การเลือกลงทุน Thematic เพียงตัวเดียวมีความเสี่ยงสูงมาก
Thematic Investing เป็นที่น่าสนใจในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องจากแนวคิดที่ว่า ธุรกิจมักจะหาโอกาสจากสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละช่วงเวลา และพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการมาตอบโจทย์ช่องว่างทางการตลาด หรืออาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจที่มีอยู่เดิม โดยผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อสิ่งเหล่านั้น ในปี 2020 เป็นปีทองของการลงทุนลักษณะนี้ ราคาหุ้นในปีนั้นหลายธีมปรับตัวเพิ่มขึ้นเรียกได้ว่าเท่าตัว ปัจจัยหนุนมาจากทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินในช่วงนั้น กลุ่ม E-Commerce ได้แรงหนุนจากผู้คนจำเป็นต้องอยู่บ้านสั่งของออนไลน์ กลุ่ม Clean Energy ได้ประโยชน์จากร่าง Inflation Reduction Act ของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่นโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างมากได้หนุนกลุ่ม Tech รวมไปถึง Health Tech จากต้นทุนการเงินที่ต่ำมาก การลงทุนเพียงช่วงสั้นๆ ก็ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ
แต่ภาพนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี 2022 เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้น Fed ECB รวมถึงธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อยับยั้งเงินเฟ้อ ราคาหุ้นที่กล่าวมาข้างต้นปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว จากปัจจัยหนุนกลายมาเป็นปัจจัยกดดัน หากดูตาม Chart ข้างล่าง จะเห็นว่ากลุ่ม E-Commerce และ Clean Energy ที่ทำผลตอบแทนเด่นมากในปี 2020 แต่หากนักลงทุนเริ่มลงทุนในปี 2021 วันนี้อาจเผชิญผลขาดทุนอย่างมาก แม้ 2 กลุ่มนี้มีโอกาสเติบโตในระยะยาว แต่ต้องยอมรับตรงๆ ว่าโอกาสที่ NAV จะกลับไปที่จุดสูงสุดเดิมอีกครั้งอาจต้องรอให้มีปัจจัยเติบโตใหม่เข้ามาหนุน ยกตัวอย่างธีมที่เกิดภาพนั้นขึ้นแล้ว คือ Semiconductor ที่แม้ NAV ถูกกดดันในปี 2022 เช่นเดียวกับธีมอื่นๆ แต่ได้ผลบวกเต็มๆ จากกระแส AI ที่ถูกจุดขึ้นมาจาก ChatGPT ช่วงต้นปี 2023 ทำให้ราคาหุ้นธีมนี้ฟื้นตัวนำเพื่อนๆ แถมทำจุดสูงสุดใหม่เพิ่มขึ้นไปอีก
จะเห็นว่าหากเราเลือกเพียงธีมเดียวและเลือกถูก พอร์ตการลงทุนก็จะเติบโตสวยงาม แต่ว่า… หากเลือกผิดอาจต้องคิดหนักว่าตอนนี้จะเอายังไงกับกองทุนนั้นๆ ดี ถึงตรงนี้ผู้อ่านคงพอจะเห็นภาพว่าความเสี่ยงของ Thematic Investing คือ “เทรนด์เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดและเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเร็วมาก” หากเราไม่มีเวลาติดตามมากอาจลองหากองทุนที่กระจายลงทุนหลายๆ ธีมในกองทุนเดียว หรือลงทุนผ่านกองทุนหลักที่ผู้จัดการกองทุนคอยปรับเปลี่ยนธีมสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน พร้อมจำกัดความเสี่ยงได้
ภาพที่ 1 ตัวอย่างผลตอบแทนกองทุนหลักในต่างประเทศที่ลงทุนผ่านธีมต่างๆ ทั่วโลก (1 ก.ย. 2019 – 31 ส.ค. 2024)
** ที่มา Morningstar ข้อมูล ณ 31 ส.ค. 2024
Thematic แม้มีโอกาสทำผลตอบแทนเหนือตลาด แต่ต้องใช้เวลา…
จากตัวอย่างธีมที่ประสบความสำเร็จอย่างมากใน 1-2 ปีที่ผ่านมา คือ Semiconductor ต้องขอท้าวความย้อนกลับไปก่อนว่าผู้คนไม่ได้เพิ่งพูดถึง AI หรือ Artificial Intelligence แต่มีการพูดถึงและทำการวิจัยพัฒนามาแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อมีตัวอย่างการใช้งานจริงเกิดขึ้นที่เข้าถึงผู้คนทั่วไปอย่าง ChatGPT ทำให้ความต้องการในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องพุ่งสูงทันทีเนื่องจากตอนนี้ผู้คนทั่วโลกเห็นตรงกันว่าเทคโนโลยีนี้เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการใช้ชีวิตให้ง่ายขึ้น ราคาหุ้นจึงตอบรับเชิงบวกอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เช่นเดียวกับธีมอื่นๆ อย่าง Biotech ที่บริษัทต่างๆ กำลังเร่งวิจัยพัฒนายารักษาโรคต่างๆ อาทิ มะเร็ง เบาหวาน แม้ปัจจุบันประสิทธิภาพอาจยังไม่สูงมากแต่ก็เป็นประโยชน์ต่อผู้คนหลายล้านคน และเมื่อถึงวันที่เทคโนโลยีพัฒนาถึงขั้นสุด ก็อาจเป็นไปได้ว่าราคาหุ้นอาจพุ่งขึ้นเฉกเช่นเดียวกับกลุ่ม AI แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นเมื่อมองกลับมาที่โลกการลงทุน ทุกคนมีเป้าหมายตรงกันคืออยากได้ผลตอบแทนในระยะสั้น เราจึงต้อง “บาลานซ์” ระหว่างธีมที่สร้างผลกำไรได้แล้วในปัจจุบัน และธีมที่ยังอยู่บนความคาดหวังกำไรในอนาคต ในขณะเดียวกันก็ควรเข้าลงทุนในจังหวะที่ปัจจัยมหภาคช่วยหนุนและมูลค่าสมเหตุสมผลด้วย อย่างตอนนี้ Fed ใกล้จะลดดอกเบี้ยเต็มที อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับใครที่กำลังมองหา Thematic Investing เพราะเมื่อต้นทุนทางการเงินลดลง หลายๆ ธีมที่กำไรสุทธิปัจจุบันยังไม่แข็งแกร่งมากจะคลายกังวลเรื่องต้นทุนการเงินได้ในระดับหนึ่ง
ทำความรู้จักกับ K-HIT กองทุน Thematic ที่รวมทุกธีมยอดฮิตไว้แล้วในกองทุนเดียวพร้อมมุมมอง
K-HIT-A(A) เป็นกองทุน Thematic ลงทุนผ่านกองทุนหลัก Allianz Thematica Share Class P (EUR) กองทุนนี้คัดเมกะเทรนด์มาประมาณ 4 เทรนด์ แบ่งเป็นการลงทุน 5-7 ธีม ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยผู้จัดการกองทุนปรับเปลี่ยนให้ทันเทรนด์โลกสม่ำเสมอ จากภาพที่ 1 ข้างบน (เส้นสีเขียวเข้ม) จะเห็นว่าในช่วงขาขึ้น กองทุนหลักไม่ได้หวือหวาเท่าบางธีมที่ได้กล่าวไปตอนต้น แต่ในช่วงที่ตลาดปรับฐานลงมากองทุนจำกัดความเสี่ยงขาลงได้ดีพอสมควร ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนตั้งแต่ 5 ปีที่แล้วยังคงรักษาผลตอบแทนไว้ได้ โดยผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ณ 31 ส.ค. 2024 กองทุนหลักทำได้ 11.18% ต่อปี และได้รับ Morningstar 4 ดาว เมื่อเทียบกับบางธีมที่นักลงทุนอาจเผชิญผลขาดทุนในช่วงเวลาเดียวกัน ทีนี้เรามาลองดูกันไวๆ ว่ากองทุนนี้ลงทุนเมกะเทรนด์และธีมอะไรบ้าง
ภาพที่ 2 เมกะเทรนด์ที่กองทุนหลัก Allianz Thematica สนใจในปัจจุบัน
เริ่มจากเมกะเทรนด์ กองทุนหลักมอง 4 เทรนด์ ได้แก่ สังคมคนเมือง นวัตกรรมจากเทคโนโลยี ทรัพยากรที่ขาดแคลน และการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคม จากเทรนด์นี้กองทุนหลักมองเห็นโอกาสลงทุนผ่าน 7 ธีมในปัจจุบัน นักลงทุนสามารถศึกษาได้อย่างละเอียดในบทความตามลิงก์นี้ได้เลย https://www.kasikornbank.com/th/kwealth/Pages/a520-t4-hyb-investment-mega-trend-kgth.aspx
ภาพที่ 3 การปรับสัดส่วนลงทุนของกองทุนหลัก Allianz Thematica ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา
สำหรับการปรับเปลี่ยนธีมในช่วงผ่านมาจากภาพที่ 3 จะเห็นว่า ณ ไตรมาส 4 ปี 2020 กองทุนหลักมีการลงทุน 1 ธีมที่ไม่มีในปัจจุบันแล้วคือ Education ขณะที่มีการเพิ่มธีม Infrastructure มาแทนตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2021 แทน และธีม Artificial Intelligence กองทุนหลักมีการยุบรวมและเปลี่ยนชื่อเป็น Intelligence Machines แทน ซึ่งโฟกัสหุ้นอย่าง Semiconductor ที่ได้ประโยชน์จาก AI และล่าสุดในปี 2024 นี้กองทุนหลักมีการเพิ่มธีมใหม่คือ Generation wellbeing เจาะผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกลุ่มผู้บริโภค Gen Z และ Gen Alpha ที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงในอนาคต และมีการถอด Pet Economy ออก แต่อ้างอิงจากรายงานการลงทุนครึ่งปีของกองทุนหลัก ณ 31 มี.ค. 2024 ดูเหมือนเป็นเพียงการลดสัดส่วนกลุ่มนี้และถูกยุบรวมเข้ามาอยู่ในธีมใหม่ Generation wellbeing แทน
ผลลัพธ์จากการปรับเปลี่ยนธีมและคงบางธีมไว้ในช่วงที่ผ่านมามีทั้งผลบวกและผลลบ เริ่มจากผลบวกเรามองว่าการเพิ่มธีม Infrastructure เข้ามาซึ่งมีความเป็น Defensive ขึ้นช่วยลดผลกระทบช่วงที่ตลาดปรับฐานปี 2022 ได้พอสมควร ซึ่งปีนั้นหุ้น Growth เช่น Next Generation Energy, Health Tech, Digital Life, Intelligent Machines ต่างได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นซึ่งการที่กองทุนยังถือธีมเหล่านี้อยู่จากมุมมองเชิงบวกระยะยาวแต่ก็กลายเป็นผลลบในปีนั้น ปัจจุบันมีเพียงธีม Intelligent Machines ที่ฟื้นตัวกลับมาแล้ว เรามองว่าหลัง Fed เริ่มลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. 2024 นี้ จะช่วยให้ธีม Growth อื่นๆ มีโมเมนตัมเชิงบวกฟื้นตัวกลับมา อีกทั้ง Bloomberg Consensus ณ 17 ก.ย. 2024 คาดว่ากำไรสุทธิกองทุนจะกลับมาเติบโต 2 หลักในปีนี้และปีหน้า และเรามองว่าราคาหุ้นยังไม่สะท้อนความคาดหวังดังกล่าว จึงเป็นโอกาสดีที่จะกลับเข้าลงทุนในช่วงนี้
สำหรับธีมที่อาจจะมีปัจจัยเฉพาะตัวนอกเหนือจากเรื่องอัตราดอกเบี้ยของ Fed คือ Next Generation Energy เนื่องจากปีนี้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งหากนาย โดนัล ทรัมป์ ได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหุ้นกลุ่มนี้อาจจะไม่ฟื้นตัวต่อ แต่ในแง่ Downside เรามองว่าปัจจุบันราคาหุ้นลดลงมาค่อนข้างมากสะท้อนความกังวลดังกล่าวไปแล้ว แต่หากนางคามาลา แฮร์ริส ได้รับชัยชนะ หุ้นกลุ่มนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวแรงหลังจากนี้
คำแนะนำการลงทุนสำหรับทั้งนักลงทุนใหม่และนักลงทุนเดิม
สำหรับนักลงทุนใหม่เราแนะนำเข้าลงทุน K-HIT-A(A) ได้เลย สัดส่วนไม่เกิน 30% ของพอร์ตการลงทุน และหากนักลงทุนมีสัดส่วนหลักในกลุ่มกองทุน K-WP อยู่แล้วการเพิ่ม K-HIT-A(A) เข้าไปจะช่วยเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนส่วนเพิ่มในระยะยาว ขณะที่ไม่ผันผวนมากจนเกินไปเมื่อเทียบกับการลงทุน Thematic แบบกองทุนเดียว เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการถือลงทุนระยะยาว
สำหรับนักลงทุนเดิม กรณีท่านเข้าซื้อช่วงสูงสุดของปีนี้อาจเผชิญผลขาดทุนอยู่ประมาณ 10% เราเชื่อว่า NAV จะฟื้นตัวกลับมาหลัง Fed เริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนนี้ หากยังมีสัดส่วนน้อยแนะนำถัวเฉลี่ยเพิ่มเติมแต่สัดส่วนรวมไม่ควรเกิน 30% ของพอร์ตการลงทุน
* โปรดศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก บลจ. กสิกรไทย (KAsset) ผลการดำเนินงานในอดีต/ ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
• บลจ. กสิกรไทย (KAsset)
• Allianz Global Investors
• Morningstar
• Bloomberg