% อย่างไรก็ตามความเป็นไปได้เหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะหลังจากการดีเบตครั้งที่สอง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เห็นทัศนคติและมุมมองที่ชัดเจนมากขึ้นของผู้สมัครแต่ละฝ่าย
ความแตกต่างด้านนโยบายของแต่ละพรรค
การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการตัดสินว่าใครจะได้เป็นผู้นำประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการเลือกแนวทางที่ประเทศสหรัฐฯ จะดำเนินไปในอนาคตด้วย นโยบายของพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจและสังคมของสหรัฐฯ
นโยบายด้านเศรษฐกิจ: พรรครีพับลิกันมุ่งเน้นไปที่การลดภาษีและการลดกฎระเบียบเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลดภาษีสำหรับธุรกิจและผู้มีรายได้สูง เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการลดการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะในด้านที่ไม่จำเป็นและไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ในทางตรงกันข้าม พรรคเดโมแครตมีนโยบายที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยการเพิ่มภาษีสำหรับผู้มีรายได้สูงและธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อนำรายได้ไปใช้ในการสนับสนุนโครงการสวัสดิการสังคม เช่น การประกันสุขภาพและการศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไป
นโยบายด้านการค้า: พรรครีพับลิกันเน้นการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะการใช้มาตรการปกป้องการค้า (Protectionism) เพื่อป้องกันการเข้ามาของสินค้าต่างประเทศที่อาจมีผลกระทบต่อธุรกิจภายในประเทศ นโยบายนี้รวมถึงการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีน และการเจรจาทำข้อตกลงการค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ มากขึ้น ในขณะที่พรรคเดโมแครตก็มีนโยบายในการจำกัดการนำเข้าสินค้าจากจีนเช่นกัน โดยเฉพาะในภาคพลังงานสะอาด แต่พรรคเดโมแครตเน้นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ยั่งยืนและมีความเป็นธรรมมากขึ้น
นโยบายด้านพลังงาน: พรรครีพับลิกันสนับสนุนการเพิ่มการผลิตพลังงานภายในประเทศ และการยกเลิกข้อบังคับที่จำกัดการใช้พลังงานฟอสซิล เช่น การยกเลิกกฎระเบียบเกี่ยวกับยานพาหนะไฟฟ้า เพื่อให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ ในขณะที่พรรคเดโมแครตมุ่งเน้นการลงทุนในพลังงานสะอาดและลดต้นทุนพลังงานผ่านการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พรรคเดโมแครตเชื่อว่าการพัฒนาพลังงานสะอาดไม่เพียงแต่จะช่วยลดการปล่อยมลพิษ แต่ยังเป็นการสร้างงานใหม่ ๆ ในภาคพลังงานที่ยั่งยืนด้วย
จัดพอร์ตการลงทุนอย่างไร
ถึงแม้การเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการจัดพอร์ตการลงทุนช่วงนี้แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ สภาวะเศรษฐกิจและตลาดทุน ดังนั้นเรามาดูกันก่อนว่าตอนนี้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและปัจจัยการเลือกตั้งเป็นยังไงกันบ้าง
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดทุน: ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในฝั่งยุโรปและจีน แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงแข็งแกร่ง แต่ก็เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงในภาคการบริโภค ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงสองในสามของเศรษฐกิจทั้งหมดของสหรัฐฯ ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวนี้ทำให้นักลงทุนต้องระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ ข้อมูลทางเศรษฐกิจยังชี้ให้เห็นถึงการลดลงของรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง (Real Disposable Income) และการเพิ่มขึ้นของการเรียกร้องสิทธิ์ว่างงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะที่บริษัทต่าง ๆ เริ่มลดการจ้างงาน
ปัจจัยด้านการเลือกตั้ง: ตลาดหุ้นมักจะมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากนักลงทุนรอคอยผลการเลือกตั้งและนโยบายที่จะถูกนำมาใช้ในอนาคต ความไม่แน่นอนเหล่านี้ทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะชะลอการลงทุนจนกว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง นอกจากนี้ การแข่งขันที่สูสีระหว่างผู้สมัครจากทั้งสองพรรคยังทำให้เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นว่าไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ นโยบายใหม่ๆ ที่จะถูกนำมาใช้อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจในวงกว้างได้
การจัดพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้ควรเน้นไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจชะลอตัว และได้รับผลบวกไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร เช่น กลุ่มการสาธารณสุข อุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ และพลังงานสะอาด กลุ่มการสาธารณสุขมีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของทั้งสองพรรค ไม่ว่าจะเป็นการขยายโครงการประกันสุขภาพหรือการลงทุนในการวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศมีความเสี่ยงน้อยกว่าจากผลกระทบของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้พึ่งพารายได้จากภายในประเทศมากกว่า ในขณะที่กลุ่มพลังงานสะอาดจะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนและลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ K WEALTH แนะนำลงทุนผ่านกองทุน K-GINFRA-A(D) และกองทุน K-GHEALTH
สำหรับนักลงทุนที่อยากอ่านมุมมองการลงทุนรายเดือนฉบับเต็มพร้อมกองทุนแนะนำในแต่กลุ่มประเภทสินทรัพย์ ติดตามได้ “K Wealth Monthly View ”