ประเด็นร้อน: กนง.หั่นดอกเบี้ย หนุนหุ้นไทยพุ่ง หุ้นยุโรปร่วง หลังผิดหวังผลประกอบการ

กนง.ปรับดอกเบี้ย 0.25% อยู่ระดับที่ 2.25% สวนทางตลาดคาด หวังช่วยลดภาระหนี้ภาคครัวเรือน หนุนหุ้นไทยพุ่งแรงเกือบ 20 จุด ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ดังนั้น K WEALTH จึงมีมุมมองเป็นกลางต่อกองทุนหุ้นไทยประกอบกับราคาหุ้

• กนง.ปรับดอกเบี้ย 0.25% อยู่ระดับที่ 2.25% สวนทางตลาดคาด หวังช่วยลดภาระหนี้ภาคครัวเรือน หนุนหุ้นไทยพุ่งแรงเกือบ 20 จุด


• หุ้นเทคฯ ASML ร่วงแรงกว่า 16% ฉุดตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลง ส่วนกองทุนหลัก Allianz Europe Equity Growth, Class AT-EUR ของกองทุน K-EUROPE มีการถือลงทุนหุ้น ASML สัดส่วนกว่า 8% ในพอร์ตกองทุน (ณ สิงหาคม 67) ได้รับผลกระทบปรับตัวลงกว่า 3.0%


• K WEALTH มีมุมมองเป็นกลางต่อกองทุนหุ้นไทย โดยยังคงถือต่อได้ หรือขายบางส่วนหากมีกำไร จากราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยบวกไปบ้างแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจยังเปราะบาง ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นจุดอ่อนในการฟื้นตัว จึงมองว่าโอกาสที่หุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นในระยะสั้นถึงกลางยังมีจำกัด


• สำหรับมุมมองตลาดหุ้นยุโรป K WEALTH มีมุมมองเป็นกลางจากภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจยุโรปยังคงชะลอตัวลง แต่ตลาดหุ้นอาจมีแรงหนุนจาก ECB ลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ ประกอบกับ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับ Fair Value





กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25%

การประชุมกนง. วันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมาผลการประชุมมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที สวนทางตลาดที่คาดว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. ขณะที่กรรมการส่วนใหญ่มองว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า สามารถช่วยบรรเทาภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงได้ และจะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้


สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจยังคงประมาณการไว้ใกล้เคียงกับการประชุมในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

• เศรษฐกิจไทยคาดจะขยายตัวที่ 2.7% และ 2.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

• อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวที่ 0.5% และ 1.2% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

• อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าอยู่ที่ 0.5% และ 0.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การแข่งขันด้านราคาที่อยู่ในระดับสูงจากสินค้านำเข้า ทั้งนี้ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย (1-3%) ในช่วงปลายปีนี้และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย



สินเชื่อโดยรวมชะลอลง คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงเพิ่มขึ้น

ปริมาณด้านสินเชื่อโดยรวมชะลอลง โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ SMEs เผชิญภาวะสินเชื่อหดตัวสูงขึ้น กลุ่มธุรกิจที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมทั้งสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิต ด้านคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากลูกหนี้ที่เคยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินในช่วงที่ผ่านมา และธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง ทั้งนี้ กนง.จะยังคงติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อตลาดสินเชื่อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับนโยบายต่อเสถียรภาพระบบการเงิน การรักษา Policy space ของนโยบายการเงิน ยังเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ควรต่ำเกินไปจนเป็นการสะสมความเสี่ยงในระยะยาว



ตลาดหุ้นไทยพุ่งแรงเกือบ 20 จุด ตอบรับกนง.ลดดอกเบี้ย

ตลาดหุ้นไทยตอบรับปรับตัวขึ้นเกือบ 20 จุด ปิดที่ระดับ 1,485 จุด หลังมีการประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยกลุ่มที่มีแรงซื้อเข้ามามากที่สุด ได้แก่ กลุ่มไฟแนนซ์ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทที่มีหนี้สูง เช่น หุ้น DELTA , ADVANC , TRUE , LH ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาฯ ที่ราคาหุ้นปรับขึ้นยกแผงเพราะช่วงที่ผ่านมากลุ่มนี้ถูกกดดันจากหลายปัจจัย เช่น สต็อกบ้านที่ค้างสูง มาตรการ LTV หมดลง ปัญหาน้ำท่วมฯ ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันยังถูกกว่าในอดีต



มุมมองการลงทุนกองทุนหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับตัวขึ้นจาก sentiment ตลาดแต่อยู่ในกรอบจำกัด แม้มีแรงหนุนจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันภายในประเทศที่มีเม็ดเงินจากกองทุนวายุภักษ์ 1.5 แสนล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยในประเทศแต่ราคาหุ้นได้สะท้อนรับปัจจัยดังกล่าวไปบ้างแล้ว ภาพรวมสินเชื่อที่ชะลอลงสะท้อนเศรษฐกิจยังมีความน่ากังวล อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามการฟื้นตัวจากตัวเลขเศรษฐกิจ การปรับเพิ่มประมาณการ EPS ทิศทางค่าเงินบาท รวมถึงการประชุมนโยบายการเงินครั้งหน้า


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในการประชุมครั้งหน้าในเดือนธ.ค. แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายยังมีความไม่แน่นอนสูง ขึ้นอยู่ตัวเลขเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยมองว่ามีโอกาสที่กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งหน้า หากความกังวลของ กนง. เกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ยังไม่คลี่คลายลง


K WEALTH จึงมีมุมมองเป็นกลางต่อการลงทุนในกองทุนหุ้นไทย จากระดับราคาหุ้นได้สะท้อนความคาดหวังจากปัจจัยบวกไปแล้ว และมองว่าโอกาสที่หุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นในระยะสั้นถึงกลางยังมีจำกัด



คำแนะนำสำหรับกองทุนหุ้นไทย มีดังนี้

• นักลงทุนที่ถืออยู่ : แนะนำถือต่อ หรือหากมีกำไรมากกว่า 10% แนะนำขายทำกำไรบางส่วน

• นักลงทุนใหม่ : หากต้องการลงทุนหุ้นไทย แนะนำเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นกลุ่ม Value Play อย่างกองทุน K-VALUE ที่เน้นลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี และมีเงินปันผลระหว่างการลงทุน โดยควรแบ่งเงินทยอยลงทุนและยังคงต้องระมัดระวังการลงทุน รวมถึงควรพิจารณาทางเลือกลงทุนกองทุนอื่นเพิ่มเติม เช่น กองทุนที่ทาง K WEALTH แนะนำ อย่าง K-GHEALTH , K-GINFRA เป็นต้น



ตลาดหุ้นยุโรปร่วง หลังผิดหวังผลประกอบการ หุ้นกลุ่มเทคฯ พลังงานและสินค้าหรูหราฉุดตลาด

ดัชนี STOXX 600 ปิด -0.19% หลังมีรายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง 6.5% ซึ่งเป็นการร่วงลงวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2563 มีรายงานว่าบริษัทเอเอสเอ็มแอล (ASML) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปประกาศผลประกอบการออกมาน่าผิดหวัง โดยมียอดสั่งซื้อเพียงครึ่งเดียวจากที่นักวิเคราะห์คาดไว้ ถือเป็นการชะลอตัวที่น่าตกใจสำหรับหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลให้หุ้น ASML ร่วงลง 16% อีกทั้งแนวโน้มทางธุรกิจมีที่ความยากลำบากมากขึ้นในจีน เนื่องมาจากข้อจำกัดในการส่งออกของสหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือนที่แล้วรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการใหม่ในการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีสำคัญไปยังจีน ซึ่งรวมถึงเครื่องมือผลิตชิปขั้นสูง


นอกจากนี้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยังประกาศแผนที่จะเข้ามาควบคุมการส่งออกเครื่องจักรของ ASML ไปยังจีน


หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงเกือบ 3.3% เนื่องจากราคาน้ำมันร่วงลง 5% หลังสื่อรายงานว่า อิสราเอลจะไม่โจมตีแหล่งผลิตน้ำมันของอิหร่าน ซึ่งได้คลายความวิตกเกี่ยวกับภาวะชะงักงันด้านอุปทาน


หุ้นกลุ่มสินค้าหรูหรา และกลุ่มสินค้าส่วนบุคคลและครัวเรือน ปรับตัวลงมากกว่า 1.3% โดยเฉพาะหุ้น LVMH ร่วง 3.7% หลังรายงานยอดขายไตรมาส 3 อ่อนแอลง ขณะที่หุ้นเคอริง (Kering) เจ้าของแบรนด์กุชชี (Gucci), หุ้นแอร์เมส (Hermes) และหุ้นริชมอนด์ (Richemont) ปรับตัวลงระหว่าง 0.8%-1.3%


มุมมองการลงทุนกองทุนหุ้นยุโรป

ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจยุโรปเริ่มเห็นการชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้า สะท้อนผ่าน GDP ผลประกอบการที่ลดลง รวมถึงแนวโน้มการปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนลดลง ทำให้การลงทุนในยุโรปมีความน่าสนใจน้อยเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น


อย่างไรก็ตามตลาดอาจมีแรงหนุนจากคาดการณ์ ECB จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนต.ค.นี้ และ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับ Fair Value ทำให้ K WEALTH ยังคงมีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นยุโรป



คำแนะนำสำหรับกองทุนหุ้นยุโรป มีดังนี้

• นักลงทุนที่ถืออยู่ : แนะนำถือต่อ หรือหากมีกำไรมากกว่า 10% แนะนำขายทำกำไรบางส่วน

• นักลงทุนใหม่ : หากต้องการลงทุนหุ้นยุโรป แนะนำ รอประเมินสถานการณ์ก่อนเข้าลงทุนหลังการประชุม ECB และรอดูตัวเลขเศรษฐกิจหลังจากนี้ หรือ เลือกลงทุนในกองทุนอื่นเพิ่มเติม เช่น กองทุนที่ทาง K WEALTH แนะนำ อย่าง K-GHEALTH , K-GINFRA เป็นต้น

• การร่วงลงของราคาหุ้น ASML ทำให้กองทุนหลัก Allianz Europe Equity Growth, Class AT-EUR ของ K-EUROPE ซึ่งถือลงทุนกว่า 8% ในพอร์ตกองทุน (ณ สิงหาคม 67) ปรับตัวลงกว่า 3% ซึ่งจะสะท้อนผ่านราคา NAV (T+2) แนวโน้มในระยะข้างหน้าบริษัทคาดว่าในปี 2569 กำไรสุทธิจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัว


อย่างไรก็ตามแนวโน้มล่าสุดของบริษัทไม่ได้บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการเติบโตของ AI แต่อย่างใด และ การปรับตัวลงของ ASML เป็นโอกาสในการทยอยสะสมสำหรับนักลงทุนที่สนใจหุ้นเทคโนโลยี เพื่อรองรับผลตอบแทนในระยะยาว



สำหรับกองทุนแนะนำของ K WEALTH ประจำเดือน ต.ค. 67

• ผู้ที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้

o แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุน K-GHEALTH* ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Defensive เหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง (ระดับความเสี่ยง 6 จาก 8 ระดับ) ลงทุนในบริษัท Healthcare ครอบคลุมทั้งกลุ่ม Defensive เช่น Pharmaceutical, Healthcare Services และกลุ่ม Growth เช่น MedTech, Biotechnology

o แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุน K-GINFRA* ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง (ระดับความเสี่ยง 6 จาก 8 ระดับ) ลงทุนในบริษัทด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก เช่น ท่อก๊าซ โรงไฟฟ้า สนามบิน


• หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ หรือ รับความเสี่ยงได้บ้าง หรือต้องการพักเงินสั้นๆ เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนอีกครั้ง

o แนะนำ กองทุน K-SF-A** (ระดับความเสี่ยง 4 จาก 8 ระดับ) ซึ่งเหมาะกับการลงทุน 1-3 เดือน

o แนะนำ กองทุน K-SFPLUS (ระดับความเสี่ยง 4 จาก 8 ระดับ) ซึ่งเหมาะกับการลงทุน 3-6 เดือน

o กองทุน K-FIXED-A** (ระดับความเสี่ยง 4 จาก 8 ระดับ) ในกรณีที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากการลงทุนต่างประเทศ เหมาะกับการลงทุน 1-1.5 ปี

o กองทุน K-FIXEDPLUS** (ระดับความเสี่ยง 4 จาก 8 ระดับ) ในกรณีที่ต้องการเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนต่างประเทศหรือรับความเสี่ยงจากการลงทุนต่างประเทศได้ เหมาะกับการลงทุน 1-1.5 ปี

o ดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ยังมีแนวโน้มลดลงได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะข้างหน้า จะเป็นประโยชน์ต่อการถือลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ด้วยระดับผลตอบแทนปัจจุบันที่สูงและมีโอกาสได้ Capital gain


ขอขอบคุณข้อมูลจาก ธปท. , ศูนย์วิจัยกสิกร ,บลจ.กสิกร ,RYT9

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”

*กองทุน K-GHEALTH และ K-GINFRA มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน



คำเตือน


ผู้เขียน

กานต์พิชชา แดงพิบูลย์สกุล
Back to top