Balance Fund Balance ใจ ห่วงใยทุกสภาวะ

บทความนี้จะแนะนำนักลงทุนให้รู้จักกับกองทุนผสมให้มากขึ้น

• “กองทุนผสม” กับ “ชีวิตคู่” มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันหลายอย่างทั้งในแง่ของการบริหารจัดการและความสมดุล ที่ไม่ได้มองกันแค่ความสุขในระยะสั้นแต่จะเน้นความสัมพัน์ที่ดีในระยะยาวซึ่งก็เหมือนกับกองทุนผสมที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่สูงในระยะเวลาอันสั้นแต่จะเน้นไปที่ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและมั่นคงในระยะยาวด้วยเหมือนกัน


• การทำ Portfolio Rebalancing เป็นกลยุทธ์หรือเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญของผู้จัดการกองทุนในการบริหารพอร์ตกองทุนผสมเพื่อที่จะรักษาความสมดุลของการลงทุนให้มีการการเติบโตและรับมือกับความเสี่ยงโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนมากให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม





Balanced Fund ที่ต้อง Balanced ระหว่างการเติบโตและความเสี่ยง

กองทุนผสมหรือที่รู้จักกัน Balanced Fund หรืออีกหลายคนเรียกว่า Multi Asset Fund ที่มีการกระจายการลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการหาความสมดุลระหว่างการเติบโตและความเสี่ยงไปพร้อมกัน ซึ่งผลลัพท์ที่ได้มานั้นเป็นผลจากการจัดสรรการลงทุนอย่างสมดุลระหว่างสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเข้าด้วยกัน โดยปกติแล้วกองทุนประเภทนี้มักจะต้องมีการลงทุนทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ที่เป็นสัดส่วนใหญ่ผสมผสานกับหลักทรัพย์อื่นๆ ตามนโยบายที่กำหนดเพื่อให้เกิดความหลากหลายในพอร์ตโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลตอบแทนในระยะยาวนั้นเอง แต่ในบทความนี้จะเน้นกล่าวถึงการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้เป็นหลัก เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจกองทุนผสมได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้การที่กองทุนผสมนั้นต้องมีทั้งหุ้นและตราสารหนี้ควบคู่กันไป เปรียบเสมือนคู่ครองที่เหมาะสมดั่ง “กิ่งทองใบหยก” เนื่องจากทั้งสองสินทรัพย์มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันแต่เกื้อหนุนกันได้ดีในพอร์ตการลงทุนหรือการสร้างสมดุลไปด้วยกันขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้ ซึ่งคุณลักษณะนี้เองที่จะช่วยให้นักลงทุนได้รับผลประโยชน์ทั้งในด้านการเติบโตและความมั่นคง



“กิ่งทองใบหยก” เปรียบเสมือนกับ “หุ้น” และ “ตราสารหนี้” ที่มีทั้งคุณค่าและมั่นคงปลอดภัย


• หุ้นเปรียบเสมือน “กิ่งทอง” ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตของเงินทุนในระยะยาว ซึ่งการลงทุนในบริษัทที่เป็นธุรกิจมีศักยภาพในการเติบโต นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากทั้งกำไรของราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น (Capital Gain) และเมื่อบริษัทเติบโตหรือมีผลประกอบการที่ดีบริษัทก็อาจจะมีการจ่ายเงินปันผล (Dividend) ให้แก่นักลงทุนอย่างสม่ำเสมอ แต่ในขณะเดียวกันการลงทุนในหุ้นนั้นก็มีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน เพราะราคาหุ้นมีความผันผวนที่สูงตามสภาพตลาด การที่จะมีสัดส่วนหุ้นในกองทุนผสมจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่นักลงทุนนั้นยอมรับได้นั่นเอง


• ตราสารหนี้เปรียบเสมือน “ใบหยก” ที่มีความมั่นคงช่วยเสริมความปลอดภัยในพอร์ตการลงทุน โดยตราสารหนี้นั้นเป็นสินทรัพย์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและแน่นอนในรูปของดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่กำหนด และในบางโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากการปรับขึ้นของราคาตราสารหนี้เองได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแตกต่างจากหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงกว่า หากนักลงทุนที่ไม่ชอบให้พอร์ตการลงทุนของเรานั้นหวือหวาหรือมีความผันผวนที่สูงเราก็ควรที่จะเลือกลงทุนในตราสารหนี้ให้มากขึ้นนั้นเอง



การทำงานร่วมกันของ “กิ่งทองใบหยก” แห่งพอร์ตการลงทุน

เมื่อหุ้นและตราสารหนี้ถูกนำมารวมกันในพอร์ตการลงทุน จะเกิดความสมดุลระหว่างการเติบโตและความมั่นคง การรวมกันของทั้งสองสินทรัพย์นี้ทำให้ผู้จัดการกองทุนสามารถจัดพอร์ตได้อย่างยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนตามความต้องการของตนเองและสภาวะตลาด เช่น ในช่วงที่ตลาดหุ้นร่วง ผู้จัดการกองทุนอาจเพิ่มสัดส่วนของตราสารหนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพของพอร์ต หรือในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว การเพิ่มสัดส่วนของหุ้นก็อาจเป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างกำไรได้ หรือเรียกว่าการทำ Rebalance ของผู้จัดการกองทุนนั่นเอง


ซึ่งการ Rebalance เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะรักษาสมดุลของพอร์ตลงทุนให้มีการการเติบโตและความเสี่ยงยังอยู่ในระดับที่เราได้ตั้งไว้ โดยสามารถอธิบายได้ด้วยตัวอย่างดังนี้ (ภาพที่ 1)

1. สมสมมุติว่าผู้จัดการกองทุนมีพอร์ตการลงทุนในกองทุนผสมสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้เป็น 50% ต่อ 50% ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้

2. หลังจากเวลาผ่านไป 1 เดือนมูลค่าของหุ้นเพิ่มขึ้น ในขณะที่มูลค่าของตราสารหนี้คงที่ ทำให้พอร์ตการลงทุนเปลี่ยนเป็น หุ้น 60% ตราสารหนี้40%

3. เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการลงทุนในหุ้นผู้จัดการกองทุนจะต้องทำการ Rebalance โดยขายหุ้นออกบางส่วน และนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นนำไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีสัดส่วนต่ำกว่าที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อให้สัดส่วนกลับมาอยู่ที่ 50% ต่อ 50% อีกครั้ง และจะทำในทิศทางเดียวกันในกรณีที่ตราสารหนี้นั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินกว่าเป้าหายที่ได้ตั้งไว้


ภาพที่ 1. Portfolio Rebalancing



การทำ Rebalance นี้จะช่วยรักษาสัดส่วนและควบคุมความเสี่ยงของพอร์ตให้ไม่เกินไปจากที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น และก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราไม่ควรจับจังหวะการลงทุน (Market Timming) ในกองทุนผสมเนื่องจากมีผู้จัดการกองทุนที่ทำหน้าที่บริหารจัดการสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนตามสภาวะตลาดและสินทรัพย์ที่แตกต่างกันอยู่แล้วจึงอาจทำให้เกิดความเสี่ยงและไม่มีประสิทธิภาพในระยะยาวต่อนักลงทุนได้



ข้อดีของการลงทุนในกองทุนผสมเมื่อเทียบกับลงทุนในประเทศเดียวหรือสินทรัพย์เดียว

1. การกระจายความเสี่ยงในหลากหลายประเทศ

กองทุนผสมมักลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก เช่น หุ้นและตราสารหนี้จากหลายประเทศ การกระจายความเสี่ยงนี้ช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง หรือการปรับตัวของตลาดเฉพาะประเทศเดียว ซึ่งอาจส่งผลต่อผลตอบแทนของสินทรัพย์ในประเทศนั้นๆ


2. โอกาสในการเติบโตจากตลาดต่างประเทศ

การลงทุนในกองทุนผสมที่มีการลงทุนในตลาดต่างประเทศเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าถึงโอกาสในการเติบโตจากประเทศอื่น ๆ ที่เศรษฐกิจอาจเติบโตเร็วกว่าประเทศที่ลงทุนอยู่เดิม ตัวอย่างเช่น ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) บางประเทศอาจมีการเติบโตสูงกว่าเมื่อเทียบกับตลาดที่พัฒนาแล้ว (Developed Market) ในบางช่วงเวลา


3. การป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินจากการลงทุนหลายประเทศ (Natural Hedging)

การลงทุนในกองทุนผสมที่ลงทุนในสินทรัพย์จากหลายประเทศยังช่วยลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในประเทศหนึ่ง ๆ การกระจายความเสี่ยงในสกุลเงินหลายประเทศนั้นช่วยให้การลงทุนมั่นคงมากขึ้น อย่างเช่น ถ้าเราลงทุนในตลาดหุ้นหลายประเทศ การที่ค่าเงินหนึ่งอ่อนค่าอาจถูกชดเชยด้วยค่าเงินอีกประเทศหนึ่งแข็งค่าด้วยได้เช่นกัน


4. สภาพคล่องที่หลากหลาย

ตลาดในแต่ละประเทศอาจมีความสามารถในการซื้อขายสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน เช่น ตลาดหุ้นในบางประเทศอาจมีสภาพคล่องต่ำกว่าหรือตลาดตราสารหนี้ในบางประเทศอาจไม่สามารถทำธุรกรรมได้ง่าย


โดยสรุปแล้วการลงทุนในกองทุนผสมก็เหมือนกับชีวิตคู่ของเราที่มีความคล้ายคลึงกันในแง่การบริหารจัดการ การสร้างความสมดุล รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนที่ทั้งสองต้องอาศัยความยืดหยุ่น ความอดทนและการปรับตัว เพื่อให้ได้ผลัพธ์ที่ดีและมีความสุขในระยะยาว ซึ่งก็เหมือนกับการลงทุนในกองทุนผสมอย่าง K WealthPlus Series ที่มีการบริหารยืดหยุ่นตามสภาวะตลาดและรากฐานที่มั่นคงจากสินทรัพย์ที่ลงทุน รวมถึงมีการวางแผนเพื่ออนาคตที่ดี จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่มองหาโอกาสในการเติบโตที่มั่นคงในระยะยาว



คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH กิตติภพ เรืองอ่อน
Back to top